ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างในอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาแผนที่จากแอปพลิเคชันอย่าง เช่น กูเกิลแมป และแผนที่ออนไลน์อื่นๆ ที่มากับเครื่องมือสื่อสาร ไม่สามารถเชื่อมต่อหรือเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้อย่างราบรื่น ทำให้หลายครั้งผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องใช้วิธีการโทรศัพท์เพื่อส่งของหรือรับลูกค้า ผู้ให้บริการหลายรายต้องซื้อแพ็กเกจโทรศัพท์เพิ่มเติม ซึ่งไม่สมดุลกับรายได้ในแต่ละเดือน
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่ยานพาหนะขนส่งของอินโดนีเซียเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
อากัส ซาพุธทรา คนขับ Go-Jek หนึ่งในผู้ให้บริการมอเตอร์ไซค์สำหรับขนส่งในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียกล่าวว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยใช้กูเกิ้ลแมปบอกเส้นทาง และสุดท้ายแล้วก็ต้องหยุดใช้ เนื่องจากพื้นที่ที่กูเกิ้ลนำทางไปนั้น ไม่มีสัญญาอินเทอร์เน็ต สร้างความสับสนให้แก่เขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขาไม่รู้ว่าที่ที่เขาอยู่นั้นคือที่ไหน
มาร์ค แกรห์ม ศาสตราจารย์จากสถาบันอินเทอร์เน็ตอ็อกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลที่แผนที่ออนไลน์กูเกิลแมปสามารถใช้การได้ดีในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และยุโรป เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลแผนที่ได้ในระดับสูงและมีรายละเอียดที่ชัดเจน ผู้ใช้และผู้ให้บริการร่วมกันปรับปรุงหรืออัพเดตข้อมูลให้มีความถูกต้องทันสมัยอยู่เสมอ และประเทศเหล่านี้ยังมีระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่มีคุณภาพ แต่ในบางประเทศ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ไม่ได้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลพร้อมใช้งาน จึงไม่สามารถเข้าถึงหรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ได้
ปัจจุบัน ในอินโดนีเซียมีบริษัทผู้ให้บริการรถมอเตอร์ไซค์ขนส่ง 2 บริษัทใหญ่เท่านั้น ซึ่งก็คือ แกร็บ และโก-เจ็ค ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเรียกร้องให้ผู้ให้บริการทั้ง 2 รายนี้ลงทะเบียนในฐานะเป็นบริษัทขนส่งสาธารณะ โดยให้ทั้ง 2 แห่งต้องมาจดทะเบียนกับทางรัฐบาลอินโดนีเซียภายใน 1-2 เดือนนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะอย่าง 'แกร็บ' ได้พยายามพัฒนาปรับปรุงฐานข้อมูลด้านเส้นทางในอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีการจัดทำระบบแผนที่ของตัวเองตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยรวบรวมข้อมูลจากแอปพลิเคชันบอกเส้นทางและปักหมุดสถานที่สำคัญต่างๆ รวมกัน ทั้งกูเกิลแมป, โฟร์สแควร์ และเฮียร์ที่พัฒนาโดยบริษัทโนเกีย
การจัดทำฐานข้อมูลแผนที่ออนไลน์ของแกร็บเอง ช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงแต่ในอินโดนีเซียเท่านั้น แกร็บยังปรับปรุงระบบติดต่อระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการรับส่งสาธารณะให้สื่อสารกันง่ายขึ้น ส่งผลให้แกร็บขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีจุดพื้นที่บริการรับส่งสินค้ากว่า 3,000 แห่งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ล่าสุด บริษัทแบ่งปันยานพาหนะอย่างอูเบอร์ที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ก็ต้องขายหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แก่แกร็บเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถตีตลาดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ที่มา SCMP และ JakartaPost
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: