ไม่พบผลการค้นหา
5 ภาคส่วนการเกษตรแนะรัฐบาลทางออกของชาติ ปมความปลอดภัยทางการเกษตร หลังจากการนำเสนอข้อมูลผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ขาดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ได้สร้างความตื่นตระหนก และไม่มั่นใจในการบริโภค ซึ่งส่งกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยกว่า 10 ล้านราย

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง สภาหอการค้าไทย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนักวิชาการเกษตร จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง ‘ทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร’ หลังพบว่า การนำเสนอข่าวในแง่ลบ ไม่รอบด้าน และขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยมากกว่า 10 ล้านราย ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ ขายไม่ออก ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทั่งลุกลามไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศสูญรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท

ที่ผานมา ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปมากกว่า 200 ประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท แต่จุดอ่อนของเกษตรกรรมไทย ต้องประสบปัญหาการคุกคามจากศัตรูพืชตลอดทั้งปี ดังนั้น การเลือกใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ถือเป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด แต่ในทางกลับกัน สารเคมีที่เกษตรกรใช้เป็นอาวุธป้องกันผลผลิต กลับถูกมองเป็นจำเลยสังคม

ดร. นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชวีภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า เพราะการนำเสนอข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และไม่ครบถ้วน สมาคมฯ จึงจัดจัดเสวนาฯ เพื่อเป็นการเสนอทางออกผ่านมุมมองของนักวิชาการ โดยคำนึงถึงบริบททางสังคม วิทยาศาสตร์ ความเป็นไปได้ ณ ปัจจุบัน ในการพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้สามารถเติบโตบนความยั่งยืน

“ปัจจุบันข่าวสารตามสื่อต่างๆ มักเกิดความคลาดเคลื่อนมาก และเป็นจริงน้อย โดยเฉพาะข่าวสารเกี่ยวกับสารเคมี ซึ่งส่งผลกระทบมากต่อตัวผู้บริโภค และผู้ผลิตอาหาร ตั้งแต่กลุ่มเพาะปลูกไปยังกลุ่มแปรรูป หลายคนอาจบอกว่า นั่นเป็นข้อมูลจากความเป็นจริง แต่บางครั้งมันเป็นความจริงที่บอกไม่หมด หรือจริงครึ่งเดียว ส่วนข่าวดีๆ เกี่ยวกับเกษตรกรก็มักไม่ค่อยถูกนำเสนอผ่านสื่อ” ดร. นิพนธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย

ด้านตัวแทนเกษตรกรไทย สุกรรณ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาได้พยายามสร้างความรู้ และความเข้าใจให้แก่กลุ่มต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกร สังคม และภาครัฐ ในประเด็นความปลอดภัยทางการเกษตร และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ แต่บางหน่วยงานกลับให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

“นับเวลาร่วม 1 ปี ที่เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหามาต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เกิดการปฏิเสธรับสินค้า สินค้าราคาตก จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยต้องคิดถึงเกษตรกรเป็นลำดับแรก” สุกรรณกล่าว

รศ. ดร. นุชนาฏ จงเลขา ผู้อำนวยการศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง เสริมข้อมูลเรื่องมาตรฐานการผลิตว่า ผลผลิตของโครงการหลวงมาตรฐานสูง เกษตรกรทุกรายต้องผ่านกระบวนคัดสรร และปฏิบัติตามกฎของโครงการ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มสมาชิกเกษตรกรโครงการถูกปฏิเสธการรับซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อมูลต่างๆ บนพื้นฐานด้านวิชาการ มีความรู้ ความชำนาญ และการตรวจสอบ ควรใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์

“การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบ ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ผลิต และการส่งออก ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบ จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ” รศ. ดร. นุชนาฏ แสดงความคิดเห็น

ทางฝั่ง ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางการเกษตร เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร กลุ่มพ่อค้าคนกลาง ภาครัฐ และประชาชน

“หลายคนไปวางภาพให้สารเคมีเป็นศัตรูตัวร้าย ทั้งที่จริงๆ ในทุกวัน ชีวิตคนเราต้องเผชิญกับสารเคมีอยู่แล้ว แต่ต้องรู้จักป้องกัน หรือรู้จักใช้ ปัจจุบันเราอยู่บนโลกของวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากสารเคมี การใช้อย่างถูกต้องจะไม่มีผลต่อความปลอดภัย และการตกค้างในผลผลิต”

อย่างไรก็ตาม จากข่าวการปนเปื้อนของสารกำจัดวัชพืชที่ว่า พบสารพาราควอตปนเปื้อนในผักมากมาย แต่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ความเป็นจริงยังไม่เคยมีประเทศคู่ค้าตีกลับสินค้า เนื่องจากการปนเปื้อนพาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นๆ ดังนั้น การนำเสนอข่าวจะส่งผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่น และการส่งออกของประเทศ

ขณะเดียวกัน วงเสวนาได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบควรพิจารณากำหนดแนวทาง เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของภาคเกษตร อาทิ 

1. ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ เรื่องมาตราฐานการผลิต และการใช้อย่างปลอดภัย 

2. ภาครัฐต้องมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร ผลผลิต และรายงานผล เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น 

3. การจะยกเลิกสารเคมีที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานของเกษตรกร เช่น พาราควอต ต้องพิจารณาด้วยความรอบครอบ ควรแนะนำเกษตรกรให้ใช้พาราควอตอย่างถูกต้องมากกว่าการยกเลิก 

4. การเสนอข่าวในแง่ลบ โดยไม่พิจารณาให้รอบครอบ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และการส่งออกทันที จึงขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะการตรวจสอบเรื่องสารตกค้างต้องเป็นผู้ชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ และการตรวจสอบต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์ถึงจะน่าเชื่อถือ