ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' ชงเลื่อนวาระประชุม ถกคำถามประชามติ รธน. ใหม่ก่อน แขวะ ถ้า 'เพื่อไทย' ช่วยกันคงราบรื่น ด้าน 'ครูมานิตย์' ขอนิมนต์อย่ามายุ่ง ลั่น "ท่านผู้เจริญอยากทำอะไรก็ทำ" ชี้ประชุม ครม. วันแรกถกแก้ รธน. แน่ สุดท้ายที่ประชุมลงมติไม่เลื่อนระเบียบวาระ 262:143

วันที่ 30 ส.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการปรชุม โดยขอให้นำญัตติพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขึ้นมาพิจารณาก่อนในวันนี้ 

พริษฐ์ ให้เหตุผลว่า มีความจำเป็นที่สภาฯ จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากสังคมถกเถียงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาดำเนินการถึง 2 ปี เพื่อยืนยันหลักการของสภาผู้แทนราษฎร ที่เคยลงมติให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์มาแล้วในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา เมื่อ 3 พ.ย. 2665


แต่ อรรถกร ศิริลัทยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นกล่าวว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังมีเรื่องที่บรรจุในวาระพิจารณาลำดับก่อนหน้า ที่มีความสำคัญ และเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง พร้อมยืนยันว่า ไม่ขัดข้องหากทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องให้มีการเลื่อนระเบียบวาระการประชุม แต่หากไม่ใช่ ก็ขอให้คงระเบียบวาระไว้เช่นเดิม


ด้าน รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอให้ อรรถกร นำปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ไปเสนอในการปรึกษาหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค.) ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม หรือหาก อรรถกร รับปากว่าในวันพรุ่งนี้ จะรับพิจารณาญัตติคำถามประชามติ พรรคก้าวไกลก็พร้อมถอนญัตติของ พริษฐ์ เพื่อคงระเบียบวาระตามเดิม 


โดย อรรถกร ชี้แจงว่า ไม่สามารถให้คำสัญญาและตัดสินใจเองได้ เพราะหากจะเปลี่ยนวาระจะต้องหารือกันในสภาฯ และขณะนี้ ยังมี สส. หลายคน ที่ยื่นญัตติไว้ จึงขอให้พรรคก้าวไกล พิจารณาตามลำดับวาระอย่าแซงวาระการพิจารณาของ สส.คนอื่น ๆ 


อย่างไรก็ตาม ยังมี สส.คนอื่น ๆ อาทิ ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สส.นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยกับแนวทางของ อรรถกร พร้อมขอให้คำนึงถึงปัญหาความเร่งด่วนของประชาชน ทั้งปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ และปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะวาระการพิจารณาขอมติสภาผู้แทนราษฎรให้ ครม. จัดการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้น ก็ได้บรรจุไว้ในวาระการประชุมอยู่แล้ว และอ้างว่าพรรคก้าวไกลยังไม่ได้มีการประสานกับพรรคการเมืองอื่นๆ ให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุม จึงขอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาไปตามระเบียบวาระ 


ทำให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น สั่งให้มีการลงมติว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวารการประชุมหรือไม่ 


ระหว่างนั้น ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ในฐานะวิปพรรคก้าวไกล ได้ประสานพูดคุยแล้ว ทั้งกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงยังทราบว่า มีญัตติการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรอการพิจารณาอยู่ ดังนั้น การกล่าวหาว่า พรรคก้าวไกล ไม่ได้ประสานกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ทำให้พรรคฯ เสียหาย 


"เชื่อมั่นว่า หากพรรคก้าวไกล รวมกับพรรคเพื่อไทย ดำเนินการเหมือนกับที่เคยดำเนินการมาเมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดก่อน ที่มีมติร่วมกันขอให้คณะรัฐมนตรี จัดการออกเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างราบรื่น" ปกรณ์วุฒิ กล่าว


ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย จึงลุกขึ้นตอบโต้ว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะมีการพูดคุยถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนกำลังถกเถียงอยู่ แต่ขณะนี้ การถกเถียงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในสภาสำคัญกว่า จึงไม่อยากให้สภาหารือซ้ำซาก หรือพาดพิงพรรคเพื่อไทย 


"ขอให้พรรคท่าน ที่เป็นผู้เจริญแล้ว จะทำอะไรก็ทำท่านก็ทำไปเถอะ ขอนิมนต์ " ครูมานิตย์ กล่าว


ด้าน วิทยา แก้วภราดัย สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ชี้แจงกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล พาดพิงได้มีการหารือเพื่อขอเลื่อนระเบียบวาระการประชุมว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ยินยอมและไม่ขัดข้อง หากจะมีการเลื่อนวาระการหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาพิจารณาก่อน แต่เห็นว่าควรพิจารณาตามระเบียบวาระเดิม


ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 262:143 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระการประชุม