ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' ยื่นปิดสวิตช์ ส.ว. ตัดอำนาจโหวตนายกฯ หวังสร้างทางออกประเทศ หลังเห็น ส.ว.งดออกเสียง-โดดประชุมเพียบ สะท้อนไม่อยากใช้อำนาจตัวเอง เมินข่าวลือชู 'ประวิตร' ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ชี้อาจมีรัฐบาลเร็วขึ้น แต่ไม่เห็นอนาคต

วันที่ 14 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล ที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชนหรือ ปิดสวิตช์ ส.ว.

ด้าน วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่สภาได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของรายชื่อ และเอกสารนี้ เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป ส่วนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไป ได้ออกหนังสือเชิญสมาชิกสภารัฐสภามาประชุมในวันที่ 19 ก.ค. แล้ว

ยื่นญัตติแก้ 272 jpg

ชัยธวัช กล่าวถึงการยื่นแก้กฎหมายในวันนี้ว่า เนื่องจากการประชุมรัฐสภาเมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏชัดว่ามี ส.ว.จำนวนมากได้งดออกเสียง 159 คน และไม่มาประชุมอีก 43 คน ซึ่งหลายคนได้แสดงออกชัดเจนว่าตนเองไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ ใช้อำนาจทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นเรื่องของ ส.ส. ซึ่งจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกให้กับ ส.ว. ซึ่งเชื่อว่าทางนี้จะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ และทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ เพื่อที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นคนละส่วนกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองส่วนสามารถดำเนินการคู่ขนานไปได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการไปอีกกี่ครั้ง ดังนั้นก็พยายามหาทุกช่องทางที่จะทำให้สามารถมีข้อยุติ เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และพรรคก้าวไกลรวมถึงอีก 7 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะทำหน้าที่พยายามที่จะขอเสียง จาก ส.ว. เพิ่มมากขึ้นด้วย

ส่วนการยื่นร่างแก้ไขมาตรา 272 ในวันนี้ ได้แจ้งไปยังพรรคเพื่อไทยให้ทราบแล้ว และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด เพราะเราได้เตรียมร่างนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว เพื่อนสมาชิกได้เซ็นต์เสนอร่างทิ้งไว้แล้ว และมีการตัดสินใจเมื่อคืนนี้ ที่จะยื่นต่อสภาในทันทีเพื่อที่จะใช้เวลาให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเข้าใจดีว่าเมื่อเร่งรีบและต้องการให้ระยะเวลาสั้นที่สุด จึงไม่สามารถที่จะมีเวลารอให้สมาชิกจากพรรคอื่นมาร่วมเซ็นต์ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ส่วนการยื่นแก้กฎหมายมาตรา 272 ในครั้งนี้ ครั้งนี้จะส่งผลให้ ต่อการตัดสินใจโหวตเลือกนายพิธาของส.ว.หรือไม่ ชัยธวัช ระบุว่า แล้วแต่มุมมอง แต่เชื่อว่าไม่ได้กระทบอะไร เพราะเนื่องจาก ส.ว.ก็ไม่ประสงค์ที่จะออกเสียงอยู่แล้ว จึงมองหาทางออกให้กับทุกฝ่าย

ส่วน ส.ส. นอก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะเห็นด้วยกับการยื่นครั้งนี้หรือไม่นั้น คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะร่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอไปหลายครั้ง ในสภาสมัยที่แล้ว แต่ครั้งนั้นพรรคที่เป็นฝั่งรัฐบาลเช่นพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกเสียงให้โดยตลอดเห็นด้วยกับร่างดังกล่าว ในครั้งนี้ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 

อีกทั้ง ส.ว.จำนวนมากหลายคน ก็เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว ส.ว.หลายคนมีความประสงค์ที่ไม่เห็นด้วยกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นี่คือทางออกที่ดีที่สุด

ส่วนถ้า ส.ว.จะเอาเรื่องการแก้ไข 112 มาเป็นเงื่อนไขในการไม่ร่วมแก้ไขมาตรา 272 นั้น ชัยธวัช กล่าวว่า ไปไกลเกินกว่าที่จะโยง เพราะเรื่องนี้เป็นการหาทางออกให้ทุกฝ่ายสบายใจ ในเมื่อมีมโนธรรมสำนึกในใจว่าไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป 

"ดังนั้นเพื่อไม่ให้ท่านกระทำการอะไรที่ไม่ขัดกับมโนธรรมสำนึกของท่าน ก็ยกเลิกมาตรานี้เสีย และคืนอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นของประชาชน เมื่อตัดสินประชาชนตัดสินใจไปแล้วจะถูกจะผิดก็ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด"

ส่วนข้อกังวลที่ว่าระยะเวลาในการแก้กฎหมายอาจจะยาวนาน และไม่ทันกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช กล่าวว่าการแก้กฎหมายไม่ยาวนานขนาดนั้น เพราะเนื้อหาสาระไม่ได้มีอะไรมากนอกจากการยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วได้ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาอีกกี่ครั้ง

สำหรับ ส.ว.ที่งดออกเสียงอาจเป็นเพราะอคติ ต่อพรรคหรือต่อ พิธา ก็ได้ ไม่ใช่อยากปิดสวิตช์ตนเอง ชัยธวัช กล่าวว่า ส.ว.ที่งดออกเสียง ไม่ได้หมายความว่าต้องการจะปิดสวิตช์ตัวเองทั้งหมด แต่มั่นใจว่า น่าจะมี 1 ใน 3 ที่มีความประสงค์ที่จะไม่ใช้เสียง ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจริงๆ 

พร้อมกันนี้ ชัยธวัช กล่าวถึงการที่ ส.ว. ยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่ว่าไม่ให้มีการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งการเสนอ พิธาอีกครั้งในการโหวตครั้งต่อไป จะขัดต่อข้อบังคับนั้น มองว่า เป็นการตีความผิดๆ ไม่สามารถเอาวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งกำหนดไว้ แยกเป็นการเฉพาะอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไปตีความรวมเป็นญัตติทั่วๆ ไป เหมือนญัตติอื่นในสภาได้ ดังนั้นต้องแยกออกจากกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้กันแล้วและเห็นตรงกันว่าไม่สามารถตีความข้อบังคับแบบนั้นได้  

สำหรับที่มีแกนนำหลายจังหวัดขอให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อรักษาไว้ในนโยบายอื่นๆ นั้น ชัยธวัช กล่าวว่า ถ้าเป็นความเห็นจากแกนนำในพรรคในแต่ละจังหวัดหรือ ส.ส.พรรค คงมีกระบวนการหารือกัน แต่เบื้องต้นพยายามทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องนี้เป็นข้ออ้างบังหน้าเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ได้เห็นข้อความ ที่ส่งกันใน LINE ของ ส.ว. ที่อ้างว่า "ให้ระวังไว้ว่านายพิธาจะประกาศในรัฐสภาว่าจะไม่แก้ 112 แล้วแต่ขออย่าให้เชื่อ อย่าให้ถูกหลอกเพราะพวกเขามีวัตถุประสงค์ ในทางไม่ดี...." 

อีกทั้งในการประชุมรัฐสภาก็มี ส.ว.บางคน ที่เป็น 'ผู้นำทางจิตวิญญาณ' ที่ระบุว่า "ต่อให้นายพิธาประกาศว่าไม่แก้ 112 ก็ไม่เชื่อ เพราะมีความเลวร้ายอื่นอีก..." ไม่มีเรื่องนี้ ก็มีเรื่องอื่นอีกมาก

สำหรับส.ว.จำนวนหนึ่ง ต้องทำความเข้าใจว่าเหตุผลที่แท้จริงคือมีกลุ่มขั้วอำนาจเดิม ยังพยายามที่จะพลิกขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลโดยร่วมมือกับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มทุนที่ไม่ต้องการเห็นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเพราะไม่ต้องการเสียผลประโยชน์จากนโยบายของเรา ดังนั้นจึงพยายามทุกวิธีทาง ทั้งผ่านรัฐสภาหรือผ่านกระบวนการอื่นๆ รวมถึงข้อสงสัยเรื่องการทำงานขององค์กรอิสระบางองค์กรด้วยเพื่อเป้าหมายเดียว 

ชัยธวัช ปฏิเสธกระแสข่าวว่า อาจมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยระบุว่า เรื่องของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คงไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล ตนยังเชื่อว่ายังมีอีกหลายพรรคการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หวังว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นจะยังรักษาคำพูด หลักการและจุดยืน ไม่โหวตให้ พล.อ.ประวิตร แม้ตนเองจะยังไม่ได้ร่วมรัฐบาลปัจจุบัน เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารไม่ได้ 

“สำหรับ ส.ว.คงไม่มีข้ออ้างใด ในการฝืนมติมหาชน แต่ในสัปดาห์ต่อมา เปลี่ยนมาเลือกแคนดิเดตนายกจากฝ่ายเสียงข้างน้อย อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ผมคิดว่าควรโหวตคืนอำนาจตามการเสนอยกเลิกมาตรา 272 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เราอาจมีรัฐบาลหรือมีนายกฯ เร็วขึ้นจากเสียงข้างน้อย แต่เป็นความเร็วขึ้นที่ไม่เห็นอนาคตเลย ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีอายุเท่าไหร่” ชัยธวัชกล่าว

ส่วนกังวลว่าจะมีเกมการเมืองที่จะทำให้พรรคก้าวไกลพลิกขั้วไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ชัยธวัช หยิบยกคำพูดของ พิธา มาตอบว่า “อย่าเปิดประเด็นใหม่”  

ยื่นญัตติแก้ 272 jpg

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ ถึงระยะเวลาในการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าประเด็นสำคัญคือ พรรคก้าวไกลยังไม่ยอมแพ้ เราต้องการเพียงคืนความปกติให้ระบอบประชาธิปไตยของไทย เพื่อให้อำนาจอธิปไตยยังเป็นของประชาชน และหวังว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกในความพยายามครั้งนี้ และพรรคก้าวไกลได้ตกลงกับอีก 7 พรรคแล้วว่าจะพยายามเสนอชื่อ พิธาต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ รวมถึงการยกเลิกมาตรา 272 ในครั้งนี้

พริษฐ์ ไอติม IMG_8246.jpegวันนอร์ วันมูหะมัดนอร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก้าวไกล IMG_8239.jpegวันนอร์ วันมูหะมัดนอร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก้าวไกล _8238.jpegวันนอร์ วันมูหะมัดนอร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก้าวไกล ชัยธวัช สมาชิกวุฒิสภา IMG_8237.jpegวันนอร์ วันมูหะมัดนอร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก้าวไกล รังสิมันต์ โรม IMG_8234.jpegชัยธวัช ไอติม พริษฐ์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ IMG_8233.jpeg