ทางเกาหลีใต้ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมองค์คณะมนตรีใหญ่แห่งการการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ณ กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ แต่ไม่มีความคืบหน้าหรือผลกระทบที่สำคัญเนื่องจากนานาประเทศต่างลังเลที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้
คิมซุงโฮ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ประจำสำนักกฎหมายและการค้าระหว่างประเทศ ตัวแทนจากฝั่งเกาหลีใต้ ชี้ว่าญี่ปุ่นสร้างความปั่นป่วนให้เศรษฐกิจโลก และการที่ญี่ปุ่นคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เป็นมาตรการที่มุ่งตอบโต้เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกชั้นนำด้านเซมิคอนดักเตอร์ และชี้อีกว่าประเทศบุคคลที่สามจะได้รับผลกระทบไปด้วย
เขาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการกีดกันและกลับมาสู่การแก้ปัญหาด้วยการเจรจาทั้งสองฝ่าย
จุนอิจิ อิฮาระ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรญี่ปุ่นประจำองค์การการค้าโลก ปฏิเสธว่าการคุ้มเข้มมาตรการส่งออกนี้ ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า อีกทั้งยังไม่เกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องที่เกาหลีเรียกร้องให้ญี่ปุ่นจ่ายค่าเยียวชาผู้ถูกบังคับใช้แรงงานช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคม แต่เกี่ยวกับการปรับมาตรการความมั่นคงของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่องค์การการค้าโลกจะเข้ามาจัดการเรื่องนี้
ทางญี่ปุ่นยังชี้ว่าเกาหลีใต้แต่งเติมเรื่อง โดยไม่ระบุถึงใจความหลักว่ามาตรการคุมเข้มการส่งออกนั้น เป็นความพยายามที่จะปรับกระบวนการการส่งออกให้เป็นปกติ จากเดิมที่มีการผ่อนปรนอยู่ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และกล่าวว่าข้อเรียกร้องของเกาหลีใต้ที่จะให้ยกเลิกการคุมเข้มการส่งออกนั้นยอมรับมิได้
อย่างไรก็ตาม คิมซุงโฮยืนยันกับนักข่าวว่านี่ไม่ใช่ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง แต่เป็นการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง เพื่อตอบโต้คำสั่งศาลเกาหลีใต้ที่ตัดสินให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าเยียวยาชาวเกาหลีผู้ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคม
มาร์ก ฟานฮูเคเลน เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำองค์การการค้าโลก กล่าวกับนิกเคอิเอเชียนรีวว่า สหภาพยุโรปจะไม่ยุงกับข้อพิพาทของเกาหลีกับญี่ปุ่น เพราะเป็นปัญหาระหว่างทั้งสองฝ่าย
เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนรีวิวรายงานว่าตัวแทนจากประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ระบุว่าหากตัดเรื่องที่ว่ามาตรการของญี่ปุ่นนั้นถูกหรือผิดออกไปแล้ว ก็ยากจะเข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้จึงถูกนำเข้าที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่ขององค์การการค้าโลก
นิกเคอิยังรายงานอีกว่า สุนันทา กังวาลกุลกิจ ประธานคณะมนตรีใหญ่จากประเทศไทย สรุปการเจรจาว่าหวังว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นมิตรได้
การประชุมจบลงโดย เกาหลีใต้ไม่สามารถทำให้เกิดการเจรจากับญี่ปุ่นได้
ในวันที่ 26 กรกฎาคม ยูมยองฮี รัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานเกาหลีใต้ ได้หันไปขอการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในกรณีนี้ ในช่วง 5 วันที่เธอเยือนกรุงวอชิงตัน
ยูมยองฮี ระบุว่าการกีดกันการค้าของญี่ปุ่นจะไม่ได้กระทบแต่เกาหลีใต้ แต่จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในสหรัฐฯ และมีผลต่อบริษัทระดับโลกด้วย เธอยังกล่าวอีกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ รับปากจะช่วยเหลือในการคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น
ที่มา: Japan Times / Nikkei Asian Review / Korea Times / Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: