ไม่พบผลการค้นหา
19 พ.ค. 2562 ครบรอบ 9 ปี เหตุการณ์ 'สังหารหมู่' กลางแยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 ที่กลายเป็นบาดแผล 'คนเสื้อแดง' ผู้เพรียกหาความยุติธรรม

ย้อนรอยเลือด 9 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ 'คนเสื้อแดง' เมื่อครั้งเข้าร่วมชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย ราวกับว่า ณ เวลานั้น แม้ว่าจะอยู่ใจกลางเมือง แต่หากย้อนกลับไปก็ไม่ได้แตกต่างจาก 'ทุ่งสังหาร' ที่พรากชีวิตคนไทยด้วยกัน ภายใต้การบริหารประเทศโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และ 'กองทัพ' ที่ยังเติบโตและไม่มีเพียงคำเอ่ย 'ขอโทษ' จากพวกเขาเหล่านี้เลย 

สุเทพ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


ครั้นมองในปัจจุบัน วาทกรรมที่ซุกซ่อนอยู่ยังไม่หายไปจากความคิดของใครบางคน ไม่ว่าจะเป็น 'เผาบ้านเผาเมือง' หรือแม้กระทั่ง 'ล้มเจ้า' ที่เปรียบเหมือนแผลเป็นติดตัวคนเสื้อแดงมาโดยตลอด

แม้จะมีคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งศาลได้ชี้ชัดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เผาบ้านเผาเมือง และไม่ใช่ 'กลุ่มก่อการร้าย' รวมถึงหลายคดีที่ศาลชี้ว่าผู้เสียชีวิต เกิดจากคมกระสุนที่พุ่งมาจากฟากฝั่งของทหาร แต่ความยุติธรรมมักจะมาล่าช้าเสมอ เพราะวาทกรรมเหล่านี้ต้องใช้เวลากว่า 9 ปีที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้เผา หรือยิงกันเอง เสมือนเป็นลิ่มตอกใจย้ำถึงบาดแผลของผู้พ่ายแพ้

เสื้อแดง.jpg

แน่นอนว่ายังมีอีกหลายคดีที่ยังคงสร้างความกังขาต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต อาทิ คดี 6 ศพวัดปทุมวนารม ที่นางนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่พบเป็นหนึ่งในหกศพ ซึ่งผู้เป็นมารดายังคงเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมมาโดยตลอด 9 ปี แม้ว่าจะต้องโทษคดีหลายคดี แต่ผู้เป็นแม่ก็ยังคงเพรียกหาต่อไป เช่นเดียวกันในวันนี้ที่เธอเดินทางไปทำบุญให้ลูกสาว ผู้พรากจากอ้อมอกเธอไปแล้ว 9 ปี ก่อนที่จะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อรำลึกถึงการสังหารบุตรสาวของเธอ

เสื้อแดง.jpg

ด้านชะตากรรมของแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. รวมถึง นพ.เหวง โตจิราการ ที่ยังตกเป็นจำเลยร่วมกันกับพวกรวม 24 คน ในความผิดร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฏหมายอาญา ม.135/1, ม.135/2 และร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ม.116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 รวม 6 ข้อหา ที่จะมีการชี้ชะตากรรมในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 นี้ 

ณัฐวุฒิ.jpg

วิกฤติการเมืองไทย ยังคงมีความครุกกรุ่นอยู่เสมออยู่ที่ว่า ณ เวลานั้นจะมีเงื่อนไขอย่างไรในการปลุกให้คนลงมาต่อสู้กันบนท้องถนน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า 'ความยุติธรรม' คือปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เห็นขบวนของประชาชนแห่ร้องบนท้องถนนได้ไม่ยากนัก

ถึงวันนี้ หวังเพียงว่าหลายคดีความที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผู้กุมอำนาจจะไตร่ตรองและมอบความยุติธรรมให้ทั้งผู้เห็นต่างและไม่เห็นต่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข่นฆ่าจากคนไทยด้วยกัน ดังเช่นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :