ไม่พบผลการค้นหา
เวทีวิชาการ "ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส" ระบุถึงเวลาทบทวนและปรับปรุงกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ชี้สร้างพิษสะสมต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคและเกษตรกร

สถาบันวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย เครือข่ายทางวิชาการจำนวนมาก และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดเวทีวิชาการเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส(Chlorpyrifos)” โดย ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้พาราควอตเป็นภัยมืด ที่สร้างพิษสะสมต่อร่างกายจากการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการใช้ หรือแม้กระทั่งผู้ที่อยู่ใกล้พื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก รวมถึงการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนและปรับปรุงกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต และการบริโภคอาหารเพื่อให้มีคุณภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น 


สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสารพิษและสารเคมี และมลพิษ ที่แม้แต่เด็กแรกเกิดที่เพิ่งลืมตาดูโลก ก็ต้องได้รับความเสี่ยงที่ตัวเองไม่ได้ก่อ


รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ไม่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น ที่จะมีโอกาสได้รับสารเคมีเหล่านี้ เพราะการใช้พาราควอตและไกลโฟเซตพ่นลงในดินเพื่อทำการเกษตรนั้น เมื่อมีการใช้สารเคมีต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้สารอินทรีย์ในดินไม่สามารถดูดซับได้ สารเคมีเหล่านั้นจะถูกชะล้างออกจากดินไปสู่น้ำใต้ดินและแหล่งน้ำ ทำให้พืชดูดซับสารเคมีเหล่านี้ไปสะสมในลำต้นได้ และเมื่อเข้าสู่ระบบลำต้นพืช จะไม่สามารถล้างออกได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมาระบุว่า พบพาราควอตตกค้างในอาหาร เช่น แป้ง อาหารเด็ก ฯลฯ อีกด้วย ดังนั้นผู้บริโภคทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับสารเคมีไม่ต่างจากเกษตรกร 

นอกจากนี้ รศ.ดร.พวงรัตน์ ยังระบุด้วยว่า ในประเทศมาเลเซียเคยมีการแบนพาราควอตไปแล้ว แต่กลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ยังมีการควบคุมการใช้ ทำให้การใช้พาราควอตลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่มีการใช้พาราควอต โดยมีเทคนิคการปลูกพืชที่ไม่ใช้สารเคมีทดแทน นอกจากนี้ยังมีมาตรการของภาครัฐที่คุมเข้มถึงแปลงปลูกผัก หากมีสารเคมีตกค้างรัฐบาลจะไม่รับซื้อทั้งล็อต ดังนั้นหากตั้งคำถามว่าถ้าไม่ใช้พาราควอตจะใช้สารเคมีอะไรทดแทน หรือจะใช้วิธีการปลูกพืชอะไร ตนมองว่าจะต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ 

ด้าน รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า มีผลการศึกษาที่ระบุว่า สารเคมีปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะพาราควอตนั้นส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ หากผ่านเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้างอนุมูลอิสระตลอดเวลา หากสูดดมเข้าปอดสามารถทำให้เซลล์ปอดตายได้ ความเป็นพิษเฉียบพลันคือ ทำให้ปอดเกิดความเสียหาย และเป็นพังผืด ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ และที่สำคัญเป็นสารพิษที่ไม่มียาถอนพิษ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีการประชุมเพื่อชี้ขาดว่าจะแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจะจำกัดการใช้ไกลโฟเซตหรือไม่ ในวันพุธที่ 23 พฤษภาคมนี้ เวลา 9.30-14.30 น. ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

Photo by Arnaldo Aldana on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: