ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงทางการไทย แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างน้อย 168 คนจากกัมพูชาและเวียดนามในประเทศไทย และกระตุ้นทางการไทยให้ปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีระหว่างรอการตรวจสอบคำขอลี้ภัยจาก UNHCR

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยชาวมองตานญาดโดยทันที ระหว่างรอการตรวจสอบคำขอลี้ภัย รวมทั้งไม่ควบคุมตัวเด็ก ยุติการบังคับแยกตัวเด็กจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลไม่ว่าในเงื่อนไขใดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง และเรียกร้องทางการไทยพัฒนาแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทยต่อไป

นายมินาร์ พิมเพิล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการระดับโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อการควบคุมตัวและการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างน้อย 168 คนจากกัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งชาวเขามองตานญาด ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่หลบหนีจากการประหัตประหารทางการเมืองและศาสนามาจากกัมพูชาและเวียดนามเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อมูลว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุม ประกอบด้วยเด็กอย่างน้อย 63 คน ตั้งแต่อายุสามเดือนจนถึง 17 ปี รวมทั้งผู้หญิงตั้งครรภ์สองคน ผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวหลายคนให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว และได้แสดงบัตรผู้ลี้ภัยให้กับเจ้าหน้าที่ไทย ส่วนคนอื่นๆ ถือบัตรผู้ขอลี้ภัย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมอ้างว่าไม่มีบุคคลที่ได้รับสถานะจาก UNHCR แต่อย่างใด

“แม้ว่านายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติ สำหรับผู้ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัยในประเทศไทย ในระหว่างการปราศรัยในที่ประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัยเมื่อเดือนกันยายน 2559 และต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องเดียวกันเมื่อเดือนมกราคม 2560 แต่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถปฏิบัติให้เห็นผลจริงจังตามคำสัญญาดังกล่าว”

ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงขอกระตุ้นและเรียกร้องทางการไทยดังนี้

  • จนกว่ารัฐบาลไทยจะจัดทำกระบวนการตรวจสอบการขอที่ลี้ภัยที่เป็นธรรมและรวดเร็ว ขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ UNHCR ในการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยของบุคคลทุกคนที่ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัย ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือเป็นชนเผ่าใด และประกันว่าผู้แสวงหาที่ลี้ภัยทุกคนเข้าถึงกระบวนการขอที่ลี้ภัยอย่างเต็มที่ เป็นธรรม และอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ประกันว่า จะใช้มาตรการควบคุมตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยเป็นมาตรการสุดท้ายและเฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังการประเมินเป็นรายกรณีเพื่อให้ทราบถึงความต้องการด้านมนุษยธรรมและความเสี่ยงกรณีที่ได้รับการปล่อยตัว และให้ควบคุมตัวเป็นระยะเวลาสั้นสุดเท่าที่จำเป็น
  • จัดทำทางเลือกอื่นนอกจากการควบคุมตัวสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมารายงานตัว ให้มีการยื่นเรื่องขอประกันตัว หรือให้มีผู้อุปถัมภ์
  • ประกันว่าจะไม่มีการควบคุมตัวเด็กเพียงเพื่อเพราะเหตุผลด้านการเข้าเมือง เนื่องจากการควบคุมตัวเช่นนี้ย่อมไม่อาจตอบสนองประโยชน์สูงสุดของเด็ก ยุติการบังคับแยกตัวเด็กจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล ไม่ว่าในเงื่อนไขใดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง
  • ไม่ส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน ถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรืออาจถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน
  • ให้ภาคยานุวัติกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 และประกันว่า มีการอนุวัติตามอนุสัญญานี้ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ รวมทั้งการจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติสำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย

ทั้งนี้ ชาวมองตานญาดเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามและกัมพูชา ถือได้ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากสุดในเวียดนาม ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาและการเมืองของตน การอพยพโยกย้ายและสูญเสียทรัพย์สินอันเป็นผลมาจากข้อพิพาทด้านที่ดินและการแย่งชิงที่ดิน ส่งผลให้พวกเขาจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในกัมพูชา รัฐบาลเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าชาวจราย ซึ่งถือว่าเป็นชนเผ่ามองตานญาดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา และถือเป็น “ชนกลุ่มน้อยของเวียดนาม” ชาวเขามองตานญาดจากเวียดนามกว่าร้อยคนได้แสวงหาที่ลี้ภัยในกัมพูชา และถูกผลักดันส่งกลับไปยังเวียดนาม หากถูกส่งกลับไปเวียดนาม มีความเสี่ยงอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะถูกประหัตประหารและถูกจำคุกโดยไม่มีเวลากำหนด



Photo by Mitch Lensink on Unsplash