ไม่พบผลการค้นหา
กรรมการเสียงข้างน้อย 'บอร์ดวัตถุอันตราย' ท้อ ข้อเสนอยกเลิก 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส -ไกลโฟเซต' ถูกปัดตก บอร์ดไม่ยกเลิกแต่ให้จำกัดการใช้ ยิืนยันผลศึกษาทางวิชาการชี้อันตรายต่อเกษตรกร-ผู้บริโภค ต้นเหตุโรคพากินสัน-สมองเสื่อม

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้ ได้มีการลงมติการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งตนในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อยลงมติให้ยกระดับการควบคุมให้เป็น วอ.4 คือยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ตัว 

พร้อมกับยืนยันในที่ประชุมก่อนลงมติว่า ตามมาตรา 12 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่ระบุว่า "การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ... กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น" แต่ปรากฏว่า ไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสีย และไม่มีกรรมการท่านใดสละสิทธิ์ในการลงคะแนน

ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมได้มีข้อมูลเอกสารรายงานของอนุกรรมการเฉพาะกิจและภาคผนวก ซึ่งเป็นรายละเอียดของข้อมูลทางวิชาการ ประกอบข้อมูลทางวิชาการจากประชาคมวิชาการและเครือข่ายนักวิชาการ 14 หน่วยงาน อาทิ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่แสดงให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพ และกลไกที่ชัดเจนในการอธิบายความเป็นพิษ 

เอ็นจีโอ ย้ำกม.พันธุ์พืชใหม่ เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ 

ตนจึงยืนยันในที่ประชุมว่า สารทั้ง 3 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร ซึ่งทำให้เกิดโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อม โดยเฉพาะผลต่อเด็กและทารก โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไร้ท่อ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจน ทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกร เนื่องจากมีการใช้สารทั้ง 3 นี้จำนวนมาก และสามารถตรวจพบทั้งในผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณายกเลิกการใช้สารทั้ง 3 โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า 

พร้อมกับเสนอว่า ในส่วนที่ยังไม่ยกเลิก ให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และประเมินผลการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด 

"เนื่องจากดิฉันเป็นเพียงกรรมการเสียงข้างน้อย จึงได้ทำความเห็นประกอบความเห็นในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ถึงข้อมูลวิชาการที่สนับสนุนโดยละเอียด" 

ทั้งนี้ รศ.ดร.จิราพร ได้แสดงความเห็นด้วยการออกเอกสารแนบรายงานการประชุม โดยระบุว่า เห็นควรยกระดับการควบคุมให้พาราควอต (Paraquat) เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 โดยให้มีผลในอีก 1 ปี ข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบัน พาราควอตถูกจัดเป็น วัตถุอันตรายประเภทที่ 3 หมายความว่า มีการควบคุมและจำกัดการใช้ แต่ก็ยังปรากฏปัญหาการเข้าถึงที่ง่าย มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย และก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ


ดังนั้น ในหลายประเทศจึงจัดการความเสี่ยง โดยการยกเลิกการใช้ ซึ่งปัจจุบันมี 51 ประเทศ แบ่งเป็น ทวีปเอเชีย 9 ประเทศ (ในจำนวนนี้มีประเทศกลุ่มอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว) ทวีปยุโรป 31 ประเทศ และทวีปแอฟริกา 11 ประเทศ


รศ.ดร.จิราพร ยังระบุในเอกสารดังกล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ (scientific evidences) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างๆ ตลอดจนข้อมูลวิจัยจากมหาวิทยาลัยในประเทศ ที่เชื่อมโยงความเป็นพิษเฉียบพลันสูง และพิษระยะยาวของพาราควอต ซึ่งเป็นข้อมูลที่มากเพียงพอ ที่ประเทศไทยควรจัดการความเสี่ยงจากพาราควอต โดยใช้หลักป้องกันเอาไว้ก่อน (precaution approach) ซึ่งเป็นหลักการข้อที่ 15 ที่ได้รับการรับรองภายใต้คำประกาศขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ( The Rio Declaration from the UN Conference on Environment and Development : Principle 15) และการปกป้องสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ มาตราที่ 24 ให้เด็กได้รับการคุ้มครองภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สนับสนุนการยกเลิกการใช้ โดยเฉพาะพบการตกค้างของพาราควอตในทารก

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และข้อมูลที่ชัดเจนว่าในการยกเลิกการใช้พาราควอตไม่กระทบต่อการเกษตรกรรม กลับทำให้ผลผลิตดีขึ้น และมีความปลอดภัยด้วย 

พร้อมกับนำเสนอข้อดีและข้อเสียของการยกเลิก 

ข้อดี

  • เป็นมาตรการที่สามารถหยุดการใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
  • สนับสนุนนโยบายประเทศในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และเพิ่มมูลค่า (Value added) สินค้าเกษตรส่งออกของไทย 
  • ใช้เวลา 1 ปี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรในการใช้มาตรการอื่นหรือสารทดแทนที่ปลอดภัยกว่าในการกำจัดวัชพืช
  • ลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในการรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากพาราควอต และผลระยะยาวต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลต่อสมอง

ข้อเสีย

  • อาจมีการลักลอบจำหน่าย ถ้ากระทรวงเกษตรฯไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย
  • ในกรณีใช้สารทดแทนอาจมีราคาสูงขึ้นในช่วงแรก แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับความเป็นพิษและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขคุ้มค่ากว่า

กรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิก แต่จำกัดการใช้

ด้านนายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติ ไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 รายการดังกล่าว แต่ให้จำกัดการใช้อย่างเข้มงวดกว่าเดิม โดยจะให้กรมวิชาการเกษตรเสนอมาตรการควบคุม กำกับสารเคมี อาทิ กำหนดให้จำหน่ายในสถานที่กำหนด กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้ และผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ต้องเป็นผู้การฝึกอบรมเท่านั้น เป็นต้น

ทั้งนี้ วันนี้ (23 พ.ค.) คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีประชุมวาระเรื่องการพิจารณายกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สารเคมีทางการเกษตรกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตราย ตามความเห็นของกระทรวงสาธาณสุข และได้นำข้อมูลของทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ แพทย์ รวมทั้งงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาพิจารณาอย่างรอบด้าน

ข่าวเกี่ยวข้อง :