ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบน "พาราควอต" พร้อมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาหาวิธีการทดแทน หวั่นกระทบสุขภาพเกษตรกร-ผู้บริโภค

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร จำนวน 150 คน นำรายชื่อ 11,000 รายชื่อจากเว็บไซต์ change.org เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส สืบเนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุมีพิษอันตรายยังไม่มีมติยกเลิกการใช้สารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส 

20180605_Sek_10.jpg

เครือข่าย มองว่าการไม่ยกเลิกการใช้สารวัตถุอันตรายดังกล่าว จะทำให้เกิดอันตราย และอาจจะกระทบต่อสุขภาพแก่พี่น้องชาวเกษตรกร ผู้บริโภค รวมถึงกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยทางเครือข่ายฯจึงมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีด้วยกัน 3 ข้อ คือ

1.ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในเดือน ธ.ค.2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม

2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค

3. ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านก่อนจะมีการยกเลิกใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในช่วงปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของการเกษตร จะต้องเสนอให้กระทรวงการคลัง ต้องศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง มาเยียวยาผลกระทบให้เกษตรที่ปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่��สิ่งแวดล้อมด้วย 



20180605_Sek_11.jpg

ด้านนายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังจัดทำแผนจำกัดการนำเข้าวัตถุอันตรายมาใช้ในการเกษตร ภายใน 60 วัน และจะรับเอาข้อเสนอของทางเครือข่ายฯไปพิจารณา โดยจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชน มาศึกษาข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อยื่นไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนมติอีกครั้ง โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างแน่นอน ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และข้าราชการกรมวิชาการเกษตร นายกฤษฎา ขอให้เครือข่ายส่งหลักฐานมาเพื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบอีกครั้ง 

ทางด้านแกนนำเครือข่ายฯ กล่าวว่าอีก 60 วันจะกลับมาติดตามผลการทำงานของรัฐบาลโดยจะนำมวลชนจากแต่ละภาคทั่วประเทศมาด้วย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า วันนี้ข้อสรุปออกมาว่าจะให้เวลาเปลี่ยนแปลงภายในปี 2562 ว่าจะต้องมีแผนการลดพื้นที่มีการลดใช้ปริมาณสารเคมีลดการนำเข้า หรืออาจจะทำได้เร็วกว่านี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการและประชุมร่วมกันตลอดเพื่อติดตามความก้าวหน้า 

ข่าวเกี่ยวข้อง :