ไม่พบผลการค้นหา
ช่วงปีที่ผ่านมา นางอองซาน ซูจี ถูกยึดรางวัลเกียรติยศคืนหลายรางวัล เนื่องจากเธอเพิกเฉยต่อการกดขี่และความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา โดยผู้ให้รางวัลต่างๆ เรียกร้องให้โนเบลยึดรางวัลคืนจากนางซูจีด้วย

สถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ที่ทวีขึ้นจนสหประชาชาติเรียกว่าเป็นการลบล้างเผ่า พันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหนีออกจากพื้นที่ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศมากกว่า 620,000 คน ทำให้ทั่วโลกเรียกร้องให้นางอองซาน ซูจี ออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในฐานะที่เธอเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเมียนมามาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จนได้เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งน่าจะมีอำนาจในการหยุดยั้งการกดขี่คนในประเทศได้ แต่เธอกลับเพิกเฉย และไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองเมียนมา ส่งผลให้ปีนี้เธอถูกริบรางวัลเกียรติยศที่เคยได้ไปแล้ว 5 รางวัล จากทั้งหมดกว่า 120 รางวัลที่เธอได้รับตลอดช่วงชีวิตของเธอ

1. รางวัลเสรีภาพแห่งเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดที่นางซูจีเพิ่งได้เมื่อกลางปี จากการต่อสู้ทางการเมืองจนได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยชุดแรกในรอบหลายทศวรรษของเมียนมา กลับถูกยึดคืนในเวลาไม่ถึง 6 เดือน โดยสภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดได้แถลงว่า การที่นางซูจีไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆ ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับชาวโรฮิงญา ทำให้สภาเมืองผิดหวัง และเห็นว่านางซูจีไม่เหมาะสมกับรางวัลเสรีภาพเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดอีกต่อไป เพราะอ็อกซ์ฟอร์ดให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและมีมนุษยธรรม ซึ่งการให้รางวัลอันทรงเกียรตินี้กับผู้ที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงทำให้ชื่อ เสียงของสภาต้องเสื่อมเสีย

2. ตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ London School of Economics นางซูจีได้รับรางวัลนี้จากสหภาพนักศึกษา LSE ในปี 1992 แต่เพิ่งถูกริบไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังสหภาพนักศึกษา LSE ลงมติให้ยึดรางวัลคืน เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์คัดค้านตำแหน่งปัจจุบันของนางซูจี และการเพิกเฉยต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมอธิบายว่า สภาพนักศึกษา LSE มีประวัติศาสตร์ยาวนานในการสนับสนุนความก้าวหน้าทางการเมือง และการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและความรุนแรง ซึ่งนางซูจีเคยเป็นสัญลักษณ์ของการยืนหยัดต่อสู้ การไม่ใช้ความรุนแรง และเสรีภาพ แต่การเพิกเฉยต่อความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

3. ปลดภาพถ่ายออกจากวิทยาลัยเซนต์ฮิวจ์ / นางซูจีเป็นศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของเซนต์ฮิวจ์คอลเลจ จึงมีภาพเธอแขวนอยู่ แต่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา วิทยาลัยตัดสินใจปลดรูปของเธอ และนำภาพศิลปะของนายโยชิฮิโระ ทะคะดะมาแขวนแทน โดยให้เหตุผลว่าวิทยาลัยไม่เชื่อว่าเธอไม่มีอำนาจมากพอที่จะคัดค้านไม่ให้ กองทัพเมียนมาปราบปรามชาวโรฮิงญา

4. ปลดชื่อนางซูจีออกจากห้องโถงกลางของเซนต์ฮิวจ์คอลเลจ เป็นผลจากการที่นักศึกษาปริญญาตรีร่วมโหวตให้ปลดชื่อเธอออก โดยพวกเขาแถลงว่า นางซูจีล้มเหลวในการประเินสถานการณ์สังหารหมู่ ข่มขืนหมู่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจแก้ตัวได้และไม่สามารถยอมรับได้ สะท้อนว่านางซูจีทำสิ่งตรงกันข้ามกับหลักการและอุดมคติที่เธอเคยรณรงค์มาก่อน

5. ปลดจากการเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของสหภาพการค้า Unison สหภาพการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอังกฤษ โดย Unison ได้มอบรางวัลให้นางซูจีระหว่างที่เธอยังถูกกักขังอยู่ในบ้านและต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยขณะที่เมียนมายังปกครองด้วยรัฐบาลทหาร แต่สหภาพปลดนางซูจีออกในเดือนกันยายน พร้อมเรียกร้องให้สถาบันอื่นๆ ที่มอบรางวัลลักษณะเดียวกันให้กับนางซูจีทั้งหมด โดยเฉพาะคณะกรรมการรางวัลโนเบล ริบรางวัลอันทรงเกียรติที่เธอไม่คู่ควร