ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นบังคับใช้มาตรการคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบสำคัญที่เกาหลีใต้ใช้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังถูกเกาหลีจี้ให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายแรงงานทาส ในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลี

มาตรการคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบไฮเทคของญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้แล้ววันที่ 4 กรกฎาคมนี้ หลังรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศควบคุมการส่งออกสารเคมีหลายชนิดที่เกาหลีใต้ใช้ในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีหลายชนิด เช่น ชิปและสมาร์ตโฟน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม

การควบคุมการส่งออกวัตถุดิบสำคัญให้เกาหลี เป็นผลมาจากข้อเรียกร้องของเกาหลีใต้ให้จ่ายค่าชดเชยการบังคับใช้แรงงาน ในช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นชี้ว่าข้อเรียกร้องนี้กระทบความเชื่อมั่นทางการค้าของทั้งสองชาติ

แม้มาตรการดังกล่าวจะไม่ใช่การห้ามส่งออก แต่ก็ส่งผลให้ขั้นตอนการส่งออกสินค้าดังกล่าวกินระยะเวลานานขึ้น โดยผู้ส่งออกสินค้าในรายการคุมเข้มจะต้องยื่นขออนุญาตทุกครั้งที่มีการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ส่งผลให้กระบวนการส่งออกล่าช้าออกไปคราวละ 90 วัน กระทบบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของเกาหลีอย่างซัมซุง แอลจี และเอสเค

ภายหลังญี่ปุ่นประกาศมาตรการคุ้มเข้มในวันจันทร์ เช้าวันต่อมา หุ้นบริษัทเทคโนโลยีเกาหลีอย่างซัมซุงก็ร่วงลง 0.74 เปอร์เซ็นต์ และหุ้นแอลจี อีเลคทรอนิคส์ ก็ตกลง 2.52 เปอร์เซ็นต์

samsung ซัมซุง.jpg

ในทีแรก สารเคมีสำคัญ 3 ชนิดที่มีการคุมเข้มคือ ฟลูออริเนเตดพอลีไอไมด์ (fluorinated polyimide) ซึ่งใช้ในการผลิตหน้าจอแสดงผล โฟโตเซนซิไทซิงเอเจนต์รีซิสต์ (photosensitising agent resist) ซึ่งใช้ในการผลิตชิป และไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (hydrogen fluoride) ซึ่งใช้ในการขึ้นรูปอุปกรณ์วัสดุสารกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดักเตอร์) ต่อมาในวันที่ 3 ญี่ปุ่นประกาศจะขยายรายการสินค้าควบคุมเพิ่ม โดยอาจรวมไปถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์ และวัตถุดิบที่นำไปปรับใช้ทางการทหารได้

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่��ุ่น แถลงว่าการควบคุมการส่งออกนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของความไว้วางใจ หลังจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนแล้ว ต้องกล่าวว่าความสัมพันธ์ของความไว้วางใจระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้นถูกคุกคามอย่างรุนแรง

พัคแทซุง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการค้าเกาหลีใต้ ตำหนิว่ามาตรการควบคุมการค้าของญี่ปุ่นนี้ ไม่เป็นธรรมและขัดต่อหลักการในข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

"เราจะตอบโต้มาตรการของญี่ปุ่นซึ่งไม่เป็นธรรมและละเมิดกฎระหว่างประเทศ" ปาร์กแทซุง กล่าว

ทว่าทาง ยาสุโทชิ นิชิมุระ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนกรานว่ามาตรการนี้ปฏิบัติตามระเบียบการส่งออกระหว่างประเทศ และกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก

กระทรวงเศรษฐกิจฯ ญี่ปุ่น ยังเล็งจะถอดเกาหลีใต้ออกจาก 'บัญชีขาว' ซึ่งเป็นรายการประเทศที่นับว่าปลอดจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษในกระบวนการส่งออก

ทางรัฐบาลเกาหลีเผยว่าจะยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกในการไกล่เกลี่ยเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ทางเกาหลีมองว่ากว่า WTO จะตัดสินนั้นใช้เวลานาน และเกาหลีเองจะออกมาตรการตอบโต้อื่นๆ เองก่อนด้วย

สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลี ชี้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 เกาหลีใต้พึ่งการนำเข้าสารฟลูออริเนเตดพอลีไอไมด์จากญี่ปุ่นถึง 93.7 เปอร์เซ็นต์ นำเข้าโฟโตเซนซิไทซิงเอเจนต์รีซิสต์จากญี่ปุ่น 91.9 และนำเข้าไฮโดรเจนฟลูออไรด์ 43.9 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วเพียง 5 เดือน เกาหลีนำเข้าสารทั้งสามชนิดที่ญี่ปุ่นประกาสคุมเข้มไปแล้วเป็นมูลค่า 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในวันที่ 3 กรกฎาคม โชจองซิก ประธานฝ่ายนโยบายของพรรคประชาธิปไตยเกาหลี กล่าวว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเงินลงทุนปีละ 1 ล้านล้านวอน (ราว 26,200 ล้านบาท) เพื่อศึกษาและพัฒนาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ และล่าสุดวันที่ 4 กรกฎาคม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ได้ประกาศว่าจะออกมาตรการโต้กลับแบบตาต่อตากับญี่ปุ่น

ทางด้านประชาชนเอง ได้มีการตั้งแคมเปญออนไลน์เพื่อบอยคอตต์สินค้าญี่ปุ่น ตั้งแต่รถยนต์ เบียร์ ตลอดจนเครื่องสำอางค์ โดยมีผู้ลงชื่อเข้าร่วมแล้วกว่า 17,000 คน ภายใน 4 วัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลตอบโต้ญี่ปุ่น


แรงงานทาสยุคสงคราม ชนวนพิพาทญี่ปุ่น-เกาหลี

สองชาติเอเชียนี้มีความบาดหมางกันมาหลายอย่างยาวนาน เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีใต้เป็นอาณานิคมในช่วงปี 1910-1945

กระทั่งในปี 1965 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีการเจรจาจากทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับความสัมพันธ์การทางทูตให้เป็นปกติ ญี่ปุ่นได้จ่ายเงินช่วยเหลือเศรษฐกิจเกาหลีใต้ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มอบเงินกู้ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกู้อีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อตั้งกองทุนเพื่อเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการเรียกร้องจากทางเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่องให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยกับชาวเกาหลีใต้ที่ได้รับผลกระทบเป็นรายบุคคลด้วย

เกาหลี ญี่ปุ่น ยึดครองjpg
  • ครอบครัวของเหยื่อญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือรูปผู้เสียชีวิต ในวันครบรอบ 66 ปี (ปี 2011) ที่เกาหลีเป็นเอกราชจากญี่ปุ่น

เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ศาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินว่าบริษัทนิปปอนสตีลแอนด์ซูมิโตโมเมทัลคอร์ปอเรชัน (Nippon Steel & Sumitomo Metal Corporation) ต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายใต้ชาวเกาหลีใต้สี่คน ซึ่งถูกใช้เป็นแรงงานไร้ค่าจ้างในช่วงที่เกิดสงคราม คดีนี้เป็นคดีแม่แบบในกรณีการบังคับใช้แรงงานช่วงสงคราม ซึ่งตามมาด้วยคำตัดสินบริษัทอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัทมิตซูบิชิ

ทางฝ่ายญี่ปุ่นนั้นตำหนิคำตัดสินดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยชี้ว่ามีการตกลงจ่ายค่าชดเชยเรียบร้อยแล้วในปี 1965 ทว่า มุนแจอิน ประธานาธิบดี เกาหลีใต้ ชี้ว่าบาดแผลของปัจเจกชนชาวเกาหลีใต้ที่ถูกละเมิดสิทธิในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างสองประเทศ

เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะเสนอให้ไกล่เกลี่ยผ่านอนุญาโตตุลาการให้นับความเสียหายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในปี 1965 ที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกันด้วย แต่ทางเกาหลีใต้ไม่ยินยอมและเสนอให้ทางญี่ปุ่นและบริษัทเอกชนต่างๆ จัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธว่าข้อเสนอนี้ยอมรับไม่ได้ และยืนกรานว่าค่าชดเชยในสัญญาเมื่อปี 1965 ควรจะเป็นจุดสิ้นสุดของปัญหาเหล่านี้อย่างถาวรแล้ว

ที่มา: The Japan Times / Yonhap News Agency / Reuters / CNA / SCMP