ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง อ่านคำประกาศปกป้องลำเซบาย จี้ “รัฐต้องประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางทรัพยากร คุณภาพชีวิต และอากาศ”

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ตำบลน้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ กว่า 150 คน ได้อ่านคำประกาศปกป้องลำเซบาย หัวข้อ “รัฐต้องประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางทรัพยากร คุณภาพชีวิต และอากาศ” บริเวณสะพานข้ามลำน้ำเซบายเก่าเส้นทางเชื่อมเขตรอยต่อ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ไป ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ ก่อนล่องเรือกว่า 10 ลำ ศึกษาระบบนิเวศลำน้ำเซบาย โดนระหว่างทำกิจกรรมได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกด้านการจราจร���ห้

​นางมะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 58 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่า งพวกเราได้มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์และแสดงจุดยืนในการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่ออยากบอกให้พี่น้องและทุกคนรับทราบว่าพวกเราจะปกป้องลำน้ำเซบาย


S__3702796.jpg

โดยคำประกาศปกป้องลำเซบายมีเนื้อหาและรายละเอียดดังต่อไปนี้

“รัฐต้องประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางทรัพยากร คุณภาพชีวิต และอากาศ”

ลำน้ำเซบายเปรียบเสมือนสายเลือดหลักของคนลุ่มน้ำที่ได้พึ่งพาอาศัยและหล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์จากน้ำ เช่น การประปา การเกษตร ปลูกข้าวนาปี นาปรัง ถั่วลิสง การหาปลา เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น จนก่อให้เกิดอาชีพหลัก อาชีพรอง นำมาสู่รายได้ทางเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในลำน้ำเซบายที่ชุมชนผูกพันธ์มาหลายชั่วอายุคน

​โดยสถานการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในลำน้ำเซบายที่พวกเราได้ติดตามตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาล คสช. ได้มีนโยบายที่อ้างโครงการประชารัฐ เปิดทางให้นายทุนได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ผ่านช่องทางกฏหมาย คำสั่ง คำประกาศ ได้มีการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมานั้นเรามองว่าชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง และยังขาดการมีส่วนร่วม 

นับตั้งแต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จึงนำมาซึ่งการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่ชาวบ้านตระหนักดีว่าถ้ามีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ จะก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปัญหาน้ำเน่าเสียที่จะเกิดขึ้นในลำน้ำเซบาย ปัญหาด้านฝุ่นละออง ปัญหาด้านคมนาคม เป็นต้น

ซึ่งอาจกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเผชิญกับมลพิษในอนาคต แต่กระนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยทบทวนข้อเรียกร้องข้อท้วงติงจากพวกเรา กลับเดินหน้านั่งพิจารณาอนุมัติให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ผ่านไป ท่ามกลางข้อกังขาของชาวบ้านในหลายประเด็น ตลอดจนยิ่งสร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก

​ด้วยเหตุนี้ทางพวกเราจึงไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานรัฐที่จะนำมาซึ่งการทำลายทรัพยากรในลำน้ำเซบาย แต่พวกเราจะยืนหยัดในการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป เพื่อปกป้องลำน้ำเซบาย เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน เพื่อปกป้องบ้านเกิด จึงเรียกร้อง “ให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองความปลอดภัยทางด้านทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า คุณภาพชีวิต และอากาศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และ ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ 

ตามมาตรา 57 รัฐต้อง อนุรักษ์ คุ้มครอง บํารุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลยั่งยืนโดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการ” ที่กำหนดไว้ เพื่อความมั่นคงของทรัพยากรและชุมชนมีสิทธิที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี”