สำนักข่าวบีบีซีลงบทความที่ชื่อว่า "ทำไมคนดีจึงกลายเป็นคนไม่ดีบนโลกออนไลน์ได้" โดยหลายฝ่ายคาดหวังว่าอินเทอร์เน็ตส่งเสริมความร่วมมือและการสื่อสารของมนุษยชาติ แต่แทนที่เราจะเข้าสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้มากขึ้น เรากลับหันหน้าเข้าสู่กลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน เหมือนเป็นชนเผ่าและจนเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม
บทความดังกล่าวได้ยกตัวอย่างว่า ศาสตราจารย์แมรี เบียร์ด จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งมีคนติดตามบนทวิตเตอร์เกือบ 2 แสนคน ได้โพสต์ภาพตัวเองร้องไห้ เพราะรู้สึกเครียดที่ถูกคุกคามบนโลกออนไลน์จากการที่เธอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเฮติ
วันต่อมาเธอได้รับกำลังใจจากบุคคลสาธารณะหลายคน แม้บางคนจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องเฮติที่เบียร์ดเขียน แต่คนที่ให้กำลังใจเธอก็ถูกโจมตี ส่วนนักวิชาการอีกคนที่เขียนตอบโต้เรื่องเฮติก็ถูกคุกคามเช่นกัน
นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่าวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่สังคมล่าสัตว์และเก็บของป่า มนุษย์ต้องพึ่งพากันและกันเพื่อความอยู่รอด ต้องมีกฎเกณฑ์ในการแบ่งปันอาหารกัน และการอยู่ร่วมกันในสังคมทำให้มนุษย์ พยายามมีน้ำใจกับคนอื่นในสังคม เพราะต้องพบเจอกันอีกในอนาคต
ในทางตรงกันข้าม โซเชียลมีเดียมีความเป็นสถาบันน้อยกว่า มนุษย์อยู่ห่างไกลทางกายภาพ มีตัวตนน้อยกว่าโลกจริง และเมื่อมีพฤติกรรมแย่ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกทำโทษหรือเสียชื่อเสียงน้อยกว่าในโลกจริง เพราะเมื่อคุณทำตัวไม่ดีบนโลกออนไลน์ คนรู้จักของคุณอาจไม่เห็นพฤติกรรมนั้น
นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกที่จะเผยแพร่ความเห็นที่มีประโยชน์กับที่ทางในสังคมของคุณ ได้ โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลได้ศึกษาภาพการทำงานของสมองและพบว่า เมื่อเราเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าที่ทำในสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้องในเชิงศีลธรรม สมองส่วนที่เกี่ยวกับการให้รางวัลจะทำงาน เราจะรู้สึกดีเกี่ยวกับเรื่องนั้น ซึ่งจะส่งเสริมพฤติกรรมนี้ต่อไปอีก แต่การเผชิญหน้ากับคนในโลกจริงมีความเสี่ยง เราอาจถูกทำร้าย แต่ก็ช่วยสร้างชื่อเสียงให้เรากลายเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรีได้เช่นกัน
ขณะที่ คนส่วนใหญ่ก็มักจะไม่เจอกับการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงได้บ่อยนักในโลกจริง แต่โลกออนไลน์ไม่มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงน้อยที่จะเผชิญหน้ากับใครตรงๆ หากคุณจะลงโทษใครที่ละเมิดบรรทัดฐานของสังคม คุณจะดูน่าเชื่อถือขึ้นในสายตาของคนอื่น คุณจึงสามารถเผยแพร่ภาพลักษณ์การเป็นคนมีศีลธรรมได้จากการแสดงความเกรี้ยวกราดและลงโทษคนที่ทำผิดบรรทัดฐานสังคม
ผลวิจัยล่าสุด ระบุว่าข้อความที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและความรู้สึกจะถูกเผยแพร่ออกไปบนโลกออนไลน์ได้ มากกว่า ทุกคำที่เกี่ยวข้องกับ 2 สิ่งนี้จะช่วยให้ทวีตนั้นถูกรีทวีตหรือแชร์ไปมากขึ้นร้อยละ 20
มอลลี คร็อกเก็ต นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่าเนื้อหาที่ปลุกอารมณ์โกรธแค้นจะถูกแชร์ไป มากกว่าปกติ และเนื้อหาที่เราผลิตขึ้นบนโลกออนไลน์เป็นระบบนิเวศที่คัดเลือกเนื้อหาที่มีความโกรธแค้นมากที่สุด จับคู่กับแพลตฟอร์มที่ทำให้การแสดงอารมณ์โกรธได้ง่ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการแสดงความเกรี้ยวกราดเชิงศีลธรรมบนโลกออนไลน์เปิดโอกาสให้กลุ่มคน ชายขอบและไม่มีอำนาจในสังคมสามารถสร้างความตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าในโลกจริง เช่น ความเกรี้ยวกราดบนโลกออนไลน์ได้ช่วยให้คนหันมาสนใจเรื่องการคุกคามทางเพศโดย คนที่มีอำนาจมากกว่า หรือช่วยให้นักเรียนในฟลอริดาเรียกร้องการควบคุมปืนได้
ทั้งนี้ คร็อกเกตแสดงความเห็นว่าหลายฝ่ายต้องหาวิธีเก็บข้อดีของโลกออนไลน์เอาไว้ แต่ก็ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้นว่าจะออกแบบการปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์กันใหม่ อย่างไร เพื่อลดการคุกคามบนโลกออนไลน์ลง