ไม่พบผลการค้นหา
อดีต รมว.คลัง มองกรณีการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ หลังถูกวิจารณ์สวนทางสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา

จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อจากตัวเลขล่าสุดของเดือนธันวาคม 66 ติดลบที่ 0.83 % ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม รวมถึงข้อท้วงติงจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าไม่เห็นด้วยกับ ธปท.ที่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ ทำให้กระทบต่อประชาชน

ต่อประเด็นดังกล่าว กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมวิเคราะห์ผ่านรายการ Talking Thailand โดยผู้ดำเนินรายการได้เปิดคำถามว่าทำไม ธปท.มีผลกำไร แต่เศรษฐแย่ อดีต รมว.คลัง อธิบายว่าระบบธนาคารของประเทศไทย จะมีส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้, ต้นทุน, ดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะมีส่วนต่างที่กว้างกว่าระบบธนาคารของต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ตนได้ตั้งข้อห่วงใยในสมัยที่ยังไม่มีรัฐบาลปัจจุบัน โดยชี้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะทุกครั้งที่มีแนวโน้มในการปรับขึ้นดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะเพิ่มเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะฉะนั้นส่วนต่างก็จะมากขึ้นไปอีก

“พูดได้เลยว่าถ้าเราอยากเห็นเศรษฐกิจรอด การลดอัตราดอกเบี้ยที่มากพอ และลดในเวลาอันรวดเร็ว มันจะเป็นทางรอดของประเทศ นี่คือจุดยืนผม ซึ่งเห็นหนุ่มเมืองจันท์ (คอลัมนิสต์) ออกมาแสดงความห่วงใย ก็ดีใจเหมือนกันที่มีคนออกมาพูดเรื่องนี้”

อดีต รมว.คลัง ยังชี้ว่าจากข้อห่วงใยที่ตนเคยออกมาแสดงความเห็น ปัจจุบันก็เห็นชัดแล้วว่าผลกำไรของ ธปท.สูงขึ้นจริงๆ ทั้งที่มีการหักค่าใช้จ่ายสำรองเผื่อหนี้ไว้สูง แต่ก็ยังปรากฎยอดผลกำไร อีกสิ่งที่น่ากังวลคือเมื่อต้นทุนสูงขึ้นจนทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่มาแก้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็น่าเป็นห่วง เพราะมันไม่ใช่ทางแก้แต่เป็นการถล่มสภาวะเศรษฐกิจจนเงินเฟ้อติดลบ เพราะจะมีกรอบกำหนดว่าต้องให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3 % ซึ่งการที่ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบ มันคือสิ่งที่น่ากังวลมาก

สำหรับการบริหารของ ธปท. ที่เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้รัฐบาล ‘กิตติรัตน์’ มองว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้ามีอิสระแล้วจะพาประเทศไทยไปสู่ปัญหาจนถึงขั้นหนี้ครัวเรือนแก้ไขไม่ได้ ทำให้ประชาชนมีความสามารถชำระหนี้น้อยลง ท่ามกลางเงินเฟ้อ

“สมมติว่ามีบุคคลหนึ่งมีรายได้ 10,000 บาทต่อเดือน เดิมทีมีค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 8,000 บาทต่อเดือน ถ้าต้นทุนสินค้ามันสูงขึ้น 10 % จะทำให้ค่าครองชีพเขาเพิ่มเป็น 8,800 บาท ก็จะเหลือความสามารถในการชำระหนี้แค่ 1,200 บาท และต้องเจอกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ตรงนี้เราต้องมาพูดจากัน เพราะประชาชนบางคนเขาไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมาย แล้วมาบอกว่ารัฐบาลต้องมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน ก็มีบางคนเสนอว่าถึงเวลาทวงความเป็นอิสระคืนหรือยัง

ซึ่งผมมองว่าถ้าคนที่มีอิสระแล้วมีเหตุผลในการอธิบายดีๆ ผมเชื่อว่าสังคมเข้าใจ แต่ถ้าไม่อธิบายบอกแค่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยประชาชนรับได้ ซึ่งปัญหามันไม่ใช่แค่ภาคประชาชน แต่มันมีภาคธุรกิจอีก แต่ที่เขาไม่กล้าพูดเพราะเขาเป็นลูกค้าธนาคาร ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้เขาซักถาม ช่วยอธิบายหน่อยว่าจะทำยังไง ขอให้อธิบายมาเพราะคนไม่มั่นใจในระบบเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ ‘กิตติรัตน์’ ยังให้ความเห็นว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์ เมื่อ ธปท.ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธนาคารพานิชย์ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็ยังได้ เพราะธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ไม่ใด้เป็นผู้กู้สุทธิจาก ธปท. และยังมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ธปท.ด้วยซ้ำ เพราะทุกธนาคารถือพันธบัตร ธปท.อยู่ ดังนั้นการกำหนดทิศทางตัวเลขดอกเบี้ยว่าสมควรอยู่ที่เท่าไหร่ ไม่ใช่การอ้างกันไปกันมาระหว่าง ธปท. และ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผลกำไรที่ปรากฎนั้นควรจะถูกกระจายในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนข้อกังวลในเรื่องซ้ำรอยอดีตสมัยต้มยำกุ้งปี 2540 จึงมีความพยายามที่จะทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง อดีต รมว.คลัง มองว่าสถานการณ์ในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกันในบริบทของทุนสำรองในกองทุนระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีขนาดเงินทุนที่แข็งแรง แต่ปัญหาคือหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการดำเนินนโยบายของ ธปท.กำลังทำผิดพลาด จนทำให้เงินเฟ้อติดลบ

สำหรับข้อกังวลที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะเงินฝืด กิตติรัตน์มองว่าประเทศไทยอยู่ในสภาวะดังกล่าวแล้ว แต่คนที่มองไม่เห็นคือคนที่อยู่ในส่วนรวยกระจุก แต่คนในระดับล่างเห็นชัดเลยว่าอยู่ในภาวะเงินฝืด จะเห็นได้จากความซบเซาในตลาดสดที่กำลังคนซื้อถดถอยลง มันคือภาพสะท้อนภาวะเงินฝืดที่รุนแรง

ชมคลิปวีดีโอ