เว็บไซต์นิวส์วีก สื่อวิเคราะห์การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในสหรัฐอเมริกา รายงานอ้างอิง El Espectador หนังสือพิมพ์กระแสหลักในโคลอมเบีย ระบุว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วคนดังกล่าวชื่อว่า 'เยมี' และชู้รักของเธอมีชื่อว่า 'เฮซุส บาริโยส' โดยทั้งคู่ลอบมีความสัมพันธ์นอกสมรสมาได้นานนับปีโดยที่สามีของฝ่ายหญิงไม่ทราบเรื่อง
จนกระทั่งไม่นานมานี้ เยมีและเฮซุสได้นัดพบกันอีกครั้งที่เมืองซานตามาร์ตา และใช้บริการแอปพลิชัน 'อูเบอร์' เพื่อเรียกรถไปส่งทั้งคู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่เมื่อรถมาถึงและเข้าไปนั่งในรถ จึงพบว่าคนขับอูเบอร์คันดังกล่าวคือสามีของเยมี
ขณะที่ El Espectador ซึ่งเป็นสื่อรายแรกที่รายงานข่าวเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ระบุว่าเยมีและชู้รักรีบลงจากรถทันที
นิวส์วีกรายงานอ้างอิงสื่อโคลอมเบียรายอื่นๆ ที่เผยรายละเอียดแตกต่างกัน บ้างก็ว่าเยมีและชู้รักหลบหนีไปได้ ส่วนบางรายก็บอกว่าสามีได้ลงมาชกต่อยกับชู้รักโดยที่เยมีพยายามห้ามทั้งคู่ แต่สิ่งที่สื่อรายงานตรงกันคือสามีของเยมีได้ยืมบัญชีของเพื่อนคนหนึ่ง ชื่อ 'เลโอนาร์โด' ซึ่งลงทะเบียนเป็นคนขับรถอูเบอร์อย่างถูกต้อง มาขับรถเพื่อหารายได้ เยมีกับชู้รักที่ได้เห็นชื่อและประวัติของคนขับอูเบอร์ระหว่างเรียกรถจึงไม่ได้เอะใจ
นิวส์วีกรายงานว่าแม้เยมีจะถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์นอกสมรส แต่อูเบอร์ในโคลอมเบียก็อาจถูกฟ้องได้เช่นกัน เพราะการที่สามีของเยมีใช้บัญชีของเพื่อนที่เป็นคนขับอูเบอร์ตระเวนให้บริการผู้อื่น ทั้งที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ลงทะเบียนประวัติเอาไว้ เข้าข่ายละเมิดมาตรฐานการบริการและการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานแอปฯ ดังกล่าว
ส่วนเพื่อนของสามีเยมี จะถูกอูเบอร์ตัดสิทธิและถูกถอดจากบัญชีผู้ให้บริการรถรับส่งของอูเบอร์ทันที และอาจจะถูกฟ้องร้องข้อหาละเมิดสัญญาในการร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับอูเบอร์ เพราะนอกจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้อื่นแอบอ้างใช้บัญชีแล้ว ยังรวมไปถึงการปล่อยให้ผู้อื่นนำรถที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไปให้บริการแก่ผู้เรียกรถอีกด้วย
นอกจากนี้ นิวส์วีกยังได้อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'ลิน แอร์ทัน' นักกฎหมายของอังกฤษ ที่กล่าวกับหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ 'เดอะเดลีเมล' ว่า การใช้แอปพลิเคชันเรียกรถอย่างอูเบอร์ จะช่วยให้คู่สมรสติดตามการเคลื่อนไหวของสามีและภรรยาของตนได้ และอาจช่วยให้การเปิดโปงความสัมพันธ์นอกสมรสทำได้ง่ายดายขึ้น
แอร์ทันชี้ว่า การใช้บริการเรียกรถรับส่งผ่านแอปพลิเคชันมือถือเพื่อไปยังที่ต่างๆ นอกเหนือจากเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ จะทำให้คู่สมรสตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะแอปฯ เหล่านี้เก็บข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้บริการเอาไว้ และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
สำหรับในประเทศไทยก็เพิ่งมีกรณีที่ผู้ขับรถยนต์รายหนึ่ง ส่งข้อความสนทนากับเด็กหญิงคนหนึ่งผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน Beetalk และแอบอ้างว่าตนเองเป็นผู้ให้บริการรถรับส่งผ่านทางแอปพลิเคชัน 'Grab' ก่อนจะล่อลวงเด็กหญิงคนดังกล่าวไปล่วงละเมิดทางเพศเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
บริษัทแกร็บ ประเทศไทย แถลงข่าวยืนยันว่า ผู้ก่อเหตุดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับแกร็บ เพราะไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นคนขับ แต่เป็นการแอบอ้างชื่อเท่านั้น พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ใช้บริการของแกร็บติดตั้งปุ่มฉุกเฉิน (Emergency Button) ลงในแอปฯ เพิ่มเติม เพราะจะช่วยให้ผู้โดยสารติดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โดยตรง ทั้งยังสามารถใส่หมายเลขโทรศัพท์ได้สูงสุด 3 เบอร์ เพื่อให้เจ้าของเบอร์ที่ระบุได้รับข้อความเตือนทันทีที่มีการกดปุ่มแจ้งเหตุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: