ก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่ฟิลิปปินส์ในช่วงวันที่ 12-14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นานาชาติคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือประเด็นใหญ่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐฯอย่างการล็อบบีอาเซียนให้ร่วมกดดันเกาหลีเหนือ เป้าหมายหลักของฟิลิปปินส์อย่างการกระชับความร่วมมือด้านการต่อต้านก่อการร้าย ในฐานะที่ฟิลิปปินส์โดนภัยคุกคามจากเครือข่าย IS และเป้าหมายของชาติสมาชิกอาเซียนที่เป็นมุสลิมอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในการพูดคุยถึงทางออกการแก้ปัญหาโรฮิงญา
แม้ว่าประเด็นด้านความมั่นคงจะมีความคืบหน้าอยู่บ้าง แต่ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเรื่องการปราบปรามยาเสพติดอันนองเลือดในฟิลิปปินส์กลับถูกข้ามไปอย่างจงใจ ทั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำ และการหารือทวิภาคีระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ส่วนกรณีโรฮิงญาก็ไม่มีทางออกอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ
โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เปิดเผยว่ากรณีโรฮิงญาถูกพูดถึงในที่ประชุม โดยชาติสมาชิกอาเซียน 2 ชาติเป็นผู้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ และเมียนมาก็ได้กล่าวถึงปัญหานี้ในที่ประชุมเช่นกัน แต่ไม่มีการอธิบายรายละเอียดว่าประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเป็นเรื่องอะไร แม้จะค่อนข้างชัดเจนว่า 2 ชาติสมาชิกอาเซียนที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด คืออินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่พยายามมีบทบาทผลักดันให้รัฐบาลเมียนมายอมรับชาวโรฮิงญาในฐานะพลเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่ยืนยันว่าจะช่วยชาวโรฮิงญา โดยการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพูดในที่ประชุมอาเซียน
นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ซ้าย) พูดคุยกับนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา (กลาง) ระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิท มาเลเซียเป็นประเทศที่มีบทบาทนำในการเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายอมรับชาวโรอิงญา และยุติการลบล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบในประเทศ
ส่วนคำตอบที่เมียนมาให้กับชาติสมาชิกอาเซียน มีเพียงว่ารัฐบาลใส่ใจ และกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการทำตามคำแนะนำในรายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงในยะไข่ ที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นประธาน โดยรายงานของนายอันนันเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ให้สถานะพลเมือง และเลิกการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและศาสนา
ในการประชุมครั้งนี้ นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติ ยังได้แสดงความกังวลต่อปัญหาผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยย้ำว่าการอพยพของชาวโรฮิงญาหลายแสนคนจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศ เป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว และอาจกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของทั้งภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการชักจูงคนให้เข้าร่วมขบวนการสุดโต่ง ซึ่งจะซ้ำเติมภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่กำลังแพร่ระบาดในอาเซียน ซึ่งท่าทีของนายกูแตร์รีชสอดคล้องกับแถลงการณ์ของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ที่เพิ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในยะไข่ และเร่งดำเนินการตามคำแนะนำจากรายงานของนายอันนัน
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากสหประชาชาติ ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้นำอาเซียนมีจุดยืนใดๆร่วมกันได้ นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทด้วย ไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการใดๆเกี่ยวกับกรณีโรฮิงญา และร่างแถลงการณ์ร่วมของอาเซียนที่เขียนโดยฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการอ้างถึงกรณีความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา มีเพียงการระบุถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มมุสลิมสุดโต่งในมาราวีของฟิลิปปินส์ และในรัฐยะไข่ของเมียนมา
ค่ายผู้ลี้ภัยฮาคิม พารา ในเมืองอุกียา บังกลาเทศ นับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงระลอกล่าสุดเมื่อ 25 สิงหาคม 2017 มีชาวโรฮิงญาอพยพเข้าบังกลาเทศกว่า 600,000 คน กลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะที่การประชุมอาเซียนกำลังปิดฉากลงโดยไร้ความคืบหน้าเรื่องโรฮิงญา รัฐบาลบังกลาเทศเปิดเผยว่าได้เจรจากับเมียนมาคืบหน้าอย่างต่อเนื่องถึงขั้นตอนการส่งชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยเข้ามาในบังกลาเทศกลับบ้านเกิด โดยคาดว่าขั้นตอนการตรวจสอบและส่งกลับผู้ลี้ภัยจะเริ่มขึ้นได้ในเดือนธันวาคมนี้ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ที่จะถูกส่งตัวกลับจะมีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเมียนมายืนยันว่าผู้ที่จะกลับเข้าประเทศได้ ต้องมีเอกสารยืนยันว่ามีสัญชาติพม่า ซึ่งชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมออกให้ และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือยังไม่มีมาตรการใดๆรองรับว่าผู้ที่เดินทางกลับไป จะสามารถอยู่ในยะไข่ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
เคนเนธ รอธ ผู้อำนวยการใหญ่ของฮิวแมนไรท์วอช ทวีตข้อความเตือนอาเซียนว่า หลังจากรัฐบาลเมียนมาลบล้างชาติพันธุ์โรฮิงญากว่า 600,000 คนออกไปจากประเทศได้ในเวลาเพียง 2 เดือน ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะเอาชนะหลักการปิดปากเงียบของตัวเอง หันมาสนใจความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิก แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหมดในที่ประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ ตอกย้ำว่าหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ยังคงเป็นหลักการสำคัญที่ทุกประเทศเคารพ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แม้แต่อองซาน ซูจี ผู้ที่เคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 1999 วิพากษ์วิจารณ์อาเซียนที่ไม่ยอมแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ว่า "หลักการไม่แทรกแซง เป็นข้ออ้างของการไม่ช่วยเหลือเท่านั้น"
เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช