วันที่ 6 ต.ค. 2565 ที่วิทยานานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ "46 ปี 6 ตุลา 19 ในมุมมองคนรุ่นใหม่" โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล พริษฐ์ ชิวารักษ์ และภัสราวลี ธนกิจพิบูลย์ผล นักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมพูดคุย
โดยช่วงแรก พริษฐ์ วัชรสินธุ ได้กล่าวถึง การคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยบันได 4 ขั้น เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง ไปสู่ความปรองดอง ได้แก่
1. ปฏิเสธการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
2.กระบวนการค้นหาความจริง มีตัวแทนทุกฝ่าย และเป็นอิสระจากคู่ขัดแย้ง
3.นำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีการแทรกแซง
4.ลงสัตยาบันรับรองอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC
ด้าน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้กล่าวประนาม สุรัตน์ ฑีรคาภิบาล รองอธิบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ หนึ่งในผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ป็นคนที่สั่งให้ขุดสนามหญ้าว่า เป็นสิ่งที่น่าละอาย ก่อนจะกล่าวถึง วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และความเป็นธรรมในสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสังคมนี้ อีกทั้งระบบกฎหมายก็ถูกตั้งคำถาม และสิ่งที่ตั้งคำถามกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันอยู่ในความเงียบมานาน ปีนี้เป็นปีที่น่ายินดีเพราะว่า ปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างคึกคัก
พริษฐ์ กล่าวว่า ความยุติธรรมนั้น ผ่านไป 46 ปี เราไม่สามารถตามหาคนมารับผิดได้ แต่ความเป็นธรรมขั้นพื้นฐานที่คนเดือนตุลาควรได้รับคือความจริง การไม่นำความจริงมาเปิดเผย ทำให้เกิดเหตุการณ์ พฤษภาฯ 35 มาจนถึง การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2552-2553 ซึ่งสังคมควรมีสิทธิ์ที่จะได้เรียนรู้บทเรียนของสังคมที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย จะได้ไม่ต้องไปพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ความผิดพลาดความเจ็บปวดไม่ได้ส่งผลอะไร เพราะสังคมไทยถูกห้ามไม่ให้เรียนรู้บาดแผลที่เคยเกิดขึ้น
พริษฐ์ กล่าวว่า ในประเทศที่อารยะ และเป็นประชาธิปไตย ความสูญเสียในวันนั้นถูกจดจำ และจัดการรำลึกโดยรัฐ มีข้าราชการระดับสูงมาเข้าร่วม ซึ่งรัฐต่างยอมรับว่าเคยมีเหตุการณ์ด่างพร้อย แต่ต้องยอมรับเพื่อก้าวผ่าน
พริษฐ์ เสริมว่า ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือก่อน แล้วค่อยใช้กฎหมายตามเอาผิด แต่ในปัจจุบันนั้นใช้กฎหมายก่อน และใครเอาไม่อยู่ก็ค่อยใช้ความรุนแรงทางกายเข้าควบคุม อีกทั้งหลักการของการประกันตัวสู้คดีที่ส่วนมากจะกำหนดเงื่อนไข และบางทีกฎหมายก็ไม่ควรมีไว้เพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม กฎหมายควรจะเป็นบรรทัดฐานที่สังคมยึดถือพร้อมกัน
ภัสราวลี กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ผู้ที่กระทำความรุนแรงในวันนั้น ยังเป็นผู้มีอำนาจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงมีความยับยั้งการขุดคุ้ยที่คนรุ่นใหม่อยากจะทำ มันกลายเป็นว่า ยิ่งแสดงความอยากจะปกปิดมากขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนอยากขุดคุ้ยมากเท่านั้น
ภัสราวลี กล่าวว่า เราต้องเดินหน้าการหาความจริง ยิ่งเราขุดคุ้ยได้ลึกมากขึ้นจะเห็นปัญหาที่แท้จริงว่าต้นตอของมันคืออะไร โครงสร้างอำนาจแบบไหนที่ทำให้ความรุนแรงมันเกิดขึ้น มันเป็นอำนาจอะไรที่ทำให้การสังหารหมู่ที่ฉาวโฉ่ที่สุด ถูกกลบด้วยความสวยงามของอะไรบางอย่าง
ภัสราวลี กล่าวอีกว่า ภาพของศพที่ถูกตอกอก ถูกทำร้าย นั้นเป็นเครื่องเตือนใจให้คิดว่า การฆาตกรรมหมู่ทำไมรัฐบาลถึงมองข้าม แล้วการรื้อฟื้นความผิดในอดีตที่ดีที่สุดคือการขุดคุ้ย การเมืองไทยไม่ไปถึงไหนเลยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้นตอคือกลุ่มคนกลุ่มเดียวกันหรือเปล่า และมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่สามารถเชื่อมโยงได้
ภัสราวลี กล่าวในประเด็นนี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังลอยนวล และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐได้รับการลงโทษ พอมาถึงในปัจจุบัน ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมีแค่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมโดยสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาปราบปรามไม่โดนอะอะไรเลย
ภัสราวลี กล่าวถึง กลุ่มการเคลื่อนไหวทางการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ทะลุแก๊ส ว่า ท่ามกลางกระสุนยาง ประทัด แก๊สน้ำตา พี่น้องหลายคนมีเพียงแค่แว่นกันแก๊สน้ำตา และถุงมือ แต่กลับถูกรถตำรวจพุ่งชนที่ดินแดง และหนีไป แต่กลับลอยนวลพ้นผิด ไม่ได้รับโทษอย่างใดเลย นอกเหนือจากนั้นมีน้องที่ไปชุมนุมที่ดินแดงบางคน ไม่ได้เป็นที่รู้จักในสาธารณะ และถูกอุ้มไปกระทืบ เอาบุหรี่จี้ จนทุกวันนี้สร้างบาดแผลให้แก่ใจคนเหล่านั้น
"ความรู้สึกเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ ถูกทำลายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่บางคนอายุไม่ถึง 18 ปี ถูกกระทืบในบ้าน และลากตัวออกมาเพื่อเอาไปไหนไม่รู้" ภัสราวลี กล่าว
นอกจากนี้ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ม.112 ถูกเพิ่มโทษเป็นขั้นต่ำจำคุก 3-15 ปี ตอนนั้น นักศึกษาถูกแบ่งแยกโดยการหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นอีกกลุ่มที่สังคมต้องเกลียด ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ฆ่าคนเหล่านี้ไม่บาป มองกลับมาในปัจจุบันก็คล้ายกัน
พริษฐ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นระยะเวลานาน หากไปดูรัฐธรรมนูญ 2521 ที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แม้จะมีอายุยาวนาน แต่ไม่ได้ดี เพราะทำให้กลไกของทหารสามารถมาควบคุมทางการเมืองได้ทั้งหมดในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
พริษฐ์ ยังกล่าวถึงภาพการเมืองในปัจจุบันอีกว่า แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะถูกศาลวินิจฉัยให้ไม่พ้นวาระ 8 ปี แต่ตนกังวลไปมากกว่านั้น ถึงแม้จะไม่มีการรัฐประหาร แต่ว่า การควบคุมกลไกทางการเมืองโดยคณะรัฐประหารยังคงอยู่ หากเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560
ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยลงประชามติเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ กลไกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องกำหนดใหม่ อีกทั้งนักการเมือง หรือรัฐยังหยิบยกเอา ม.112 มาเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัว
อีกทั้งต้องมีการแก้กฎหมาย ม.116 ที่เกี่ยวข้องกับการยุยงปลุกปั่น การแก้กฎหมายการฟ้องปิดปาก หรือ SLAP และกฎหมายการควบคุมสื่อมวลชน และเนื่อหาสาระของผู้ผลิต และที่สำคัญ มรดกของกองทัพที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล โดยมองว่า กองทัพต้องถูกกำหนดทิศทางด้วยรัฐบาลของพลเรือน
พริษฐ์ กล่าวว่า สังคมต้องมีพื้นที่ปลอดภัย และต้องมีกระบวนการให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้สิทธิใช้เสียงในสังคมประชาธิปไตยต้องมีทั้ง เลือกตั้ง และชุมนุม ควบคู่กันไป และเรียกร้องให้ส.ว. ออกมาประกาศให้ชัดว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่สวนทางกับเจตนารมณ์ของประชาชน
ด้าน ภัสราวลี มองว่า ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ และสังคมไทย เป็นปัญหาที่ชนชั้นนำซุกซ่อนเอาไว้มาก และเป็นไปในเชิงการไม่หาเหตุและผลอย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นว่า ทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือน ฉะนั้นแล้ว ม.112 หากยกเลิกไปได้จะ ทำให้เราเกิดพื้นที่ปลอดภัยในการวิพากษ์วิจารณ์
ภัสราวลี ยังเน้นยำถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกว่า การพูดถึงหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง และการแบ่งเขตเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ให้ความชัดเจน มันคือตัวแปรทำให้เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นจริงหรือไม่ มันเลยเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหวังให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น และความเข้มแข็งของประชาชนจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง