ไม่ว่าปลายทางการต่อสู้จะแพ้หรือชนะ โมงยามนี้ของเหล่าราษฎรนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ้าเพดานทางความคิด ผ่านข้อเรียกร้องต่างๆ มันถูกทลายลงโดยปราศจากเงื่อนไข แม้หลายคนถูกกักขัง หลายคนถูกข่มขู่ดำเนินคดี แต่ใบหน้าของความเจ็บปวด ต่างผลัดเปลี่ยนกันเปิดหน้าสู้กันทุกรูปแบบ
เช่นเดียวกับแวดวงศิลปวัฒนธรรม เหล่าศิลปินรุ่นใหม่ดาหน้าออกมาปลดแอกจากความกลัว เข้าสู่เส้นทางแนวรบทางวัฒนธรรม เพื่อปลดปล่อยประชาชน แม้จะมีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับอาชีพศิลปิน หรือถูกตีตราว่า ‘ชังชาติ’ แต่พวกเขาล้วนตระหนักจากสำนึกว่า ถ้าไม่พูดปัญหาอย่างตรงไปตรงมา แล้วมันจะได้รับการแก้ไขอย่างไร
ตั้งแต่บทเพลงแร็ปจากกลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) อย่าง ‘ประเทศกูมี จนถึง ‘หัวใจเสรี’ ของไททศมิตร งานอีกหลายงานที่ถูกผลิตออกมา บอกเล่าถึงความขบถและภาวะอึดอัดจากผู้ปกครองที่ทรงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง งานเขียน ละครเวที พวกเขาเปลือยพลังเหล่านั้นออกมา เพื่อทิ่มแทงไปยังปัญหาผ่านชั้นเชิงของศิลปะและวาทกรรม
สำหรับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ผู้คนต่างรู้จักแนวรบทางวัฒธรรม ซึ่งมีทั้งรุ่นเล็กรุ่นเก๋า อาทิ
กลุ่มศิลปิน วงสามัญชน, เอ้-เดอะวอยซ์, แอมมี่-The Bottom Blues, อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์, ยุ้ย-ญาติเยอะ, ต้น Dezember, กู่แคนสคูล, T-047,ไททศมิตร, H3F, srirajah rockers, zweed n' roll,
กลุ่มเพอร์ฟอร์แมนซ์ กลุ่ม B-Floor , กลุ่มลานยิ้มการละคร, กลุ่มartn’t, คณะราษดรัม
กลุ่มศิลปินร่วมสมัย sina, Baphoboy, uninspiredbycurrentevents
"มันเป็นสิ่งที่ท่องกันไว้ขึ้นใจเลยว่า อย่าแตะการเมือง เหมือนเป็นตำราเลยว่า ห้ามยุ่งการเมือง ห้ามฝักใฝ่ฝ่ายไหน เพราะวันหนึ่งไม่รู้ว่าใครจะชนะหรือแพ้ อย่าแตะนะ มันไม่ใช่เรื่องที่ดี มีแต่เสียกับเสีย"
ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือแอมมี่ ฟรอนต์แมนของ The Bottom Blues ชี้ให้เห็นปัญหาของวงการบันเทิง ที่มีโครงสร้างบางอย่าง เครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับงาน มีอิทธิพล มีอำนาจที่กดทับโดยเฉพาะการพูดถึงสถาบันกษัตริย์์
"ถ้าคุณดื้อเมื่อไรเขาก็จะไม่สนับสนุนคุณ คุณต้องเป็นคนน่ารัก และต้องมีผลประโยชน์สร้างเงินให้เขาได้ เขาถึงจะรักคุณ"
ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้จำกัดแค่แวดวงข้าราชการเท่านั้น วงการบันเทิงก็ถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน สุดท้ายตัวเขาเองถูกตัดออกจากโปรเจคที่เขาเป็นคนทำ เพียงเพราะออกมาร่วมชุมนุม และขึ้นเวทีกับนักศึกษา
แอมมี่ เล่าว่า ระหว่างที่เขาถูกสั่งขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งตามปกติผู้คุมจะเปิดทีวีให้ดู เขาเห็นดาราศิลปินยังคงไปออกรายการเกมโชว์เป็นปกติ สนุกสนาน นั่นเป็นเหตุผลที่เขาพูดกับไผ่ จตุภัทร์ ภายในเรือนจำว่า “ผมคงไม่กลับไปอีกแล้ววงการบันเทิง”
“ผมอยากให้ดนตรีอีสานมันเป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของคนอีสาน อยากให้มันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านความอยุติธรรม นอกจากจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประจำท้องถิ่นแล้ว”
ทัศนะของ ‘หมอลำก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน’ จากวงกู่แคนสคูลพูดคุยกับ ‘วอยซ์’ หลังขึ้นเวทีการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า เพื่อย้ำถึงวัตุประสงค์ในการร่วมแสดงออกผ่านเสียงแคน ด้วยแรงบันดาลจากเลือดเนื้อของการต่อสู้บนผืนดินอีสาน
“มันจะมีคุณค่าสำหรับคนที่มีจิตสำนึกสามัญว่า ตัวเองมาจากที่ไหน เกิดจากไหน จำทางกลับบ้านตัวเองได้ไหม จดจำพี่น้องตัวเองได้ไหม เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร ที่คนรุ่นใหม่เขาออกมานำเสนอ เห็นไหมว่าคนอีสานเขาถูกทำร้ายแค่ไหน ทำไมถึงเอาศิลปวัฒนธรรมออกมาต่อสู้ เพราะเราไม่มีอาวุธ เรามีแค่นี้ มีแค่ศิลปะมีแค่หมอลำ”
นักร้องจากคณะกู่แคนสคูล ยังมองไปถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมว่า “ผมว่ามันสมเหตุสมผล มันไม่ดีตรงไหนคนเท่าเทียมกัน มันไม่ดีตรงไหนกฎหมายเท่าเทียมกัน คนทุกคนมีสิทธิจะเป็นมนุษย์ เป็นคนๆหนึ่งอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอภาค สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วย ผมว่ามันกลัวเราเป็นคนเท่ากัน”
ขณะเดียวกันท่ามกลางสถานการณ์ความดุเดือดทางการเมืองขณะนั้น ที่บริเวณแยกดินแดง หมอลำจากแดนอีสาน ยังฝากไปถึง ‘คนบ้านเดียวกัน’ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในนาม ตำรวจควบคุมฝูงชนหรือ คฝ. ว่า
“อยากฝากถึง คฝ. โดยเฉพาะคนอีสานบ้านผมทุกคน ผมขอฝากให้คิดหน่อยว่า จุดจบของคำว่านายสั่งมันเป็นยังไง จุดจบของคนชั่วจุดจบของเวรกรรม บาปมันไม่มีตัวตนหรอก แต่อย่าประมาทนะ มันมีแน่นอน”
ไม่เพียงแต่ลูกหลานอีสานเท่านั้นที่ออกมาต่อสู้ ยังมีอีกกลุ่มศิลปินมาดเซอร์ อย่าง ‘ไททศมิตร’ เจ้าของบทเพลงดัง แดงกับเขียว,นักเลงเก่า หรือ Hello MaMa ที่ออกมาส่งเสียง และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์แห่งใจแผ่นดิน
"ถูกกล่าวหาว่าเป็นต่างด้าวไร้สิ้นแผ่นดิน ถูกพาดพิงถูกตีราคาไร้ความเป็นไทย ความเป็นคนเท่ากันไม่ว่าชาติพันธุ์พันธุ์ไหน กล่องดวงใจเคยฝากเอาไว้ข้างในผืนป่า"
เนื้อหาบางส่วนของเพลง “ใจแผ่นดิน” ซึ่งถูกขับร้องโดย 'จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี' ร้องนำ-กีตาร์ แห่งวงไททศมิตร หนึ่งในกลุ่มศิลปินที่ออกมา สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิเสรีภาพที่ผูกมัดพันธนาการ
"คิดแบบโง่ๆ เบสิคมากเลยว่าคงไม่มีใครอยู่บ้านแล้ว ตัดเสาบ้านตัวเอง เอาน้ำมันมาราดเผาบ้านตัวเอง มันไม่มีหรอก ซึ่งชาวบ้านบางกลอยเขาอยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ คนมันอยู่ร่วมกับป่ามาตั้งนานแล้ว มันก็เกื้อกูลกัน
เขามองว่าการตีตราของภายนอกนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่ยังสุมไฟให้กลายเป็นความขัดแย้ง และเห็นควรว่าต้องมีการสังคายนาการควบคุมของรัฐแบบเก่า ที่ต้องเข้าใจมุมมองและรากเหง้าของปัญหา
หนุ่มมาดเซอร์ยังฝากถึงผู้มีอำนาจถึงการแก้ปัญหาคนอยู่กับป่า ผ่านมายาคติของระบบราชการว่า ต้องมีการลงพื้นที่อย่างจริงจัง ไม่ใช่รับรายงานหรือข้อมูลด้านเดียวจากทั้งภาครัฐ เพราะทุกคนล้วนต่างอยากกลับไปที่บ้านเกิด
“ในสนามทางวัฒนธรรมผมคิดว่าเราชนะ แต่ในภาพใหญ่ยัง และยังอีกไกลด้วย ถ้าในสภาเรายังไม่สามารถแก้รับธรรมนูญได้ ผมว่าอีกยาวเลย”
นัท-Liberate P หนึ่งในกลุ่ม Rap Against Dictatorship ย้อนมองสมรภูมิทางวัฒนธรรม ซึ่งเขาบอกกับวอยซ์ว่าการสู้รบทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างดุเดือดอย่างน้อยในช่วง 2 ปีหลัง ฝ่ายก้าวหน้าล้วนแต่เป็นผู้ได้รับชัยชนะ ความเชื่อมั่นนี้เกิดจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2563
เขายกตัวอย่างง่ายๆ ว่า กับงานศิลปะ หรือเพลง เวลานี้คนเสพงานเหล่านี้แยกออกหมดแล้วว่า อะไรเป็นอะไร อะไรคือความขี้ขลาด อะไรคือความพยายามเลี่ยงบาลี และนั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้ศิลปินผลิตอะไรที่ตรงไปตรงมามากขึ้น
นัท มองต่อไปถึงงานทางวัฒนธรรมของฝ่ายจารีตที่พยายามรื้อฟื้นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าจะงานประเภทไหนก็ตามกลับถูกมองเป็นสิ่งที่ตลก หรือมากไปกว่านั้นคือถูกว่าว่าเป็นงานชั้นต่ำไปเลย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าฝ่ายจารีตจะพ่ายแพ้ไปตลอด เพราะการสู้รบทางวัฒนธรรมยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด
สำหรับการเคลื่อนไหวของศิลปินชื่อดังผ่านแคมเปญ 18 บทเพลง ‘5 ตุลาฯ จะมาเมื่อฟ้าสาง’ นัท มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดีที่ 6 ตุลาฯ ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง แต่เสียดายเพียงอย่างเดียวคือ 'มาช้าไป' ไม่ได้เหยียดหยามว่าใครมาก่อนใครมาหลัง
เขาเทียบให้เห็นง่ายๆ ว่า หากโปรเจกต์นี้ปล่อยออกมาปี 2563 อาจจะสร้างแรงขับเคลื่อนทางการเมืองที่มากกว่านั้น และมันจะกลายเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนขนานใหญ่
“เพลงมันก็เป็นแค่เพลง ถามว่ามันไปทิ่มใคร มันทำร้ายใครได้ ฝั่งอนุรักษ์นิยมก็มีของเขา เราก็ต้องมีบ้าง ถามว่าคิดยังไงก็เป็นการลิดรอนเสรีภาพ ไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจนิยม เผด็จการ”
อีกทัศนะจาก กฤษฎ์ พรหมใจรักษ์ หรือ ออม นักร้องนำคณะพังค์ Pistols99 หนึ่งในแนวร่วมทางวัฒนธรรม ซึ่งถูกฟูมฟักเรื่องการเมืองสมัยการชุมนุมคนเสื้อเหลือง หรือ ‘พันธมิตร’ ช่วงปี 2549-2551 ที่มีการปิดสนามบิน ทำให้เขาตั้งคำถามถึงการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าว ผ่านบทเพลงที่เขาแต่งขึ้นมา
สำหรับปัจจุบันเขามองปรากฎการณ์คนดนตรีออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ว่า “เพราะที่ผ่านมาคนไทยประนีประนอมกับเรื่องนี้มานานมากแล้ว เรายอมให้คนกลุ่มนึงเขียนกติกา โดยที่ไม่ได้รับฉันทามติจากเรา ยอมเล่นเกมทั้งที่กติกามันไม่แฟร์เลย”
นี่คือปัจจัยที่เขาเชื่อว่าทำให้คนจำนวนมาก ออกมาต่อสู้บนท้องถนน ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊สที่แยกดินแดง ซึ่งมักถูกมองว่าหัวรุนแรงแต่หากมองอีกมุม กฤษฎ์กลับมองว่าการเคลื่อนไหวของ 'ทะลุแก๊ส' คนไม่ค่อยให้ความสนใจมาก
ในบางมุมเหมือนว่าทำให้พวกเขาโดดเดี่ยว อย่างน้อยอยากให้ไม่ลืมว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งอยู่ตรงนี้ สุดท้ายเราต้องการสิ่งเดียวกัน คือต้องการประชาธิปไตย ประเทศที่มีเสถียรภาพ ทุกคนมันมีจุดหมายเดียวกัน จึงเป็นที่มาของบทเพลง ‘สมรภูมิดินแดง’
เช่นเดียวกับ 'ยุ้ย-ญาติเยอะ' นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เจ้าของบทเพลง เต็มเหนี่ยว, พกเมียมาด้วยเหรอ ที่ออกมาประกาศอยู่ข้างประชาชน เพราะเธอรู้สึกว่าไม่สามารถทนได้กับการบริหารรัฐบาลแล้ว เนื่องจากไม่สามารถจัดการปัญหาโควิดได้ และเมื่อบ้านเมืองประสบวิกฤตเช่นนี้ 'ต้องเลืิอกข้าง'
"ไม่รู้กี่ครั้งแล้วที่ต้องทนมา โควิดกลับมาไม่รู้กี่รอบ มันเกิดจากความหละหลวมของทางการทั้งนั้นเลย"
อีกเหตุผลที่เธอทนไม่ไหวต้องใส่เต็มเหนี่ยว คือการออกคำสั่งล็อกดาวน์แต่ไม่มีวัคซีนที่ดีให้ สะท้อนให้เห็นความเขลาในการบริหารจัดการ พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดทำไมไม่สั่งวัคซีนที่มีคุณภาพ ต้องใช้สูตรไขว้กันไปมา มันคือความรั้นที่ไม่เข้าท่า "เพราะมันคือชีวิตประชาชน"
“ถ้าสถานการณ์ปกติจะนึกถึงเพลง wind of change-Scorpions ให้สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงมันพัดมาทางนี้ ให้เขารู้สึกมั่งว่าตอนนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมันพัดไปทั่วโลกแล้ว แต่ถ้ากำลังลุยกันผมจะนึกถึงเพลง deep purple พวก Highway Star”
ขณะที่รุ่นเก๋าในสนามชุมนุมอย่าง ‘จอห์น สนามหลวง’ ผู้โชกโชนบนเส้นทางดนตรีและความขัดแย้งทางอุดมการณ์ คอยขับกล่อมดับอารมณ์นาทีเผชิญหน้าระหว่างมวลชนและเจ้าหน้าที่ คฝ. ด้วยจิตสำนึกของผู้รักประชาธิปไตย เขาเปรียบเทียบการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ว่า “ตอนนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมันพัดไปทั่วโลกแล้ว"
ด้วยเหตุนี้ ‘จอห์น’ จึงเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่มีใครสามารถหยุดมันได้ เพราะกลุ่มคนที่มีความคิดติดอยู่กับเรื่องเก่าๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง กำลังตายไปเรื่อยๆ แล้วคนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมา เขาโตมาพร้อมความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง กำลังหมดอายุขัยไปเรื่อยๆ ยังไงรุ่นใหม่ก็ต้องมาแทนที่อยู่แล้ว
เขายังมองว่าความหลากหลายของวัฒธรรม ภายในม็อบนั้นเหมือนกับประกาศให้ ผู้ปกครองรู้ว่าเนี้ยแหละคือประชาธิปไตย มีความคิดหลากหลายรวมอยู่ในประเทศนี้ นี่แหละคือประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่บังคับให้ดูอย่างเดียวฟังอย่างเดียว
"ไม่ใช่ให้เลิกเคารพหรือเลิกรัก แต่อยากให้กลับมาเป็นคนปกติ มีสติเหมือนคนปกติทั่วไป"
ด้าน 'ต้น' ภัทร ชุมทอง มือกีต้าร์วงดนตรีเมทัลชั้นนำของไทยวง Dezember วงดนตรีที่ทำเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับ "ความตาย" "สงคราม" "การเมือง" "สังคม" "ศาสนา" ผู้เคยอุทิศตนเพื่อปกป้องสถาบันฯ กลับเปลี่ยนจุดยืนสนับสนุนปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเขายอมรับว่า 10 ปีที่ผ่านมา เขาพร้อมพลีชีพให้กับความคลั่งในสิ่งที่เขาเทิดทูน
มีครั้งหนึ่งช่วงที่คลั่งเจ้าอย่างหนัก เพียงแค่ได้ยินนักการเมือง นักวิชาการฝ่ายซ้าย หรือพวกที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้าวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ออกทีวี หรือในโลกออนไลน์ เขาจะรู้สึกโกรธแค้นจนตัวสั่น พร้อมสบถคําหยาบ สาปแช่ง ถึงโคตรเหง้าต่างๆ ออกมาในใจ
“เรื่องสถาบันกษัตริย์ ผมไม่เคยแตกแถวเลยสักนิดเดียว แค่ทำเหรียญตก ทำแบงก์ตก เดินข้ามเหรียญ ข้ามแบงก์ ต้องหยิบขึ้นมาไหว้ก่อนใส่กระเป๋า เป็นถึงขนาดนั้นเลยนะ"
อย่างไรก็ตามเขาฝากไปถึงคนรักเจ้าอย่างบ้าคลั่ง ว่า อยากให้คนเหล่านั้นรักอย่างมีสติ รู้จักตั้งข้อสงสัย รู้จักตั้งคำถาม และหาเหตุผลมารองรับความเชื่อ ความรักดังกล่าว เคารพคนที่คิดเห็นต่าง
อีกกลุ่มศิลปินที่ทำงานการเมืองกันอย่างแข็งขัน ในสายเพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต ยั่วล้อด้วยท่วงท่า สีสัน และอารมณ์ของนักแสดง ที่มักซ่อนเร้นความหมาย และชวนตีความจากการสัมผัสจากสายตา ออกมาในรูปแบบการละครที่เชื่อมร้อยผู้คน
"ผมรู้สึกว่าถ้าพูดถึงศิลปะต่อต้านมันคือการยั่วล้อ การทำให้มันเป็นเรื่องขบขัน การทำให้สัญลักษณ์บางอย่างที่ดูสูงส่ง จับต้องไม่ได้ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา"
"เขาเรียกว่าตาสว่างกันหมดหรือปลดแอกตัวเองออกมาได้แล้ว ผมชอบมากคำว่าปลดแอก คือการปลดแอกในสิ่งที่คุณกำลังถูกครอบงำอยู่"
บทสนทนาของ ‘คาเงะ - ธีระวัฒน์ มุลวิไล’ เจ้าของรางวัลศิลปาธรสาขาการแสดง ประจำปี 2561 หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะละคร B-Floor มองอนาคตของแวดวงศิลปะ ท่ามกลางการต่อสู้ที่เข้าสู่ภาวะแหลมคม เปราะบาง และบางสิ่งที่กดทับไม่ให้พูดได้โดยปกติ
“ผมว่ากระแสมันกำลังมานะ อย่างที่ผมเห็นในแกลลอรี่ต่างๆ ตอนนี้กำลังทำงานกันเยอะมาก ศิลปินในเชิง Visual Art หรือที่เซอร์ไพรส์มากเลยคือนักร้องเพลงป็อบ ทำมิวสิคออกมา ทำเพลงออกมา เรารู้สึกว่าโห.. คุณไม่กลัวฐานคนดูตัวเองเลยเหรอ คือเขาเรียกว่าตาสว่างกันหมด
นอกจากนี้ในแวดวงศิลปะในรั้วมหาวิทยาลัยก็คึกคักเช่นเดียวกัน หลังเกิดไวรัลดราม่าในโลกโซเชียลมีเดียกรณีผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สั่งเก็บผลงานศิลปะของนักศึกษา
'เท็น' ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มช.เจ้าของผลงานศิลปะดังกล่าว และหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ได้เปิดใจกับ วอยซ์ว่า "เราเห็นงานสร้างสรรค์ในม็อบหรือในพื้นที่ต่างๆ สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นศิลปะทั้งสิ้น"
ดังนั้นเขาจึงหลีกหนีจารีตเดิมสร้างสรรค์ศิลปะ โดยไม่หวังเพียงมูลค่า แต่ไปให้ถึงความก้าวหน้า ปฏิวัติและดันเพดานการทำงานศิลปะ เขายังนิยามโลกของศิลปะไว้ว่า
"โลกศิลปะมันพิศวงพอสมควร มันพยายามจะกลืนบางอย่าง ผมก็ไม่รู้ว่าจะหนีได้ไหม"
นี่เป็นอีกกลุ่มคนบนเส้นทางการต่อสู้ช่วงชิงประชาธิปไตย คืนสู่ระบอบปกครองที่เป็นปกติ ไม่มีนักโทษทางความคิด ไม่มีการจองจำอิสระทางความคิดด้วยกฎหมายเผด็จการ เพื่อคืนชีวิตให้ผู้คนที่อยู่ในสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
อ่านเพิ่มเติม