ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเปิดเผยผลการศึกษาว่า การใช้โซเชียลมีผลกระทบกับความพึงพอใจในชีวิตของวัยรุ่นในระดับที่ ‘น้อยมาก’ ในขณะที่ครอบครัว เพื่อนและชีวิตในโรงเรียนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นมากกว่าโซเชียลมีเดียมาก
ผลวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารทางวิชาการ PNAS ระบุว่า การศึกษาครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นอายุ 10 -15 ปีมากถึง 12,000 คนในอังกฤษตั้งแต่ช่วงปี 2009 - 2017 ซึ่งการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากกว่าและเจาะลึกกว่าการศึกษาครั้งก่อนๆ ที่เคยสรุปว่าระยะเวลาที่อยู่หน้าจอ เทคโนโลยี และสุขภาพจิตของเด็กมีความเชื่อมโยงกัน โดยพวกเขาพยายามจะหาคำตอบว่า วัยรุ่นที่ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าค่าเฉลี่ยมีความพึงพอใจในชีวิตต่ำกว่าคนอื่นหรือไม่
ศาสตรจารย์แอนดรูว์ พรึชิบิลสกี และเอมี ออร์เบน จากสถาบันอินเทอร์เน็ตอ็อกซ์ฟอร์ดของมหาวิทนาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า การศึกษามักอยู่กับหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งไม่ได้ทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมด พวกเขาจึงสรุปว่า ความเชื่อมโยงระหว่างความพึงพอใจในชีวิตและโซเชียลมีเดียมีน้อยมาก และโซเชียลมีเดียไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสุขทางเดียวเท่านั้น
วิจัยนี้ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า พวกเขาใช้เวลากับโซเชียลมีเดียนานเท่าไหร่ในวันที่ไปเรียน และให้ประเมินความพึงพอใจด้านต่างๆ ในชีวิตของตัวเอง และพบว่า เวลาที่ใช้ไปกับโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบกับเด็กผู้หญิงมากกว่านิดหน่อย แต่ก็ยังส่งผลกระทบเล็กน้อยมาก
ศาสตราจารย์พรึชิบิลสกีระบุว่า ร้อยละ 99.75 ของความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละคนไม่เกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดียเลย พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาในการใช้โซเชียลมีเดีย แม้การจัดสรรเวลาจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความคิดที่ว่าการใช้โซเชียลมีเดียทำให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลงเป็นความคิดที่ผิด ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าต้องกังวลอะไร
นักวิจัยยังระบุว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องไปดูวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดียมากกว่าคนอื่น และค้นหาปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา
ทั้งนี้ นักวิจัยวางแผนว่าจะไปพบกับบริษัทโซเชียลมีเดีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการร่วมกันศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น ไม่ใช่ศึกษาระยะเวลาที่พวกเขาใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเท่านั้น ออร์เบนกล่าวว่า บริษัทโซเชียลมีเดียจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียและสนับสนุนการวิจัยอย่างอิสระ เพราะการเข้าถึงข้อมูลเป็นกุญแจไปสู่การทำความเข้าใจบทบาทของโซเชียลมีเดียในชีวิตของเด็กวัยรุ่น
ดร.แม็กซ์ เดวี เจ้าหน้าที่ด้านการปรับปรุงสุขภาพจากวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็กแห่งสหราชอาณาจักรสนับสนุนข้อเรียกร้องให้บริษัทโซเชียลมีเดียร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เดวีระบุว่า การศึกษานี้ยังเป็นเพียงก้าวเล็กๆ เท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ ให้ต้องหาคำตอบ เช่น การอยู่หน้าจอรบกวนกิจกรรมอื่นๆ เช่น การนอนหลับ การออกกำลังกาย และการใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อน เขาจึงแนะนำให้พ่อแม่ยังคงทำตามคำแนะนำที่วิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็กแห่งสหราชอาณาจักรให้ไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการเลี่ยงการอยู่หน้าจอ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะยังมีปัจจัยอื่น นอกเหนือจากสุขภาพจิต ที่รบกวนการนอนของเด็ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: