ไม่พบผลการค้นหา
แกร็บประกาศว่าได้เข้าซื้อกิจการของอูเบอร์ในอาเซียนแล้ว ถือเป็นการขายกิจการครั้งใหญ่ที่ทำให้แกร็บกลายเป็นเจ้าตลาดอันดับ 1 ในด้าน ride-sharing ของอาเซียน

หลังจากเป็นข่าวลือมานานนับเดือน ในที่สุดแกร็บ ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารรายใหญ่ของอาเซียนก็ประกาศว่าได้เข้าซื้อกิจการของอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียบร้อยแล้ว โดยนับจากนี้ บริการเรียกรถโดยสาร รวมถึงส่งอาหาร หรืออูเบอร์อีท จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแพลทฟอร์มของแกร็บ ขณะที่อูเบอร์กลายเป็นผู้ถือหุ้น 27.5% ในแกร็บ และซีอีโอของอูเบอร์ จะเข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารในแกร็บด้วย

ในแถลงการณ์ของแกร็บระบุว่าดีลธุรกิจครั้งนี้เป็นดีลครั้งประวัติศาสตร์ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากกิจการของอูเบอร์ในอาเซียนมีทั้งในกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย การควบรวมกิจการครั้งนี้จึงทำให้แกร็บก้าวไปอีกขั้นของการเป็นผู้นำแพลทฟอร์มที่ให้บริการเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงเป็นผู้นำในธุรกิจบริการส่งอาหารของอาเซียน

นายแอนโธนี ทาน ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแกร็บ กล่าวถึงการรวมกิจการครั้งนี้ว่าแกร็บรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่บริษัทที่ถือกำเนิดในอาเซียนจะกลายเป็นแพลทฟอร์มสำหรับผู้ใช้บริการหลายล้านคน และเป็นแหล่งกำเนิดรายได้ของคนกว่า 5 ล้านคน และแผนการดำเนินธุรกิจขั้นต่อไปของแกร็บคือการขยายแกร็บ ฟูด หรือบริการส่งอาหารให้ครอบคลุมทุกประเทศหลักๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้


 นำร่อง GrabBike คิดค่าบริการ 35 บาททุกระยะทาง

ในขณะที่ดีลธุรกิจครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของแกร็บ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแกร็บยังไม่ได้ปราศจากคู่แข่งเสียทีเดียวในอาเซียน เพราะในอินโดนีเซีย หนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน มีสตาร์ทอัพเจ้าถิ่นอย่างโกเจ็ค (Go-Jek) ครองตลาดอยู่ และโกเจ็คเองก็มีแผนจะขยายตลาดไปยังฟิลิปปินส์ด้วย 

ส่วนในมุมของอูเบอร์ ซีอีโออูเบอร์ยืนยันว่าที่ผ่านมากิจการประสบปัญหาด้านการทำกำไรเพราะเจาะตลาดในหลายประเทศเกินไป การขายกิจการให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น และหันมาโฟกัสที่ประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของกิจการสูงสุด จะทำให้อูเบอร์ทำกำไรได้ดีกว่าในระยะยาว โดยประเทศที่อูเบอร์ให้ความสนใจมากที่สุดตอนนี้ในเอเชียคืออินเดียและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตดี และมีกำลังซื้อสูง

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังถือเป็นตลาดที่กิจการประภท ride-sharing หรือการบริการเรียกรถโดยสาร มีแนวโน้มการเติบโตน่าพอใจที่สุดในโลก โดยปี 2017 มูลค่าการตลาดของกิจการเรียกรถโดยสารอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 155,000 ล้านบาท แต่ในปี 2025 มูลค่าการตลาดของกิจการประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า อยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 620,000 ล้านบาท

ย้ายฐานข้อมูลคนขับ-ผู้โดยสาร-ร้านอาหารพันธมิตร ภายใน 9 เม.ย. นี้

นอกจากนี้ แกร็บ ระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงการซื้อกิจการอูเบอร์ หลังจากนี้แกร็บจะควบรวมกิจการเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน และรับส่งอาหารของอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ในแพลตฟอร์มการให้บริการขนส่งและบริการทางการเงินของแกร็บ และเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น แกร็บและอูเบอร์จะทำงานร่วมกัน โดยจะย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ และผู้โดยสารจากแอปพลิเคชันอูเบอร์ รวมไปถึงลูกค้าที่สั่งอาหาร ผู้จัดส่ง และพันธมิตรร้านอาหารจากแอปพลิเคชันอูเบอร์อีทส์ ไปยังแพลตฟอร์มของแกร็บ โดยแอปพลิชันอูเบอร์จะให้บริการต่อไปอีกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ( 9 เม.ย.) เพื่อให้เวลาแก่คนขับเข้าไปลงทะเบียนสมัครกับแกร็บทางช่องทางออนไลน์ที่ www.grab.com/th/comingtogether 

ในส่วนแอปพลิเคชั่นอูเบอร์อีทส์ จะให้บริการต่อไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2561 และหลังจากนั้น ข้อมูลรายชื่อผู้จัดส่งและพันธมิตรร้านอาหารจะถูกถ่ายโอนไปยังแอปพลิเคชันของแกร็บ

พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สู่ออฟไลน์ 3 ด้าน ส่งอาหาร - ขนส่ง -การเงิน

ทั้งนี้ ก้าวใหม่ของแกร็บ คือการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการ O2O (Online to Offline) แถวหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

บริการรับส่งอาหาร: แกร็บจะขยายธุรกิจ 'แกร็บฟู้ด' เพิ่มอีก 2 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้วในอินโดนีเซียและไทย หลังการควบรวมธุรกิจของอูเบอร์อีทส์ จะเข้าไปให้บริการ 'แกร็บฟู้ด' (GrabFood) ทั้งนี้ แกร็บ มีแผนเปิดให้บริการแกร็บฟู้ดในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในกลางปีนี้

บริการเดินทางขนส่ง: จะสร้างการเติบโตการบริการเดินทางขนส่งโดยขยายบริการท้องถิ่น พร้อมมอบโซลูชั่นที่มากขึ้นผ่านการร่วมมือกับผู้ให้บริการเดินทางและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ นอกจากนี้ แกร็บจะสนับสนุนรัฐบาลและผู้ให้บริการขนส่ง เพื่อสร้างเครือข่ายการเดินทางสาธารณะที่หลากหลายในแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่บริษัทฯประกาศเมื่อครั้งเปิดทดลองให้บริการ 'แกร็บไซเคิล' (GrabCycle) บริการจักรยานและอุปกรณ์มือถือร่วม และ 'แกร็บชัตเติ้ล พลัส' (GrabShuttle Plus) บริการรถโดยสารประจำทางแบบออนดีมานด์ 

บริการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงิน: ภายใต้ 'แกร็บไฟแนนเชียล' (Grab Financial) ซึ่งรวมถึงบริการชำระเงินผ่านมือถือ บริการกู้ยืมสำหรับรายย่อย (micro-financing) และบริการประกัน รวมไปถึงบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยหลายล้านรายในภูมิภาค โดยบริการ 'Mobile Wallet' ของแกร็บเพย์ จะพร้อมเปิดให้บริการในทุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปลายปี 2561 นี้