ไม่พบผลการค้นหา
อดีตทูตสหรัฐฯ ประกาศลาออกจากคณะที่ปรึกษารัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับกรณีโรฮิงญา พร้อมระบุว่า อองซาน ซูจีไม่มีความเป็นผู้นำด้านศีลธรรม พร้อมวิจารณ์สุรเกียรติ์ เสถียรไทยว่า คอยแต่พูดเรื่องเท็จเกี่ยวกับหน่วยงานด้านมนุษยธรรมของนานาชาติ

นายบิล ริชาร์ดสัน อดีตทูตสหรัฐฯ ประกาศลาออกจากคณะที่ปรึกษารัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ขณะที่คณะที่ปรึกษาคนอื่นไปลงพื้นที่รัฐยะไข่กัน โดยนายริชาร์ดสันให้เหตุผลว่า คณะที่ปรึกษาพยายามลบล้างความผิดที่กองทัพเมียนมากระทำต่อชาวโรฮิงญา และเขาไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกองเชียร์รัฐบาลเมียนมา

นายริชาร์ดสันอธิบายต่อว่า ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา เขาได้ทะเลาะกับนางซูจี เนื่องจากเขาได้พูดถึงการดำเนินคดีผู้สื่อข่าว 2 คนของสำนักข่าวรอย เตอร์สในข้อหาครอบครองเอกสารลับเรื่องสถานการณ์ด้านความมั่นคงในรัฐยะไข่ ซึ่งได้จากการล่อลวงมาจากตำรวจ และนางซูจีโมโหมาก พร้อมระบุว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในขอบเขตของคณะที่ปรึกษาของนายริชาร์ดสัน

นายริชาร์ดสันยังรู้สึกตกตะลึงมากที่ความเห็นที่หนักแน่นเกี่ยวกับความขัดแย้งในรัฐยะไข่จากสื่อ สหประชาชาติ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนานาชาติถูกดูถูกดูแคลน และนางซูจีไม่ได้รับคำแนะนำที่ดีจากคณะที่ปรึกษา แม้เขาจะรู้จักนางซูจีมากว่า 30 ปี และเคารพเธอมาก แต่นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมาไม่มีความเป็นผู้นำด้านศีลธรรมในเรื่องความขัดแย้งในรัฐยะไข่และข้อกล่าวหาว่า กองทัพเมียนมากำลังลบล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา และเขารู้สึกเสียใจมาก

นอกจากนี้ นายริชาร์ดสันยังระบุว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งนั่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษานี้ไม่มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการแนะนำ เรื่องความปลอดภัยของชาวโรฮิงญา สิทธิพลเมือง สันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาชุมชน พร้อมกล่าวหาว่า นายสุรเกียรติ์ได้แต่ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเกี่ยวกับความเชื่อที่อันตราย และไม่เป็นความจริงว่า เอ็นจีโอนานาชาติว่าจ้างคนที่มีแนวคิดสุดโต่ง และหน่วยงานด้านมนุษยธรรมให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน หรือ ARSA โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สได้ติดต่อไปถามความเห็นของนายสุรเกียรติ์ในเรื่องดังกล่าว แต่นายสุรเกียรติ์ไม่ตอบรับ

ด้านนายถ่อง ตุน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเมียนมาให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์สว่า เขาได้พาคณะที่ปรึกษาคนอื่นๆไปลงพื้นที่รัฐยะไข่เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา แต่นายริชาร์ดสันไม่ยอมเดินทางไปด้วย โดยให้เหตุผลว่าไม่พอใจกับสถานการณ์ แต่เขาเองก็ไม่มั่นใจว่านายริชาร์ดสันไม่พอใจกับเรื่องอะไร เพราะการเยือนครั้งนี้เป็นเพียงขั้นเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่