ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจัดเวที เปิดข้อมูลผลกระทบเพิ่มเติมหลังจากการสร้างเขื่อนทำให้ชาวบ้านสูญเสียโอกาสในการดำเนินวิถีชีวิต

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร ได้จัดเวทีประชุมสามัญประจำปี 65 โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน และมีมาตรการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดก่อนที่จะเข้าร่วมเวทีประชุม บริเวณวัดบ้านบุ่งหวาย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งในเวทีการประชุมยังมีการสรุปบทเรียน 14 ปี กระบวนการเรียกร้องสิทธิ์ที่ยังแก้ไขไม่เสร็จ และยังเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมถึงการสูญเสียโอกาสในที่ดินทำกินของชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างหลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำชีตอนล่าง

นายนิมิต หาระพันธ์ อายุ 63 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เพื่อสรุปบทเรียนกระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร อยากให้พี่น้องได้เข้าใจถึงสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่มีเฉพาะหน่วยงานรัฐ แต่ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้หยิบยกเอาปัญหาขึ้นมาพูดคุย และยังช่วยผลักดันการแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วขึ้นตามข้อเสนอของพี่น้อง 

โดยประสบการณ์การเคลื่อนไหวที่ผ่านมานักการเมืองมีแต่ฉาบฉวยโอกาสในการนำเสนอนโยบายการจัดการน้ำขนาดใหญ่โดยไม่เข้าใจบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง เมื่อชาวบ้านประสบปัญหาจากนโยบายการจัดการน้ำกลับนิ่งเฉยและทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจะหวังพึ่งนักการเมืองแบบเก่าได้ ส่วนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีบทบาทหน้าที่ก็ใส่เกียร์ว่างนิ่งเฉย การประชุมวันนี้จึงอยากประเมินสถานการณ์ทั้งที่ผ่านมาและจะกำหนดท่าทีในการวางแผนขยับไปข้างหน้าเพื่ออยากเห็นการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม

ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เพื่อให้พี่น้องได้นำไปใช้ในการอธิบายเพิ่มเติมมีดังนี้คือ

1.ผลกระทบในด้านสิทธิ์การจัดการทรัพยากร จากการที่ชุมชนถูกละเมิดสิทธิ์การจัดการทรัพยากร โดยรัฐได้นำกรรมสิทธิ์ของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากร ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ต่อชุมชนและไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของกรรมสิทธิ์ ที่ผ่านมาก่อนมีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่างเรายังเห็นระบบกรรมสิทธิ์แบบมีส่วนรวม ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่ชาวบ้านมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันของคนในชุมชนทั้งดิน น้ำ ป่า โดยมองการใช้ประโยชน์แบบองค์รวม ซึ่งหลังจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร

รัฐได้มีการรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรและนำระบบกรรมสิทธิ์ของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐในการบริหารจัดการลุ่มน้ำแทนชุมชน และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการขีดเส้นแบ่งกรรมสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรว่าสิ่งนี้เป็นของรัฐ สิ่งนี้เป็นของชาวบ้านอย่างชัดเจน นับตั้งแต่จากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แล้วเสร็จ ทำให้ชุมชนไม่สามารถจัดการทรัพยากรได้เลย

2.การสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพที่ประเมินค่ามิได้หลังจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีตอนล่าง เช่น การสูญเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี การสูญเสียโอกาสอาชีพประมงพื้นบ้านเนื่องจาก การสูญเสียโอกาสอาชีพปลูกผักริมน้ำชี การสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพปศุสัตว์

3.พื้นที่การเกษตร เป็นพื้นที่ “นาเสี่ยง” เนื่องจากว่าหลังจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อน ยโสธร – พนมไพร แล้วเสร็จ ชาวบ้านไม่สามารจับชีพจรน้ำได้เหมือนอดีตที่ผ่านมา เพราะการจัดการน้ำขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐ

4.ส่งผลผลกระทบต่อสุขภาพและสวัสดิภาพในการดำรงวิถีชีวิตปกติสุขของชาวบ้าน ผลที่ตามมาคือสภาพจิตใจของชาวบ้านแย่ลงเนื่องจากชาวบ้านเกิดความวิตกกังวล ทั้งปัญหาที่น้ำท่วมนาข้าวเสียหาย ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ดังนั้นการเปิดข้อมูลเพิ่มเติมในวันนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง และการแก้ไขปัญหาควรจะดำเนินการให้ทันท่วงทีและเร่งด่วนตามข้อเรียกร้องของพี่น้อง เพราะเป็นนโยบายที่รัฐเป็นผู้กำหนด แต่ผลกระทบกลับถูกส่งต่อมายังคนในพื้นที่ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น