ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' หั่นงบฯ ศูนย์ต้านข่าวปลอม-ศูนย์ต้านมิจฉาชีพออนไลน์ ขาดประสิทธิภาพ 'ภูมิใจไทย' โวยข้อมูลประชาชนหลุด ด้าน 'กมธ.' ยอมรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยังไม่พร้อม สุดท้ายสภาฯ เห็นชอบ

วันที่ 21 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2-3 ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในมาตรา 16 งบประมาณของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมาก ปรับลดงบประมาณ 72 ล้านบาท 

'ก้าวไกล' เฉือนงบฯ ศูนย์ข่าวปลอม-ศูนย์ต้านอาชญากรรมออนไลน์

โดย ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ จะมีสายด่วน 1441 ที่เอาไว้แจ้งมิจฉาชีพ แต่ก็มีสายด่วนของหน่วยงานอื่น เช่น 1599 เราไม่สายด่วนเยอะมาก แต่ประชาชนจำไม่ได้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหามิจฉาชีพเข้ามาร้องเรียนมิจฉาชีพ ทำให้ประชาชนงงว่าหากร้องเรียนไปแล้ว จะเป็นตำรวจจริงหรือไม่ ตอนนี้ตำรวจทำงานไม่ทันมิจฉาชีพ ไลน์แอดที่ยิงไป 4-6 อัน มิจฉาชีพหมดเลย สรุปอันไหนจริงกันแน่ พอไปถามเจ้าหน้าที่ก็โยนงานข้ามกันไปมาว่าสายด่วนไหนจริง สายด่วนไหนปลอม

ศศินันท์ ยังเปิดคลิปพีอาร์ของกระทรวงดีอีเอส ที่รณรงค์ให้ประชาชนรู้ทันมิจฉาชีพ ในหัวข้อ “มงคลมาโอนเงินให้เปี๊ยกหน่อย” ตนขอเสนอปรับลดงบ เนื่องจากอยากให้กระทรวงดีอีเอส ทำงานที่ควรจะทำ มองว่าหากมัดรวมงบแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ได้ จะประหยัดงบไปได้เยอะ 

ขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ส่วนตัวสงสัยมานานว่าเหตุใดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเลือกตรวจสอบข่าวจากหน่วยงานราชการเท่านั้น  ทั้งนี้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังแบ่งกลุ่มข่าวที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ 2.หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ 3. หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่

พร้อมยกตัวอย่างข่าวที่ถูกปฏิเสธการตอบกลับ “ ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือน ก.ย.นี้ เตรียมรับเงินสูงสุด 1,900 บาท สามารถกดเป็นเงินสดได้” ซึ่งจากการตรวจสอบกับกลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่าเพื่อความชัดเจนและข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด รบกวนสอบถามทางกระทรวงการคลัง เนื่องจากดูแลเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยตรง สุดท้ายศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมปิดเคส สมชื่อกับศูนย์ประสานงานและแก้ปัญหาข่าวปลอม ไม่ติดตามหรือทวงถามอะไรทั้งนั้น

นอกจากนี้ในกลุ่มข่าวที่ไม่ประสงค์เผยแพร่ยังระบุเหตุผลไว้ชัดเจน โดยเฉพาะข่าว ครม. อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 ล้านบาท หรือข่าวทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อยางรถยนต์แปดเส้น 3.4 ล้านบาท จากการตรวจสอบกับกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

ตลอด 4 ปี 5 เดือน การส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานราชการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการตรวจสอบแต่เป็นการขออนุญาตเผยแพร่ข้อมูล  ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่มีความเป็นอิสระ และเป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดความจริงแบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ และปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็นเท่านั้น โครงการเช่นนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว

'ภูมิใจไทย' โวยข้อมูลประชาชนหลุด

ขณะที่ ซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ขอสงวนคำแปลมาตราที่ 16 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงดีอี ขอปรับลด 2% สืบเรื่องจาก ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนในกระทรวงสาธารณสุขกว่า 2.2 ล้านรายชื่อ หลุดออกมา จะทำให้แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ได้ข้อมูลส่วนตัวพร้อมเบอร์โทร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก 

ตนจึงมีการตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าให้ความสำคัญกับนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน ทั้งที่กระทรวงดีอีมีแผนยุทธศาสตร์ 8 หน่วยงาน รับงบประมาณไปเพื่อขับเคลื่อนขีดความสามารถและการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ แต่กลับเกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สำหรับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) เป็นโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสถาปัตยกรรมของรัฐบาลด้าน Big Data ด้วยงบประมาณ 318 ล้านบาท อีกกี่ปีจะเสร็จ งบประมาณเป็นงบผูกพันหรือเปล่าตนไม่ทราบ ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ถึงจะลุล่วง ทุกกระทรวงได้เช่าพื้นที่ในคลาวด์หน่วยงานของตนเอง ทำให้สูญเสียงบประมาณเยอะ และบางหน่วยทำเป็นงบผูกพัน 3-5 ปี ตนจึงขอปรับลดงบประมาณมาตรากรัทรวงดีอี 2%

กมธ.ยอมรับ โครงสร้างดิจิทัลยังไม่พร้อม-ปัญหาเยอะ

จากนั้น สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ ได้กล่าวชี้แจงในประเด็นที่สมาชิกได้อภิปรายและตั้งข้อสังเกต โดยระบุว่า สาเหตุที่กระทรวงดิจิทัลฯ มีการตัดลดงบประมาณลงแทบทุกหน่วยรับงบประมาณ มีหลายสาเหตุ เช่น ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันปี 2567 เป้าหมายไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ได้รับหลักการไว้ในวาระที่ 1 ความไม่มีประสิทธิภาพในการตั้งงบประมาณ

ปัญหาทางดิจิทัลของเรา อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และยังมีปัญหาอีกเยอะมาก ซึ่งทางกรรมาธิการก็ได้เล็งเห็น โดยมีสมาชิกตั้งข้อสังเกตเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าด้วยสายตาก็ยังไม่ค่อยพร้อม ยังมีความคลาดเคลื่อนทั้งการวัดผลสัมฤทธิ์ของงาน เพราะจะวัดจากกิจกรรมที่ดำเนินการ แต่ไม่ได้วัดผลจากประสิทธิภาพต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

สำหรับปัญหาของผู้หลอกลวงทางออนไลน์ เชื่อว่าสมาชิกทุกคนเองก็คงเป็นเหยื่อ ไม่ต่างจากประชาชนคนไทยทุกที่ที่มีอินเตอร์เน็ตใช้ หรือมีโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวรัฐบาลไทย แต่เป็นปัญหาระดับโลก ส่วนตัวก็โดนเช่นกัน และได้พยายาม report ไปทุกวัน แต่การยิงโฆษณาของเฟซบุ๊กมีประสิทธิภาพมากกว่าการ report ของผู้ใช้ ซึ่งส่วนนี้เกินอำนาจขอบเขตที่รัฐบาลไทยจะทำได้ สะท้อนว่าระบบทุนนิยมที่ครอบงำไปทั่วโลก สามารถเอาชนะสิ่งที่เป็นศีลธรรมอันดี ว่าบริษัทไม่ควรแสวงหากำไรจากสิ่งเหล่านี้

หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ท้ายที่สุดที่ประชุมเห็นชอบตัดงบกระทรวงดีอีเอส 72 ล้านบาท ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก