ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันว่าการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชากลับประเทศเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจของทั้งสองประเทศ ย้ำไทยให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่ก่อนหน้านี้ ยูเอ็นระบุว่า กำลังรอคำชี้แจงเพิ่มเติมจากทางการไทย

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงตอบโต้องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ซึ่งออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. กรณีที่มีการส่งตัว น.ส. แซม โสกา ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชา กลับประเทศต้นทาง เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา แม้ว่า แซม โสกา จะได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้วก็ตาม โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวของไทย เข้าข่ายละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) เพราะอาจทำให้บุคคลที่ถูกส่งกลับมีความเสี่ยงจะถูกปราบปราม ทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

โดยกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า การส่งตัว แซม โสกา กลับประเทศ เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ของไทย และเป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ โดยหลักการแล้ว ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อหลักสิทธิมนุษยชนและกฎ non-refoulement แม้ประเทศไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัย

"ดังนั้น ก่อนการส่งตัวกลับ เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้วว่าการส่งตัว น.ส. ซัม เสิกขา กลับไปกัมพูชา จะไม่เป็นภัยต่อบุคคลดังกล่าว" น.ส.บุษฎี กล่าว

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชา รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ ฮันนาห์ แม็คโดนัลด์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศของยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำประเทศไทย ยืนยันว่า ทางการไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชากลับประเทศจริง และยูเอ็นเอชซีอาร์ได้ติดต่อประสานงานเพื่อขอความกระจ่างเพิ่มเติมจากทางการไทย พร้อมเรียกร้องให้มีการไต่สวนว่าการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะยูเอ็นเอชซีอาร์ได้เน้นย้ำกับรัฐบาลทุกประเทศตลอดมาว่าให้เคารพในหลักการไม่ส่งกลับ เพราะอาจทำให้ผู้ถูกส่งตัวกลับภูมิลำเนาถูกละเมิดสิทธิและเป็นอันตราย

ทั้งนี้ แซม โสกา เป็นผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่เธอปารองเท้าใส่รูปของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และมีผู้นำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ทำให้ทางการกัมพูชาออกหมายจับเธอในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” และ “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” ตามมาตรา 494 , 496 และ 502 ของประมวลกฎหมายอาญากัมพูชา ส่งผลให้เธอต้องหลบหนีจากกัมพูชาเพื่อมาลี้ภัยในประเทศไทย และได้เข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการจากยูเอ็นเอชซีอาร์


AP18040282454816.jpg

(UNHCR ยืนยันว่า แซม โสกา ถูกทางการไทยส่งตัวกลับไปยังกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา)

สื่อกัมพูชารายงานอ้างอิงคำแถลงของ เกิด จันทาริท โฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชาเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า แซม โสกา ถูกตำรวจไทยส่งกลับประเทศในข้อหาอยู่เกินกำหนดวีซ่า และเธอจะต้องเข้ารับการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายกัมพูชา ขณะที่ เขียว โสเพียก โฆษกกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา กล่าวว่า แซม โสกา ถูกส่งตัวไปพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดกัมปงสะเปอ แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นอกจากนี้ เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยแห่งเอเชียแปซิฟิก (APRRN) ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลกัมพูชาที่ดำเนินคดีและกดดันให้มีการนำตัวแซม โสกา กลับประเทศ เนื่องจากข้อกล่าวหาที่เธอได้รับเป็นข้อหาทางการเมือง และก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาได้ออกคำสั่งจับกุมและตั้งข้อหาผู้เห็นต่างจากรัฐบาล รวมถึงยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทำให้สมาชิกพรรคการเมืองหลายรายต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยฯ ระบุด้วยว่า การกระทำของทางการไทยที่ยินยอมให้มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทาง ทำให้เกิดความถดถอยด้านการปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัยในภูมิภาค และไทยควรแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว ซ่ึงไม่ต่างจากการกวาดปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม และแม้ว่าไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยฯของสหประชาชาติ แต่ก็ต้องเคารพหลักการสากลว่าด้วยการไม่ส่งกลับ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ารัฐบาลมาเลเซียกำลังพิจารณาส่งตัวชาวอุยกูร์ 11 รายที่หลบหนีจากห้องขังในประเทศไทยไปยังมาเลเซียช่วงปลายปีที่แล้วให้กับรัฐบาลจีน หลังจากจีนได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการมายังรัฐบาลมาเลเซียเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ฮิวแมนไรท์วอทช์และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์คัดค้าน ไม่ให้มีการพิจารณาส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 11 คนกลับไปให้จีน โดยอ้างถึงหลักการไม่ส่งกลับเช่นกัน

ที่มา Al-jazeera, Phnompenhpost, Channel News Asia

อ่านเพิ่มเติม