ไม่พบผลการค้นหา
ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ไทยเป็นข่าวโด่งดังจากกรณีที่หญิงชาวซาอุดีอาระเบียถูกกักตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อส่งกลับประเทศ ระหว่างการเปลี่ยนเครื่องไปยังออสเตรเลีย แต่ช่วงปีที่ผ่านมา ไทยได้จับกุมและส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศไปหลายกรณี โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน

กรณีของราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน หญิงชาวซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปีที่หนีจากครอบครัวที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเธอ แต่กลับถูกยึดพาสปอร์ตและกักตัวระหว่างการเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกจากเทรนด์ #SaveRahaf จนทำให้ทั้งคนไทยและต่างชาติตั้งคำถามกับนโยบายผู้ลี้ภัยของไทย

กรณีของราฮาฟไม่ใช่กรณีแรกที่ไทยพยายามจะส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แม้พวกเขาอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม แต่ช่วงปีที่ผ่านมา ไทยมีมาตรการเข้มงวดมากในการปราบปรามผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกที่มาอาศัยหรือแม้แต่แวะมาที่ไทย

การจับกุม ตั้งข้อหา และส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศในรอบ 1 ปีของไทย

8 ก.พ. 2018 : ส่งตัวซัม เสิกขากลับกัมพูชา

ซัม เสิกขาเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง หลังปารองเท้าใส่รูปฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่กระทรวงต่างประเทศระบุว่า ตรวจสอบแล้วว่าการส่งตัวซัมกลับประเทศจะไม่เป็นอันตรายกับเธอ จึงไม่ขัดกับหลักการ Non Refoulement หรือการไม่ส่งตัวกลับ กรณีที่อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม

28 ส.ค. 2018 :  ผู้ลี้ภัยกัมพูชาและเวียดนามถูกจับอย่างน้อย 168 คน

ชาวคริสต์จากเวียดนามและกัมพูชา รวมถึงชาวมองตานญาด หลบหนีการกดขี่ทางการเมืองและศาสนามาจากกัมพูชาและเวียดนาม แต่ทางการไทยละเลยผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง โดยบุกแหล่งที่อยู่อาศัยจับกุมผู้ลี้ภัยจากเวียดนามและกัมพูชาอย่างน้อย 168 คน

11 ต.ค. 2018 : ตั้งข้อหาชาวปากีสถาน 70 คน

ชาวปากีสถานนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม นิกายอาห์มาดียา ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในปากีสถานมักถูกกวาดล้างในประเทศ จึงได้หลบหนีมาไทย เพื่อหาทางไปประเทศที่ 3 ต่อไป แต่ช่วงปีที่ผ่านมา ชาวปากีสถานถูกจับกุมหลายรอบ จนวันที่ 11 ต.ค. ทางการไทยตั้งข้อหาชาวปากีสถาน 70 คนในข้อหาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและอาศัยในไทยเกินกำหนดวีซ่า พร้อมกล่าวหาว่าพวกเขาจัดตั้งกลุ่มลักลอบนำชาวปากีสถานเข้าไทย

ต.ค. 2018 : จับผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย 100 คนและเด็ก 30 คน

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 'Fortify Right' ระบุว่า หลายคนกำลังรอผลการยื่นคำร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และกำลังรอการส่งตัวไปประเทศที่ 3 โดยผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวปากีสถานที่ถูกกดขี่ทางศาสนา ชาวโซมาเลียและชาวซีเรียที่หนีสงครามกลางเมือง โดยคาดว่ามีผู้ใหญ่ประมาณ 100 คน และเด็ก 30 คน

27 พ.ย. 2018 : จับกุมฮาคีม อัลอาไรบี เตรียมส่งกลับบาห์เรน

ฮาคีม อัลอาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน วัย 25 ปี กลายเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง หลังพี่ชายมีส่วนร่วมกับการประท้วงอาหรับสปริงส์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ฮาคีมมาถึงไทยแล้วเขาถูกจับกุมและส่งไปยังห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สวนพลู แม้เขาจะได้สถานะผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลียแล้ว

ในวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพมีคำตัดสินขยายเวลากักตัวฮาคีมออกไปอีก 60 วัน และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินเรื่องส่งตัวฮาคีมกลับประเทศบาห์เรนต่อไป 

5 ม.ค. 2019 : ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน ถูกกักตัวและเตรียมส่งกลับประเทศ

ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลกุนุน หลบหนีจากครอบครัวที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเธอ โดยเธอมีจุดหมายว่าจะไปยังออสเตรเลีย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดพาสปอร์ตระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 5 ม.ค. แม้เธอจะมีวีซ่าออสเตรเลียแล้ว ตอนแรกเธอมีกำหนดจะถูกส่งตัวกลับช่วงเช้าของวันที่ 6 ม.ค. แต่เมื่อ #SaveRahaf ได้รับการสนใจไปทั่วโลก ทางการไทยจึงเปลี่ยนท่าที และให้เธอพบกับ UNHCR เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย พร้อมยืนยันว่าจะไม่ส่งเธอกลับคูเวตหรือซาอุดีอาระเบีย

หมายเหตุ : ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ และข้อมูลจากาำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่แยกระหว่างผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายกับผู้ลี้ภัย

ทำไมไทยจับกุมผู้ลี้ภัยและส่งกลับประเทศ?

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุตัวเลขผู้ลี้ภัยในเมือง มีประมาณ 6,000 คน ซึ่งเป็นเด็กมากกว่า 2,000 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ โดยมีจำนวนร้อยละ 55 มาจากปากีสถาน รองลงมาเวียดนามร้อยละ 10 ปาเลสไตน์ ที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 30 มาจากโซมาเลีย ซีเรีย อิรัก ศรีลังกา กัมพูชา จีน อิหร่าน และอื่น ๆ โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังรอโอกาสที่จะได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศที่สาม แต่โอกาสมีน้อยมาก ในปี 2561 มีผู้ลี้ภัย จากไทยไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพียงร้อยละ 5.5 จากจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 และเมื่อไทยไม่รับรองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย จึงทำให้ผู้ที่ได้รับบัตรผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และผู้กำลังขอสถานะผู้ลี้ภัยก็ยังถือเป็นบุคคลผิดกฎหมาย โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือข้อหาอยู่ในประเทศเกินกำหนดวีซ่า

แม้ไทยจะไม่ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่เมื่อปี 2016 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยเองเพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์และสนับสนุนหลักการไม่ส่งกลับ กรณีที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หรือถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม (Non Refoulement) แต่หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ให้คำมั่นสัญญา ไทยก็ยังส่งตัวผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยการเมืองกลับประเทศ หรืออยู่ในกระบวนการส่งตัวกลับหลายกรณี

ห้องกักในตม.สภาพย่ำแย่

การกวาดล้างคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการปราบปรามผู้ลี้ภัยอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงหลังเดือนก.ย.ปี 2018 ที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่มีการจับกุมผู้อพยพและผู้ลี้ภัยหลายร้อยคน ส่งผลให้ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สวนพลูมีสภาพแออัด

ผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานที่เคยอยู่ในห้องกัก เปิดเผยว่า ห้องกักค่อนข้างแออัด สุขอนามัยย่ำแย่ ไม่เหมาะสมจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เลย ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เคยเปิดเผยว่า ปี 2017 มีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตในห้องกักกว่า 10 คน จากโรคเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง

ด้านองค์กร Save The Children ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากต้องอยู่ในห้องขังของสตม. เพราะพ่อแม่ถูกคุมขัง ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ ส่วนเด็กชายที่ถูกกักแยกจากผู้ปกครองมักถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย

ขณะที่รัฐบาลไทยยังได้สัญญาในการประชุมครั้งนั้น อีกว่าจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิดให้มากขึ้น แต่ Save The Children ระบุว่า ในความเป็นจริงจากการลงพื้นที่ พบว่าเด็กๆ ยังถูกละเมิดสิทธิและถูกปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในหลากหลายกรณี