นายกอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตนักการทูตของกระทรวงการต่างประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่าเขาได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของรัฐบาลเมียนมา เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ซึ่งเกิดเหตุการณ์นองเลือดและการอพยพลี้ภัยของชาวมุสลิมโรฮิงญาตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. 2560 เป็นต้นมา โดยเขาให้เหตุผลว่าการทำงานไม่คืบหน้าและไม่มีความเป็นอิสระมากนัก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายกอบศักดิ์ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นการแสดงเจตจำนงด้วยวาจา เพราะเห็นว่าทัศนคติของรัฐบาลเมียนมาที่มักจะย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกิจการภายในประเทศ ทำให้การทำงานไม่เกิดความคืบหน้า และการดำเนินการด้านต่างๆ ไม่มีความเป็นอิสระมากนัก เพราะเกิดแรงเสียดทานภายในคณะที่ปรึกษาด้วยกันเอง
ขณะที่เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า นายกอบศักดิ์ไม่ใช่คนแรกที่ขอถอนตัวจากคณะที่ปรึกษาระหว่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. นายบิล ริชาร์ดสัน อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น เป็นคนแรกที่ลาออก โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินงานไม่เป็นอิสระและไม่มีความจริงใจ
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ได้รับการแต่งตั้งโดยนางอองซาน ซูจี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและมุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งดำเนินการตามข้อเสนอในรายงานของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ซึ่งถูกทาบทามจากนางซูจีให้มาช่วยเหลือด้านการวางแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้ว และมีการแต่งตั้งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม นายกอบศักดิ์ระบุว่าเขายังคงสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ต่อไป และสนับสนุุนนางคริสตีน เบิร์จเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติที่ได้รับการเสนอให้เข้าร่วมงานกับคณะกรรมการฯ คนล่าสุด
ขณะที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศฯ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ โต้แย้งว่าข้อกล่าวหาของนายกอบศักดิ์ไม่เป็นธรรม พร้อมยืนยันว่าการทำงานของคณะกรรมการฯ มีความคืบหน้าไปมาก เพราะได้มีการเจรจาผลักดันให้หน่วยงานของสหประชาชาติและรัฐบาลเมียนมาร่วมกันดำเนินการรับตัวผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับประเทศ รวมถึงเปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษและทูตพิเศษของสหประชาชาติได้มีโอกาสเข้าพบผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในค่ายพักพิงที่บังกลาเทศ
ส่วนเหตุขัดแย้งนองเลือดในรัฐยะไข่ของเมียนมา เริ่มปะทุขึ้นรอบแรกเมื่อปี 2555 และทวีความรุนแรงรอบใหม่เมื่อปี 2559-2560 โดยเหตุการณ์ล่าสุดเกิดจากกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) ลอบวางระเบิดโจมตีด่านตรวจและค่ายทหารพร้อมกันกว่า 30 จุดในเขตหม่องดอว์ รัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของเมียนมาและพลเรือนชาวพุทธในรัฐยะไข่ตอบโต้กลุ่ม ARSA ด้วยการใช้กำลังขับไล่ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน สังหาร และเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาโดยไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้พลเรือนชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนต้องอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ และนายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า 'การลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา'
นอกจากนี้ นางซูจียังถูกนานาชาติโจมตีว่าไม่ทำตามสัญญาในการส่งเสริมสันติภาพในเมียนมา เพราะไม่ปกป้องและไม่รับรองสิทธิของชาวโรฮิงญา ทั้งยังเรียกประชากรกลุ่มนี้ว่า 'เบงกาลี' ซึ่งหมายถึงชาวบังกลาเทศที่ลักลอบเข้ามาอยู่อาศัยในรัฐยะไข่ สวนทางกับข้อมูลและหลักฐานของนักประวัติศาสตร์และนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ยืนยันว่าชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในพื้นที่รัฐยะไข่มาเป็นเวลานานแล้ว
ที่มา: Channel News Asia/ Reuters/ South China Morning Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: