วันที่ 5 ส.ค. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ที่อินโดนีเซีย ถึงประเด็นรีบปิดประชุมรัฐสภา (4 ส.ค.) พร้อมสั่งเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ในการตัดอำนาจ สว. ที่พรรคก้าวไกล เสนอ ว่า จากที่มีบุคคลบางฝ่ายกล่าวหาและให้สัมภาษณ์ว่าประธานรัฐสภา รีบปิดประชุมเพื่อไม่ให้มีการอภิปราย การเสนอแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะการเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ มีวาระอยู่ 2 เรื่อง คือการเลือกนายกรัฐมนตรีตามข้อบังคับที่ 41 ในเสนอญัตติซ้ำ ที่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีการพิจารฯาในประเด็นดังกล่าวในวันที่16 ส.ค.นี้
ส่วนการเสนอขอให้แก้ไขพระราชบัญญัติ ตนตั้งใจให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ และก็พยายามถามหลายครั้ง ว่าถ้าหากเลื่อนวาระ 2 มาพิจารณาก่อนวาระที่ 1 รัฐสภาจะมีความพร้อมที่จะพิจารณาหรือไม่ แต่ปรากฎว่าระหว่างเลื่อนการพิจารณามาตรา 272 ขึ้นมา รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วน ขอให้ทบทวนมติ ที่รัฐสภาได้มีการพิจารณาไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ในการเสนอชื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการพิจารณาซึ่งเป็นไปตามมาตรา 151 แล้ว และมีมติไม่ให้มีการเสนอญัตติซ้ำ รวมไปถึงในมาตรา 151 วรรคแรก ก็ระบุไว้ว่าถ้าการลงมติถือว่าเด็ดขาด
ฉะนั้นจะทบทวนมติที่เด็ดขาดไปแล้ว ตนและสมาชิกอีกหลายคนก็เข้าใจว่าจะกระทำไม่ได้ เพราะอยู่ในสมัยประชุมสภาเดียวกัน และเหตุการณ์ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง การจะขอให้ทบทวนเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ซึ่งตนมองว่า ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงในประเด็นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาหากเรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล สภาฯจะยังไม่พิจารณาในเรื่องนั้นเพราะเป็นการใช้อำนาจของศาล และมาตรา 211 เขียนไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระทุกองค์กร เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดหน้าพิจารณาในวันที่ 4 สิงหาคม ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันพิจารณาไว้แล้ว จะเป็นการกระทำที่มีชอบ เพราะอาจย้อนแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาในเรื่องเดียวกัน และหากวานนี้มีการลงมติในประเด็นดังกล่าวสวนทางกับศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ลองคิดดูว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับใคร
ประธานรัฐสภา ระบุอีกว่า หากมีการรอถึงวันที่ 16 สิงหาคม และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจบแล้ว เราสามารถนำเรื่องที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาอีกครั้งได้
"เราไม่สามารถรู้ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร เหตุผลอะไรที่เราต้องทำ ผมไม่สามารถบอกได้ แต่ในฐานะประธานสภาฯ ซึ่ง เป็นผู้นำขององค์กรคือรัฐสภา เราไม่สามารถนำองค์กรของเราให้มีปัญหา กับองค์กรซึ่งจะตัดสินเรา เราพร้อมที่จะทำตามสมาชิก ถ้าหากข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอที่ไม่ไปย้อนแย้ง เพราะมันจะทำให้ความเชื่อถือลดลง"
วันนอร์ กล่าวว่า ตนขออภัย ไม่ได้รีบปิดหนีเพื่อไม่ให้อภิปรายการอก้ไขมาตรา 272 ซึ่งมีการรอเวลาเกือบชั่วโมง เพื่อรอให้สมาชิกครบและเริ่มการประชุม และเลื่อนวาระการพิจารณาแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งสมาชิกหลายคนต้องการอภิปราย พร้อมยืนยันว่าตนอยากให้อภิปรายอย่างเต็มที่ แต่สมาชิกไม่ยอมที่จะเลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณา และไม่ได้เอาเรื่องเร่งด่วนที่อยู่ในวาระซึ่งก็มีสิทธิ์เสนอได้ แต่การที่จะมาทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมของรัฐสภา ที่มีความเด็ดขาดไปแล้วตั้งแต่การพิจารณาครั้งนั้น
"ผมไม่ได้ปฏิบัติเพื่อฝ่ายใด หรือกีดกันเพื่อฝ่ายใด ไม่เช่นนั้นจะรอถึงชั่วโมงหรือ เพราะถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่ครบแค่ครึ่งชั่วโมงก็สามารถเลิกประชุมได้"
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเวลาในการประชุมรัฐสภายังเหลือ แต่กลับเร่งเพื่อปิดประชุมสภา กลับไม่มีการลงมติเพื่อเลื่อนการพิจารณาวาระ 2 ประธานสภสฯ กล่าวว่า เนื่องจากสมาชิกยังมีการถกเถียง และยังคงเดินหน้าเรื่องที่ยังอยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
ส่วนจากกรณีดังกล่าว ต้องมีการทำความเข้าใจกับสส.พรรคก้าวไกลหรือไม่ วันนอร์ ระบุว่า เรื่องที่ค้างอยู่เมื่อเปิดสภาเมื่อไหร่ญัตติของ รังสิมันต์ ก็สามารถนำมาพิจารณาได้ รวมถึงญัตติของวุฒิสภา
ตนยืนยันว่าอยู่ในสภามา 40 ปีไม่เคยมีการทบทวน มติที่รัฐสภาเคยลงมติไปแล้ว โดยไม่มีเหตุผล เพราะยิ่งทวนยิ่งไม่สง่างาม และเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณา หากปล่อยไปมันก็จะเกิดความเสียหาย พร้อมย้ำว่า การปิดประชุมสภาเมื่อวานนี้ถือเป็นทางออกที่ดีของที่ดีสุดของบ้านเมือง ยืนยันตนไม่ได้หนี
ทั้งนี้หากศาลมีการพิจารณาในวันที่ 16 สิงหาคมแล้วในวันที่ 17 สิงหาคม จะสามารถเปิดการประชุมได้เลยหรือไม่ วันนอร์ ระบุว่า วันที่ 17 อาจจะยังไม่มีความชัดเจน แต่จะทำให้เร็วที่สุด ภายใน 3 วันตามที่มีการกำหนดไว้
ส่วนที่บอกว่าการทำหน้าที่ของประธานสภาได้ไม่สง่างาม ตนคิดว่าถ้ามีมติออกมาสภาจะไม่สง่างาม เพราะต้องทบทวนตัวเองหลายรอบ ครั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ให้ทบทวน ตนต้องรักษาภาพลักษณ์ของสภาฯ ยืนยันว่า ไม่มีหนี ไม่มีเหตุผลใดๆ อย่ามองว่า ประธานไม่ต้องการให้พิจารณามาตรา 272 มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อปฏิบัติทั้งหลายยืนยันได้ชัดเจนว่าประธานต้องการให้อภิปราย แต่สมาชิกไม่อยากอภิปราย