ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญประสานเสียง WHO ยก 'สิงคโปร์' เป็นประเทศที่รับมือ 'โควิด-19' แพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ยก 4 ปัจจัยที่เป็นจุดแข็ง พร้อมระบุ "ถ้าสิงคโปร์ทำไม่ได้ ก็ไม่น่าจะมีประเทศไหนในโลกที่ทำได้"

ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ทวีตข้อความผ่านบัญชีส่วนตัว @DrTedros เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2563 ชื่นชมรัฐบาลสิงคโปร์ว่าเป็นประเทศที่สามารถรับมือและจัดการกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 'โควิด-19' ได้ดี มีความพยายามเอาใส่ใจเพื่อควบคุมการระบาดของโรค

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานความเห็นของ 'ไมเคิล ออสทีโฮล์ม' ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยมินนิโซตาแห่งสหรัฐอเมริกา เห็นด้วยกับคำกล่าวของ ดร.เทดรอส โดยระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ประเทศอื่นๆ อาจทำตามได้ยาก เพราะสิงคโปร์มีปัจจัยที่พร้อมกว่า ทั้งยังย้ำว่า ถ้าสิงคโปร์ทำไม่ได้ ก็ไม่น่าจะมีประเทศไหนในโลกที่ทำได้อีก

ปัจจัย 4 ประการที่ออสทีโฮล์มมองว่าเป็นจุดแข็งของสิงคโปร์ คือ ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล, เทคโนโลยีที่ติดตั้งร่วมกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมีความทันสมัยประเทศมีขนาดเล็ก ทำให้ติดตามผู้ต้องสงสัยติดเชื้อได้ง่ายกว่าประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่และประชากรจำนวนมหาศาล ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ ระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเสมอมา ประชากรสิงคโปร์จึงค่อนข้างมีวินัยและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล โดยปัจจุบัน รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศว่าผู้ที่ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปยังพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือผู้ที่หลีกเลี่ยงการกักตัว เข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐ มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือปรับเงิน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 41,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ 


ชำแหละ 'จุดแข็ง' ที่หลายประเทศทำตามได้ยาก

รอยเตอร์สรายงานว่า พรรครัฐบาลสิงคโปร์อยู่ในอำนาจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 1965 (พ.ศ.2508) จึงมีความเป็นเอกภาพสูง การบริหารจัดการด้านต่างๆ ทำได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนระบบเทคโนโลยีในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิดหรือฐานข้อมูลออนไลน์จากสายการบินหรือบริษัทท่องเที่ยวเอกชน ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

คิมจินฮี ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่ย้ายมาพำนักที่สิงคโปร์ช่วงที่มีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่ๆ บอกเล่าประสบการณ์กับรอยเตอร์สว่า วันแรกๆ ที่เธอย้ายมาถึง มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาให้คำแนะนำด้านการป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค โดยมีการมอบหน้ากากอนามัยให้กับครอบครัวของเธอ และย้ำว่าถ้ามีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ทันที ซึ่งเธอมารู้ทีหลังว่ารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการแพร่ระบาดมาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง

สนามบินชางงี - สิงคโปร์ - AFP
  • รัฐบาลสิงคโปร์ห้ามชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่นและมณฑลหูเป่ยเดินทางเข้าประเทศหลังจีนสั่งปิดเมือง

ส่วนประชากรในสิงคโปร์มีจำนวนประมาณ 5.7 ล้านคน และพื้นที่ทั่วประเทศราว 716 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบขนาดและจำนวนประชากร สิงคโปร์ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าฮ่องกง เขตบริหารพิเศษของจีน การจัดการและติดตามให้คำแนะนำประชากรในแต่ละพื้นที่จึงมีความครอบคลุมกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า

ปัจจัยสุดท้าย คือ สิงคโปร์เป็นประเทศร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย จึงสามารถประกาศห้ามชาวจีนทั้งจากเมืองอู่ฮั่นและเมืองอื่นๆ ในมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นต้นตอการแพร่ระบาด ไม่ให้เข้ามาในสิงคโปร์ได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่จีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น แต่ประเทศอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากยังไม่ประกาศห้ามชาวจีน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังประกาศจัดสรรงบประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.35 แสนล้านบาท) เพื่อรับมือกับผลกระทบจากไวรัสในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการขาดดุลงบประมาณ แต่รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ


'จุดอ่อน' ก็มีบ้าง แต่ยังดีที่ 'โปร่งใส' มากพอ

รอยเตอร์สรายงานว่าสิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อในประเทศแล้ว 84 ราย และสั่งกักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อแล้วกว่า 2,593 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมได้ในวันที่ 20 ก.พ.2563 ทั้งยังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่โทรสอบถามประชาชนเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสอีกวันละ 1,000 คน โดยทยอยดำเนินการไปตามชุมชนต่างๆ จนกว่าจะครบถ้วน ทั้งยังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลผ่านแอปพลิเคชัน 'วอตซ์แอป' ที่ขณะนี้มีผู้ติดตามรับข่าวสารแล้วกว่า 400,000 ราย

ขณะที่สื่อด้านธุรกิจ Business Insider รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับเชื้อโรคและสถานการณ์การแพร่ระบาดให้สาธารณชนทราบอย่างละเอียดผ่านทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะช่องทางสื่อออนไลน์ ช่วยให้เกิดความโปร่งใสด้านข้อมูล และหลายประเทศควรเรียนรู้ตามแบบสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม เดล ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อขององค์กร Global Outbreak Alert ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า มาตรการเข้มข้นของสิงคโปร์อาจดำเนินต่อไปได้อีกไม่นาน เพราะคนจำนวนมากมีกิจธุระที่ต้องดำเนินการ จึงไม่สามารถสั่งระงับการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงได้ตลอดไป 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์เองก็เคยออกมายอมรับว่าบริหารจัดการหละหลวมครั้งหนึ่ง หลังจากประกาศยกระดับความเสี่ยงภัยโควิด-19 เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้คนในสิงคโปร์ตื่นตระหนก กักตุนเสบียงอาหารและหน้ากากอนามัยจนเกิดภาวะขาดตลาดชั่วคราว แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็คลี่คลายได้ในเวลาต่อมา ทำให้ชาวต่างชาติ เช่น คิมจินฮี ประเมินว่า สถานการณ์ในสิงคโปร์ยังปลอดภัยกว่าประเทศที่เป็นภูมิลำเนาของเธอเอง

ที่มา: BUSINESS INSIDER/ REUTERS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: