ชื่อ Liberate P เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกๆ ในช่วงปี 2559 วันที่ 27 เดือนธันวาคม ปีนั้น เขาปล่อยเพลงที่ชื่อว่า OC(T)YGEN เขาแต่งไรม์เพื่อสื่อสารถึงเหตุการณ์ล้อมปราบเมื่อวันที่ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งนั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่เพลงร่วมสมัยพูดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่มากไปกว่านั้น นี่ไม่ใช่เพลงแรก และเพลงเดียว เขายังคงทำงานต่อไป จนกระทั่งเกิดการรวมตัวของเหล่าแร็ปเปอร์หัวขบถภายใต้ชื่อกลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) เมื่อเดือนตุลาคม 2561
แน่ละ คงไม่ต้องพูดถึงปรากฎการณ์ ‘ประเทศกูมี’ ว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวงการแร็ป และแวดวงการเมืองขนาดไหน ปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างทันทีของฝ่ายจารีต และฝ่ายอนุรักษนิยม คือการแปะป้ายให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็น ‘ลัทธิชังชาติ’
แต่ก็อีกนั่นแหละ ‘ชาติ’ ที่พูดถึงกันในเวลานี้ก็ยังคงอยู่ภายใต้การต่อสู้ และช่วงชิงนิยามกันไม่รู้จบ จาก ‘ชาติ’ ที่ถูกผูกติดยึดตรึงอยู่ภายใต้กรอบนิยามจารีตนิยม เวลานี้กำลังถูกสั่นคลอนท้าทายจากกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง บางครั้งถั่งโถมราวกับพายุ บางทีก็พัดโชยเบาๆ แต่ลมไม่เคยหยุดนิ่ง มันก็แค่รอเวลาโหมกระหน่ำอีกครั้ง และอีกครั้ง
อย่างน้อยที่สุดหนึ่งในความเปลี่ยนระลอกใหม่ แม้โครงสร้างอำนาจที่ลงหลักปักฐานมาหลายทศวรรษจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่พลิกกลับไปอย่างหนึ่งก็คือ พวกลัทธิชังชาติ ในอดีตเวลานี้พวกเขาได้รับการขนานนามใหม่ว่าเป็น ‘แนวรบทางวัฒนธรรม’
สำหรับเรานี่ไม่ใช่การพูดคุยเป็นงานเป็นการครั้งแรกกับ นัท Liberate P ประวัติ การเติบโต ความคิดทางการเมือง และวิธีคิดเกี่ยวกับการทำเพลง ของเขาถูกบันทึกไว้แล้วในหลายสื่อ ครั้งนี้ ‘วอยซ์’ ชวนเขาถอยออกมาจากสิ่งที่ทำ แล้วมองกลับไป เขามองเห็นอะไรในการสู้รบทางวัฒนธรรมระหว่างฝ่ายที่ต้องการก้าวเดินไปข้าง กับฝ่ายที่พยายามหมุนย้อนเข็มนาฬิกากลับไปข้างหลัง
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2559 ภายใต้การปกครองโดยเผด็จการทหารเต็มรูป นัทเห็นว่า การทำเพลงของเขาไม่ได้มีความยากลำบากอะไรมากนัก นั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่ใช่ศิลปินที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของความเป็น Mass Media แน่นอนเขาไม่มีสัญญาผูกมัดกับทุนใหญ่ค่ายใดค่ายหนึ่งที่จะค่อยกำหนด จำกัดกรอบท่าทีต่างๆ นาๆ เขาก็เพียงแค่ ‘แต่ง ร้อง อัด ปล่อย’
แต่หลังจากปล่อยเพลงไปแล้ว เขายอมรับว่า มีความกังวลอยู่บ้าง เพราะด้วยความที่ไม่ใช่หน้าใหม่ และติดตามการเมืองมาโดยตลอด ในปี 2553 และหลังรัฐประหารปี 2557 แม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็พบเห็นมาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และมีใครถูกกระทำจากรัฐอย่างไร
“ความยากง่ายวันนี้ กับวันนั้น ผมคิดว่า วันนี้ยากกว่า และมันไม่ใช่แค่ยากกว่าเพราะเรากลัวโดนจับ แต่มันยากว่าว่าเราจะเสนอประเด็นอะไรเข้าไปในเพลง วันนั้นผมทำเพลงพูดเรื่องสิทธิ มันอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงเพลงแร็ปการเมือง แต่วันนี้มันไม่ใหม่แล้ว สิ่งที่มันใหม่วันนี้คือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถ้าวันนี้เราทำเพลงไม่ไปถึงตรงนั้น มันไม่มีประโยชน์ที่จะทำแล้ว เพราะว่าเพดานมันถูกดันสูงไปมากกว่านั้น ถ้าเรายังพูดอะไรที่มันน้อยกว่านั้น ผมว่ามันไม่ได้ช่วยผลักดันอะไรมาก”
ด้วยถ่วงทำนองการพูด และน้ำเสียง นัทไม่ได้แสดงท่าทีหยิ่งผยอง แต่เขาเชื่ออย่างที่พูด เพราะการทำเพลงสำหรับเขาไม่ใช่การ Represent ตัวตน หรือจุดยืนเพียงอย่างเดียว แต่เขามองว่ามันคือ การช่วยผลักให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้า และการที่จะผลักดันอะไรบางอย่างในสังคมไทยก็ควรที่จะเป็นเรื่องอะไรที่พูดถึงแกนกลางของปัญหาอย่าง รัฐธรรมนูญ ตุลาการ และชนชั้นปกครอง
“การทำเพลงการเมืองวันนี้ มันยากทั้งในแง่ของการนำเสนอเนื้อหาว่า จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับเพดานที่มันเป็นอยู่ในตอนนี้ และปลอดภัยกับเราด้วย สองเรื่องนี้เป็นเหมือนใจความหลักของวันนี้”
เมื่อชวนมองพ้นไปจากการทำเพลง แล้วเข้าไปดูบทสนทนา กระแสตอบรับจากคนฟัง นัทเห็นว่า ถ้านับจากปี 2559 ที่ปล่อยเพลงออกมาครั้งแรก บทสนทนากับคนฟังในเวลานั้นยังคงติดอยู่ในการเมืองคนดี ไม่เอาทุจริตคอร์รัปชั่น ค่อนข้างมีน้อยที่จะทะลุมาแตะประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต่อมาหลังจากปล่อยเพลงประเทศกูมี สิ่งที่เขาสัมผัสได้คือ มีคนเริ่มสินใจการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์อยู่เพียงแค่ประยุทธ์
ทว่าในปี 2563 หลังจากเกิดม็อบทลายเพดาน และพวกเขาได้ปล่อยเพลงปฏิรูปออกมา ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ม็อบและประเด็นเนื้อหาที่ถูกสื่อสารออกมาในการชุมนุมปราศรัยเป็นใบเบิกทางให้เกิดเพลงปฏิรูปขึ้นมา ระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นบทสนทนากับคนฟังที่เข้ามาพูดคุยด้วยก็เปลี่ยนไปแบบไม่มีวันห้วนกลับ
เมื่อตั้งคำถามชวนย้อนมองเปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลาที่เขาทำเพลง ‘OC(T)YGEN’ กับปัจจุบันซึ่งศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนเข้าร่วมงานกับ Unmute People ผลิตผลงานเพลงทั้ง ‘เพลงเก่าเล่าใหม่’ และ ‘เพลงใหม่เล่าเรื่องเก่า’ รวม 18 บทเพลง จาก 19 ศิลปิน
นัท มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดีที่ 6 ตุลาฯ ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง แต่เสียดายเพียงอย่างเดียวคือ 'มาช้าไป' ไม่ได้เหยียดหยามว่าใครมาก่อนใครมาหลัง เขาเทียบให้เห็นง่ายๆ ว่า หากโปรเจกต์นี้ปล่อยออกมาปี 2563 อาจจะสร้างแรงขับเคลื่อนทางการเมืองที่มากกว่านั้น และมันจะกลายเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนขนานใหญ่
“ถ้ามันมามื่อปีที่แล้วผมคิดว่ามันจะสร้างอิมแพคได้มากกว่านี้ เพราะมันจะเคลื่อนไหวพร้อมกันทั้งหมด ทั้งงานทางวัฒนธรรม และงานบนท้องถนน แต่พอมาปีนี้มันก็ไม่ได้เลวร้าย แต่มันเสียดายโอกาสที่จะผลักสังคมไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าเรามองเกมระยะยาวสิ่งเหล่านี้ก็ให้ความหวัง”
“คือไม่ว่าจะมาตามกระแส ของปลอม หรือของจริง ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วมันดีหมด เพราะมันไม่ได้สร้างผลเสียอะไร ในทางกลับกันมันสร้างแต่ผลดีด้วยซ้ำ ส่วนบางคนทีดูเหมือนจะยังไม่เปิดตัวชัดเจน ผมคิดว่าก็อาจจะมีเรื่องที่เขากังวลอยู่ ซึ่งอันนี้มันก็ต้องค่อยตกตะกอนกันไป จนกว่าเขาจะพร้อมออกมาพูด แต่สำหรับผมไม่ว่าจะของจริง ของปลอม มันดีหมด ถ้าเขาทำงาน มันก็เหมือนกันเรามีกระบอกเสียงเพิ่มมากขึ้น”
“ในสนามทางวัฒนธรรมผมคิดว่าเราชนะ แต่ในภาพใหญ่ยัง และยังอีกไกลด้วย ถ้าในสภาเรายังไม่สามารถแก้รับธรรมนูญได้ ผมว่าอีกยาวเลย”
ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินถูกผิดหรือไม่ แต่ในความคิดเห็นของ นัท เขามองว่า การสู้รบทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างดุเดือดอย่างน้อยในช่วง 2 ปีหลัง ฝ่ายก้าวหน้าล้วนแต่เป็นผู้ได้รับชัยชนะ ความเชื่อมั่นนี้เกิดจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ทั้งการขยายตัวของคนที่พยายามทำงานทางความคิดกับผู้คนผ่านงานศิลปะ ทั้งยังเป็นการสื่อสารที่ไปไกลเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก และผู้คนกำลังมีความเติบโตทางความคิดมากขึ้น
เขายกตัวอย่างง่ายๆ ว่า กับงานศิลปะ หรือเพลง เวลานี้คนเสพงานเหล่านี้แยกออกหมดแล้วว่า อะไรเป็นอะไร อะไรคือความขี้ขลาด อะไรคือความพยายามเลี่ยงบาลี และนั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้ศิลปินผลิตอะไรที่ตรงไปตรงมามากขึ้น
นัท มองต่อไปถึงงานทางวัฒนธรรมของฝ่ายจารีตที่พยายามรื้อฟื้นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าจะงานประเภทไหนก็ตามกลับถูกมองเป็นสิ่งที่ตลก หรือมากไปกว่านั้นคือถูกว่าว่าเป็นงานชั้นต่ำไปเลย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าฝ่ายจารีตจะพ่ายแพ้ไปตลอด เพราะการสู้รบทางวัฒนธรรมยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด
“อย่างเพลงบ้านเกิดเมืองนอน ถ้ามาก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปีมันอาจจะเป็นเพลงที่มีพลังก็ได้ แต่พอมันออกมาปีนี้มันโดนกระแสตีกลับ กลายเป็นเพลงชั้นต่ำไปเลย มันเหมือนพยายามปลุกอะไรบางอย่างที่เขารู้ตัวว่าเขากำลังจะแพ้ เขากำลังดิ้นเฮือกสุดท้าย เขาพยายามหาวิธีเรียกบางอย่างกลับมา แต่ถ้ามองระยะยาวมันเป็นไปได้เสมอว่ามันอาจจะกลับมาชนะได้ และทางฝั่งเราเองก็ควรผลิตงานออกมาเรื่อยๆ เหมือนกัน เพื่อให้การต่อสู้ทางความคิดมันยังอยู่”
เขาย้ำอีกครั้งถึงสิ่งที่เดินตามงานการเมืองท้องถนน และงานการเมืองวัฒนธรรมไม่ทัน คือการเมืองในสภา ในวันที่ม็อบกระแสสูงเรายังขาดนักการเมืองที่กล้าเข้าไปชนในสภาอย่างหนักหน่วง และกลายเป็นว่าข้างนอกชนกันอย่างหนัก แต่ในสภายังมีการแตะเบรกกันอยู่ ยังแบ่งรับแบ่งสู้
“คือเหมือนจะเข้าใจได้ว่ากลัวสภาล่ม หรือเกิดอะไรขึ้น แต่คนข้างนอกมันก็โดน ผมเลยมองว่าคนในสภาไม่สามารถอ้างได้ว่าโดนขู่ โดนคุกคาม เพราะข้างนอกโดนก่อน แล้วไม่ใช่แค่โดนขู่”
ถ้าไม่นับการขยายตัวของการทำงานทางวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นต่อต้านของกลุ่มราษฎรแล้ว นัทมองว่า มี 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานทางวัฒนธรรมของฝ่ายก้าวหน้าได้รับชัยชนะตามมุมมองของเขา อย่างแรกคือ การเติบโตขึ้นของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่เกิดมาพร้อมกับบริบทแวดล้อมที่ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ล้วนเกิดมาพร้อมกับการตั้งคำถาม และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ง่ายขึ้น ขณะที่ปัจจัยอย่างที่สองคือ ความเสื่อมของฝั่งจารีตเอง หากตัดอำนาจบีบบังคับออกไป ทุกอย่างที่เป็นอยู่รังแต่จะทำลายตัวเองลงไปเรื่อยๆ
“ผมเข้าใจว่าฝั่งเขาก็เสื่อมเองด้วย ส่วนฝั่งเราก็มีเจนฯ ใหม่ เป็นคลื่นลูกใหม่ ที่มีความคิดความเข้าใจ ไม่ใช่แบบจำต่อๆ กันมา ไม่ใช่ไปฟังเขาเล่ามาแล้วก็เชื่อ มันกลายเป็นยุคที่พวกเขาพยายามค้นหาความจริงทุกอย่างด้วยตัวเอง และมันห้ามไม่ได้ ผมเรียกว่ามันคือ ความเจริญรูปแบบหนึ่ง และเขาอาจจะรู้ตั้งแต่แรกแล้วด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งมันจะต้องเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น และผมคิดว่านี่แหละเป็นเหตุผลที่ คสช. เข้ามาในวันนั้น และก่อนที่เขาจะประกาศให้มียุทธศาสตร์ 20 ปี เขารู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า อีกไม่นานมันจะเกิดอะไรขึ้น”
แม้ในปีกวัฒนธรรมเขาจะเห็นว่าฝ่ายก้าวหน้าได้รับชัยชนะ แต่ในปีกของการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่ปีที่ผ่านมาหากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เขาเห็นว่า ฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายจารีต ค่อนข้างที่จะเบรกกระแสได้ และกลายเป็นว่าคนที่โดนคดีก็เหนื่อยล้า ถูกบั่นทอนจิตใจ ขณะที่การเมืองภายในรัฐสภาหากยังไม่สามารถผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การต่อสู้ก็จะดำเนินไปอีกยาว
“เราไม่ได้สู้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว มันมีอีกหลายเครือข่ายมากกว่านั้น ทั้งศาล ศาลรัฐธรรมนูญ แวดวงข้าราชการ ผมว่ามันยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่ชนะ”
แน่นอน นัทเห็นว่า การต่อสู้ยังอีกยาว และการทำงานทางวัฒนธรรมก็ยังต้องทำต่อไป ณ วันนี้ และในอนาคตถ้าใครจะทำเพลง ทำหนัง หรือสร้างงานศิลปะประเภทอื่นๆ เพื่อหนุนเสริมและร่วมผลักดันสังคม หากเป็นไปเขาอย่างให้คิดถึงภาพของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ในวันที่ขึ้นปราศรัยครั้งแรกที่ม็อบแฮรี่พอตเตอร์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เพราะนั้นคือการลงหลักปักฐานที่หนักแน่นแล้วว่า สังคมไทยเดินทางถึงจุดนี้แล้ว
“ปัญหาอีกอย่างไม่ใช่ว่า ตอนนี้เราจะเดินไปอีกไกลแค่ไหน เราไปไกลมากแล้ว ปัญหาคือ เราจะเก็บมันไว้ได้นานแค่ไหน การที่เราตื่นรู้แบบนี้ เราจะรักษามันไว้ได้นานแค่ไหน ให้มันอยู่ไปเรื่อยๆ ตรงนี้สำคัญ เพราะเรายังต้องสู้ระยะยาว มันไม่ทางจบในระยะเวลา 3 ปี 5 ปี ผมมองไกลเป็น 10 ปี 20 ปี”
แน่นอนอยู่แล้วว่าคนทำงานเพลงต่างก็ต้องชอบและชื่นชมผลงานของตัวเองเป็นธรรมดา แต่ถ้าให้ตัดงานของตัวเองออกไป นัท มองว่า สำหรับเพลงแร๊ปมีหลายเพลงที่รู้สึกว่าเดินมาไกล เป็นการพูดอะไรอย่างตรงไปตรงมาเยอะ และมีหลายคนที่กำลังทำเพลงลักษณะนี้ เขาชอบงานของหลายคน แต่สิ่งที่เขากำลังสนใจมากกว่าแวดวงของแร็ปเปอร์ คือเพลงป็อบ เขายกตัวอย่างถึงเพลง และ MV ของศิลปิน 2 คน เพลงแรกคือ Next Love ของ BADMIXY และอีกเพลงคือ อีกไม่นาน นานแค่ไหน ของ Getsunova x Three Man Down ว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ
“ผมพยายามโฟกัสไปที่เพลงที่ไม่ใช่แร็ปแล้วกัน ก็มีเพลง Next Love ของ BADMIXY แล้วก็ อีกเพลงคือ อีกไม่นาน นานแค่ไหน ของ Getsunova แต่จริงผมก็ยังรู้สึกว่าเนื้อเพลงมันยังอ้อมไป ซึ่งเราอยู่กับแร็ปที่มันพูดอะไรตรงๆ พอมาเป็นเพลงป็อปก็จะเป็นด้วยเทคนิคด้วยที่เขาพยายามเลี่ยงอะไรที่มัน aggressive เกินไปก็เข้าใจ แต่พอมันมาประกอบกับ MV มันเป็นสิ่งที่คนดูรู้ว่ากำลังพูดเรื่องอะไร”