ไม่พบผลการค้นหา
เพราะเหตุใด 'ญี่ปุ่น' หนึ่งในชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดสะอ้านอันดับต้นๆ ของโลกถึงมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากที่สุดรองจากจีน 'วอยซ์ออนไลน์' คุยกับคนไทยในญี่ปุ่น เพื่อสะท้อนแนวคิดของสังคมญี่ปุ่นที่มีต่อ 'สุขภาพ' และ 'สาธารณะ'

นับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 2563 ซึ่งญี่ปุ่นเจอผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด -19) รายแรกในประเทศ เป็นคนขับรถบัสให้กับนักท่องเที่ยวจีนในเมืองนาระ หลังจากนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่สะอาดสะอ้าน ถึงมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งบนเรือสำราญ Diamond Princess ซึ่งถูกกักที่ท่าเรือโยโกฮามะ และนอกพื้นที่เรือสำราญก็พบผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วทั่วทุกเกาะของประเทศญี่ปุ่น

'วอยซ์ออนไลน์' ได้พูดคุยกับแหล่งข่าว (ขอสงวนนาม) ซึ่งเป็นคนไทยที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่น กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คน 'ป้องกันตัวเอง' และ 'รับผิดชอบตัวเอง' เมื่อมีอาการป่วย มากกว่าจะเข้ารับการรักษากับแพทย์ เนื่องจากระบบการเข้ารับการรักษาของญี่ปุ่นนั้นมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่หาหมอ เมื่อมีอาการป่วย รวมไปถึงระบบการทำงานที่ไม่มีวันลาป่วยที่ชัดเจน จึงทำให้คนไม่อยากใช้วันลา


การหาหมอที่ซับซ้อน

ระบบการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่น มี 2 รูปแบบ คือ ในระดับคลินิกและในระดับโรงพยาบาล 

ในระดับคลินิก 

หากใครเคยไปญี่ปุ่นคงสังเกตเห็นสถานพยาบาล หรือคลินิก ตามตึกต่างๆ ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟในญี่ปุ่น แต่คลินิกเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก และรับคนได้น้อย อีกทั้งส่วนใหญ่คลินิกมักจะปิดในเวลา 18.00 น. หรือ 19.00 น. ส่งผลให้คนทำงานส่วนมากไม่สามารถไปหาหมอได้ทันก่อนเวลาคลินิกปิด

ระบบคลินิกในญี่ปุ่นจะไม่สามารถจ่ายยาได้ ผู้ป่วยต้องเอาใบสั่งยาจากหมอที่คลินิกไปซื้อยาที่ร้านขายยาอีกต่อหนึ่ง ในเมื่อไม่จบแบบ one stop service จึงทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะไม่ไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ 

นอกจากนี้ การนัดหมอที่คลินิก หลายแห่งต้องจองคิว โดยเฉพาะคลินิกเฉพาะทาง ซึ่งสร้างความยุ่งยากในการเข้ารับการตรวจโรคต่างๆ พอสมควร

ในระดับโรงพยาบาล

ระบบการรักษาโรงพยาบาลในญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างแตกต่างจากไทย โรงพยาบาลหลายแห่งผู้ป่วยไม่สามารถเดินเข้าไปหาหมอเพื่อรับการรักษาได้ทันที แต่จะต้องมีใบส่งตัวจากคลินิกถึงจะได้รับการรักษา หรือถ้าหากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ต้องเป็นเหตุฉุกเฉินเท่านั้น


ระบบการทำงานที่ไม่มี 'วันลาป่วย' ชัดเจน

การทำงานในญี่ปุ่น สังคมที่ขึ้นชื่อว่า 'ยกย่อง' คุณค่าของการทำงานหนัก ทำให้ระบบการทำงานในบริษัทส่วนใหญ่ของญี่ปุ่มักจะไม่มีการกำหนดวันลาป่วย หรือ ลากิจ มีแต่การกำหนดวันลาแบบ Paid leave ซึ่งแต่ละบริษัทจะเป็นผู้กำหนดแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การลาป่วยไปหาหมอ จึงเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เสียวันลาโดยใช่เหตุ

แหล่งข่าวของวอยซ์ออนไลน์ยังกล่าวว่า จากการทำงานในญี่ปุ่นมา 6 ปี ใน 3 บริษัทนั้น พบว่า การใช้วันลาในแต่ละครั้งจะสร้างผลกระทบต่อผู้ร่วมงานคนอื่นๆ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากระบบการทำงานที่เป็นทีมของญี่ปุ่น หากมีคนในทีมลาคนหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อการทำงานของแผนกอื่นๆ ไปด้วย ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยจะใช้วันลาหากไม่จำเป็น และมักคิดว่าการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องลางาน


'ขาดประสบการณ์' รับมือกับโรคระบาด

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ 'การขาดประสบการณ์' รับมือกับโรคระบาด ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่รับมือกับการจัดการภัยพิบัติหรือเรื่องต่างๆ ได้ดี แต่นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นมีประสบการณ์และเรียนรู้ที่จะป้องกันภัย 

แต่สำหรับในกรณีโรคระบาด แหล่งข่าวของวอยซ์มองว่า ญี่ปุ่นยังขาดประสบการณ์ในการรับมือ จึงทำให้การสั่งการต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งการตรวจหาเชื้อ การทำระบบติดตามผู้ติดเชื้อต่างๆ ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าผิดวิสัยของญี่ปุ่น 

แหล่งข่าวของวอยซ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มาตรการรับมือของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นล่าช้าด้วยระบบราชการของญี่ปุ่นที่มีหลายขั้นตอน จึงทำให้คำสั่งหรือมาตรการต่างๆ ออกมาช้าเกินไป ทั้งการกักตัวผุู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสฯ หรือการสั่งห้ามนักเดินทางจากจีนเข้าญี่ปุ่น

รายงานของ Global Health Index ระบุว่า ญี่ปุ่นได้รับการจัดอันดับด้านการรับมือกับโรคระบาดอยู่ใน ลำดับที่ 21 ของโลก ขณะที่ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 6


เรือสำราญ ญี่ปุ่น.jpg

ความแออัดของเมืองและชุมชน หนึ่งในปัจจัยเร่งการระบาด

ทั้งในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้นมักจะมาจากชุมชน หรือ สถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรแออัดมากที่สุดในโลก เมื่อเร็วๆ นี้ พนักงานออฟฟิศของบริษัท NTT Dokomo ของญี่ปุ่น ถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นโควิด - 19 ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้มีหน้าที่ในการออกไปพบกับลูกค้า หรือออกไปสถานที่ใดๆ แต่กลับพบว่าติดเชื้อไวรัสฯ ทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า พนักงานดังกล่าวอาจติดเชื้อไวรัสฯ จากสถานที่ที่เขาไปประจำ เช่น สถานีรถไฟ ทั้งช่วงเวลาแออัดในช่วงเช้าและช่วงเย็นหลังเลิกงานก็เป็นได้

ขณะที่เกาหลีใต้ในวันที่ 21 ก.พ.2563 พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองแทกู ที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นมากจากการเข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์แห่งหนึ่ง ทำให้ผู้ข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในวันนั้นได้รับเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเกาหลีใต้ โดยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 637 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารของเรือสำราญ Diamond Princess กว่า 500 คน และมีผู้ติดเชื้อนอกเรือสำราญแล้วมากกว่า 90 คน

ขณะที่ผู้เสียชีวิตมี 3 ราย โดย 1 รายเสียชีวิตในเมืองคานางาวะ และอีก 2 รายเป็นผู้โดยสารของเรือ Diamond Princess

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตจนได้รับการชื่นชมในสายตาคนไทย แต่ในบางครั้งระบบที่เคร่งครัดเหล่านี้ก็อาจะเป็นอุปสรรคต่อการรับมือกับโรคระบาด แม้ว่าตอนนี้ญี่ปุ่นจะมีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการกักตัวผู้ที่เดินทางกลับจากจีน หรือการห้ามคนที่เดินทางจากมณฑลหูเป่ยเข้าญี่ปุ่นนั้นก็ยังไม่สามารถชะลอหรือยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในเมืองต่างๆ ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง