วันที่ 8 กรกฎาคม มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่ามาตรการของญี่ปุ่นขัดต่อหลักการค้าเสรี และแนะให้ญี่ปุ่นพิจารณาใหม่ อย่าใช้การค้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
"ผมแนะนำให้ญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการนี้ และขอเรียกร้องให้ทั้งสองชาติมาเจรจากันอย่างจริงใจ" พร้อมเสริมว่าวงจรอุบาทว์ของการออกมาตรการโต้กันกลับไปกลับมาไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศเลย การจำกัดการค้าซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนของทั้งสองประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองนั้น ไม่ได้เป็นปัญหากับเพียงเกาหลี แต่ส่งผลกับทั้งโลกด้วย
มุนแจอิน ยังย้ำอีกว่ารัฐบาลเกาหลี จะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการทางการทูตอย่างใจเย็น แต่หากญี่ปุ่นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบรรดาบริษัทเกาหลีใต้ รัฐบาลเกาหลีไม่มีทางเลือกนอกจากการตอบโต้ด้วย 'มาตรการที่จำเป็น'
นี่เป็นครั้งแรกที่มุนแจอิน แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในประเด็นการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบไฮเทคของญี่ปุ่นนับตั้งแต่ญี่ปุ่นประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม และมีผลในวันที่ 4 กรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการชี้ชัดว่าเกาหลีจะมีมาตรการโต้กลับอย่างไร แต่ประธานาธิบดีเกาหลี ก็ชี้ว่าจะใช้โอกาสที่ถูกกีดกันการนำเข้านี้ แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจเกาหลี โดยจะมุ่งพัฒนาภาคการผลิตด้วยมาตรการสนับสนุนหลายประการ และลดการพึ่งพิงวัตถุดิบจากต่างชาติ
"หัวใจหลักของแผนการพลิกฟื้นภาคการผลิตของเราคือการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของชิ้นส่วน วัตถุดิบ และอุปกรณ์ในประเทศ หากกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมเราแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าเจออุปสรรคใดเราก็จะผ่านไปได้" มุนแจอิน กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 3 กรกฎาคม โชจองซิก ประธานฝ่ายนโยบายของพรรคประชาธิปไตยเกาหลี กล่าวว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเงินลงทุนปีละ 1 ล้านล้านวอน (ราว 26,200 ล้านบาท) เพื่อศึกษาและพัฒนาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์เอง เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ และทางรัฐบาลจะยื่นเรื่องนี้ให้องค์การการค้าโลกตัดสิน
ในปัจจุบัน เกาหลีใต้พึ่งพาการนำเข้าสารวัตถุดิบในการผลิตเทคโนโลยีทั้ง 3 ชนิดที่ญี่ปุ่นสั่งคุมเข้มอย่างมาก เพียงช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 เกาหลีใต้ก็พึ่งพาการนำเข้าสารฟลูออริเนเตดพอลีไอไมด์จากญี่ปุ่นถึง 93.7 เปอร์เซ็นต์ นำเข้าโฟโตเซนซิไทซิงเอเจนต์รีซิสต์จากญี่ปุ่น 91.9 และนำเข้าไฮโดรเจนฟลูออไรด์ 43.9 ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และหน้าจอแสดงผล ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยี เช่น สมาร์ตโฟนและสมาร์ตทีวี
ในวันที่ 7 กรกฎาคม ฮงนัมกี รัฐมนตรีการคลัง และคิมซังโจ ประธานคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม ได้เข้าประชุมร่วมกับบริษัทเทคโลยีรายใหญ่เกาหลีใต้ เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยมีประธานเอสเคกรุ๊ป รองประธานบริหารของฮุนไดมอเตอร์กรุ๊ป และประธานของบริษัทแอลจีเข้าร่วมประชุม โดยคาดว่าประธานของซัมซุงก็น่าจะเข้าร่วมด้วย ขณะที่รองประธานของซัมซุงเดินทางไปญี่ปุ่น ซึ่งคาดการณ์กันว่าน่าจะไปพบกับผู้ส่งออกวัตถุดิบเพื่อหารือถึงผลกระทบจากการควบคุมการส่งออกของญี่ปุ่นเช่นกัน
มาตรการของญี่ปุ่นในการคุมเข้มการส่งออกวัตถุดิบในการผลิตเทคโนโลยีส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทเกาหลีใต้ เพราะแม้มาตรการนี้จะไม่ใช่การแบนไม่ทำการค้าด้วยเลย แต่ส่งผลให้ผู้ส่งออกวัตถุดิบเทคโนโลยีทั้ง 3 ชนิด ต้องยื่นขออนุญาตในทุกครั้ง ซึ่งอาจกินเวลาถึง 90 วัน ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่าบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของเกาหลีน่าจะมีวัตถุดิบเหล่านี้เหลืออยู่ไม่พอ 90 วัน และอาจกระทบต่อบริษัทอื่นๆ ทั่วโลกด้วย เนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ได้ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างสมาร์ตโฟนเท่านั้น แต่ยังใช้ผลิตชิป DRAM และหน้าจอแสดงผล OLED ซึ่งเกาหลีใต้เป็นรายใหญ่ในการส่งออกชิ้นส่วนเหล่านี้ให้บริษัททั่วโลก
ญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการนี้ภายหลังเกาหลีใต้เรียกร้องให้ทางบริษัทเอกชนญี่ปุ่นจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวเกาหลีที่ถูกบังคับให้เป็นแรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดเกาหลีเป็นอาณานิคมในช่วงปี 1910-1945 นั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนการแบ่งแยกเกาหลีออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้
ในวันที่ 8 กรกฎาคม ทงกิลชินโบ หนังสือพิมพ์ชวนเชื่อรายสัปดาห์ของเกาหลีเหนือเองก็ออกมาประณามการกีดกันการค้าของญี่ปุ่น ว่าญี่ปุ่นพยายามจะเลี่ยงการรับผิดชอบต่อการ��ระทำไร้ยางอายในอดีต
ที่มา: Yonhap News Agency / Asahi Shimbun / Korea Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: