ไม่พบผลการค้นหา
เมียนมาและบังกลาเทศบรรลุข้อตกลงรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ โดยกำหนดกรอบเวลา 2 ปี จะต้องมีการส่งโรฮิงญากลับสัปดาห์ละ 1,500 คน ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนยังเป็นห่วงว่าชาวโรฮิงญาจะไม่ปลอดภัยเมื่อถูกส่งกลับไปยะไข่

รัฐบาลเมียนมาและบังกลาเทศตกลงส่งโรฮิงญากลับเมียนมาสัปดาห์ละ 1,500 คน เป็นเวลา 2 ปี ทำให้ภายในสิ้นปี 2019 จะมีชาวโรฮิงญาถูกส่งกลับไปเมียนมา 160,000 คน แม้ขณะนี้จะมีชาวโรฮิงญาลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศถึง 650,000 คนก็ตาม 

รัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศเปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่าบังกลาเทศต้องการให้เมียนมารับผู้ลี้ภัยกลับประเทศวันละ 3,000 คน หรือสัปดาห์ละ 15,000 คน แต่สุดท้ายเมียนมาก็ยอมรับเพียงแค่วันละ 300 คน หรือสัปดาห์ละ 1,500 คน แต่จะมีการพิจารณาแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนในการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับบ้าน หลังจากนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ถูกนานาชาติกดดันจนต้องเจรจากับบังกลาเทศ ยอมให้มีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและส่งตัวชาวโรฮิงญากลับเมียนมา แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ากระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อไหร่ เนื่องจากชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารแสดงความเป็นพลเมืองเมียนมา เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมออกให้ หรือถูกเผาทำลายไปตั้งแต่หนีภัยออกมาจากหมู่บ้านของตนเอง


000_Par7371139.jpg

ทหารพม่าตรวจการรอบๆหมู่บ้านโรฮิงญาในยะไข่ที่ถูกเผาทำลาย โดยผู้ก่อเหตุ คาดว่าเป็นชาวพุทธในละแวกดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังแสดงความกังวลว่ากระบวนการส่งกลับดังกล่าวอาจกลายเป็นการส่งชาวโรฮิงญากลับไปยังระบอบการปกครองที่กดขี่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา และยังเน้นย้ำว่าชาวโรฮิงญาที่ไม่อยากกลับไปเมียนมา จะต้องไม่ถูกส่งกลับโดยไม่สมัครใจ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังจากกองทัพเมียนมายอมรับเป็นครั้งแรกว่าทหารมีส่วนในการสังหาร "ผู้ก่อการร้ายเบงกาลี" 10 รายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในยะไข่ และยืนยันว่าทหารที่มีส่วนในการสังหารจะต้องถูกลงโทษ แม้ไม่ได้มีการระบุว่าทหารจะถูกทำโทษอย่างไร และไม่ยอมรับว่าทหารสังหารชาวโรฮิงญาผู้บริสุทธิ์ แต่กลับใช้คำว่าผู้ก่อการร้ายเบงกาลีแทน แต่นางซูจีก็ยืนยันว่าท่าทีดังกล่าวเป็นสัญญาณเชิงบวกจากกองทัพ