ไม่พบผลการค้นหา
'ต้น Dezember' หรือ ภัทร ชุมทอง มือกีต้าร์วงดนตรีแนวเมทัลชั้นนำของไทย เปิดใจถึงสาเหตุที่ออกมาสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จากที่เคยเป็นคนคลั่งมาก่อน

ก่อนที่นักศึกษา-ประชาชนจะลุกฮือลงถนนขับไล่รัฐบาลเผด็จการ และกลายมาเป็นกลุ่ม 'ราษฎร' ในปัจจุบัน 'ต้น' ภัทร ชุมทอง มือกีต้าร์วงดนตรีเมทัลชั้นนำของไทยวง Dezember วงดนตรีที่ทำเพลงเนื้อหาเกี่ยวกับ "ความตาย" "สงคราม" "การเมือง" "สังคม" "ศาสนา"

แต่ประเด็นหลัก 'ต้น' ปกธงไปที่การโจมตีนักการเมือง คือต้นเหตุแห่งปัญหาสังคมไทย - เข้าทางวาทะ "นักการเมืองเลว"

ไม่แปลกที่วงของเขาจะขึ้นเล่นดนตรีบนเวทีของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2556 - 2557 แต่พอรัฐประหาร คสช. และลากยาวมาถึงปัจจุบัน เขาค่อยๆ เติบโตเรียนรู้ มองปัญหาบ้านเมืองเลยหลังนักการเมืองไปถึงใจกลาง หรือ "ช้าง" ที่อยู่ในห้อง

แต่วินาทีนี้ จุดยืนทางการเมืองของเขาจากคนปกป้องสถาบันกษัตริย์ หันธงมาสู่การสนับสนุนปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

เหตุผลที่ทำให้มือกีต้าร์ผู้พร้อมพลีชีพเพื่อสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปคืออะไร

เขาทบทวนตัวเองและเรียนรู้สังคมไทยอย่างไร


คลั่งเจ้าพร้อมพลีชีพ

“ที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี พูดง่ายๆ คือ คลั่งเจ้า” ต้นตอบสั้นๆ เมื่อถามว่าทำไมถึงเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.

ไม่ว่าจะเป็นใคร หน้าไหน ถ้าเขารู้ว่าพูดอะไรที่ส่อเหมือนว่าจะวิจารณ์จนทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย เขาพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้เพื่อปกป้อง

ต้นเล่าว่า มีครั้งหนึ่งช่วงที่คลั่งเจ้าอย่างหนัก เพียงแค่ได้ยินนักการเมือง นักวิชาการฝ่ายซ้าย หรือพวกที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้าวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ออกทีวี หรือในโลกออนไลน์ เขาจะรู้สึกโกรธแค้นจนตัวสั่น พร้อมสบถคําหยาบ สาปแช่ง ถึงโคตรเหง้าต่างๆ ออกมาในใจ

1379912_10203225802389509_1010203802_n.jpg

“เกือบจะไปถึงขั้นพลีชีพเพื่อปกป้องได้เลยนะที่ผ่านมา” เขาพูดสีหน้าจริงจัง แล้วกล่าวต่อว่า “แต่ก็อย่างว่า พอเขาโกรธมากๆ ปัญญาและสติก็ไม่เกิด”

ต้นสารภาพว่าเขาพร้อมที่จะทำอะไรที่ขาดสติได้เสมอ และเขาจะไม่ฟังเหตุผลของคนที่วิจารณ์สถาบันฯ ด้วย ทั้งที่แต่ละคำ แต่ละประโยคที่คนเหล่านั้นพูดออกมา มันเต็มไปด้วยเหตุด้วยผลที่ฟังขึ้นและมีมูลความจริงก็ตาม

ดูวิดีโอสัมภาษณ์ได้ที่ :



ห้ามสงสัย ห้ามตั้งคำถาม

เหตุที่รักและคลั่งสถาบันฯ จนพร้อมจะพลีชีพเพื่อปกป้องนั้น เขาอธิบายว่า ตั้งแต่เด็กก็ถูกพ่อแม่ผู้ใหญ่สั่งสอน ปลูกฝังให้รักเคารพด้วยไม่ต้องสงสัยและตั้งคำถามใดๆ

“เรื่องสถาบันกษัตริย์ ผมไม่เคยแตกแถวเลยสักนิดเดียว แค่ทำเหรียญตก ทำแบงก์ตก เดินข้ามเหรียญ ข้ามแบงก์ ต้องหยิบขึ้นมาไหว้ก่อนใส่กระเป๋า เป็นถึงขนาดนั้นเลยนะ" เขากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

3.JPG

นอกจากการปลูกฝังให้รักสถาบันฯ จากพ่อแม่ จากครูอาจารย์ ต้นยังเชื่อไปกับการชวนเชื่อผ่านโทรทัศน์ในช่วงฟรีทีวีรุ่งเรือง

“ช่วง กปปส. ผมเสพข่าวจากฟรีทีวีและช่องดาวเทียมบางช่องที่มักมีนักวิชาการ อาจารย์ฝ่ายขวาที่มีความคิดอนุรักษ์นิยม เชิดชูสถาบันฯ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถาบันฯ จะมีแต่ข้อดี” เขากล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เขารักสถาบันฯ จนถึงคลั่ง โดยไม่เคยตั้งคำถามและข้อสงสัยต่อสถาบันฯ ​แม้แต่น้อย 


หาเหตุแห่งรัก

“ปลายพฤศจิกายนถึงต้นธันวาคมปี 2562 ผมเริ่มเข้าใจว่าการเมืองไทยมีอะไรหลายอย่างที่ไม่รู้ และผมตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องเชื่อเรื่องเดิมๆ” 

เขาเริ่มเปิดใจรับฟังความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองจากอาจารย์และนักวิชาการฝ่ายตรงข้ามที่เขาเคยสาปแช่งและเกลียดมาก่อน และเลือกที่จะไม่เชื่อข้อมูลหรือหลักการอะไรก็ตามที่ยกขึ้นมาอ้าง

เขากล่าวอีกว่า อย่างอาจารย์ปวิน (รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์) อย่างอาจารย์สมศักดิ์ (ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) - สองนักวิชาการที่รณรงค์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตลอด

Screen Shot 2564-01-07 at 12.21.48.png

“นักวิชาการสองท่านนี้สามารถย่อยเรื่องราวประวัติศาสตร์และข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยให้อยู่ในรูปแบบของภาษาชาวบ้านคุยกัน” ต้นกล่าว

นอกจากนี้ ต้นยังศึกษาค้นคว้าอ่านตำราของนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.ธงชัย วินิจจกุล, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ, ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยและบทบาทสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยอีกด้วย

"ความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์จากงานวิจัย งานวิชาการ รวมถึงคำพูดต่างๆ ของอาจารย์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยเหตุด้วยผลที่น่าเชื่อถือ มีหลักการ แนวคิด ทฤษฏีในการวิเคราะห์

"ผมฟังแล้วรู้สึกว่านักวิชาการเหล่านี้กำลังพูดในสิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็น ควรจะมี นั่นคือการรักอย่างมีสติและมีเหตุมีผล" ต้นกล่าว

เมื่อเขาพยายามเรียนรู้เหตุผลใหม่ๆ กลายเป็นว่านักวิชาการที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์กลับไม่พร้อมให้คนอื่นตั้งคำถามและตั้งข้อสงสัย แต่ละคนไม่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่จะเน้นการพูดยาวๆ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการเยอะๆ แต่ไม่มีเนื้อหาแก่นอะไร 

“ผมตาสว่างเรื่องการเมืองไทยเพราะนักวิชาการที่ตัวเองเคยเกลียด แม้มาตาสว่างตอนอายุจะเข้า 50 ปี ก็ตาม” ต้นกล่าว


ปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ใช่ล้ม

สำหรับต้น เขายืนยันว่าประเทศไทยควรมีสถาบันกษัตริย์ เพราะเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของคนในประเทศ แต่เขาเห็นว่าประชาชนควรตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย และแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันฯ ได้ 

เขากล่าวว่า ปัจจุบันมีเรื่องเล่า ซุบซิบ นินทาถึงบางเรื่องที่สถาบันฯ แสดงออกและถูกประชาชนตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสม แต่กลับไม่เคยได้รับคำชี้แจงจากสถาบันฯ ในทางสาธารณะ ว่าเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องจริงหรือไม่อย่างไร 

“เมื่อไม่ได้การชี้แจงจากสถาบันฯ ประชาชนก็เอา​ไปซุบซิบ นินทา ตามร้านเสริมสวย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ” เขากล่าว

เมื่อเป็นแบบนี้ เท่ากับว่าสถาบันฯ​ ถูกใส่ร้าย กล่าวหาฝ่ายเดียว ซึ่งสำหรับเขา ถือว่าไม่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อสถาบันฯ

“ดังนั้นสถาบันฯ ควรชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบคำถามข้อสงสัยของประชาชนอย่างมีเหตุมีผล สิ่งเหล่านี้จะสร้างความสบายใจให้กับคนที่รักสถาบันฯ และรู้สึกอยากปกป้องไว้” ต้นกล่าว 

ตั้งแต่การปราศัยถึงบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยบนเวทีชุมนุมม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 

ต่อด้วยการแถลงการณ์และข้อเสนอ 10 ข้อ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 บนเวทีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ ม.ธรรมศาสตร์​ รังสิต

จนถึงการชุมนุม “ทวงอำนาจคืนราษฎร” ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 19 กันยายน 2563 และการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อต่อคณะองคมนตรีในเช้าวันที่ 20 กันยายน 2563 

การเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการแสดงความเห็นทางการเมือง รวมถึงวิพากวิจารณ์การเมืองไทยดังกล่าวไม่เพียงแค่พูดถึงการบริหารงานของรัฐบาล แต่ไปไกลถึงการวิจารณ์ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย ซึ่งไม่เคยพูดในที่สาธารณะมาก่อน

และต้นก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่แสดงความเห็นสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

Screen Shot 2564-01-07 at 12.20.33.png

เหตุผลที่ร่วมสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กับม็อบคณะราษฎร 2563 เพราะต้นคิดว่านี่ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันฯ หรือล้มเจ้า แต่เป็นการล้มล้างการโหนเจ้า

"สถาบันกษัตริย์ถูกคนบางกลุ่มเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เช่น เหล่าขุนนาง อำมาตย์ และชนชั้นนำทั้งหลาย อย่างที่เห็นมีบางไม่กี่ตระกูลที่ร่ำรวย มันถึงเวลาที่น่าจะปฏิรูปได้" ต้นกล่าว

สำหรับต้น ในฐานะประชาชนคนไทยคนนหนึ่ง ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าจะให้สถานะและบทบาทของสถาบันฯ เป็นเพียงในเชิงวัฒนธรรม ไม่ต้องมีบทบาทและอำนาจทางการเมือง

"เหมือนแบบญี่ปุ่นที่มีความสง่า ความงดงาม อยู่อย่างสมพระเกียรติ ประชาชนมีความรัก เคารพในเชิงวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองและทหาร" ต้นกล่าว

สุดท้ายเขาอยากบอกคนที่ยังรักสถาบันฯ​ อย่างบ้าคลั่งและพร้อมจะทำร้ายคนอื่นที่วิพากษ์ เหมือนกับเขาในอดีตว่า อยากให้คนเหล่านั้นรักอย่างมีสติ รู้จักตั้งข้อสงสัย รู้จักตั้งคำถาม และหาเหตุผลมารองรับความเชื่อ ความรักดังกล่าว เคารพคนที่คิดเห็นต่าง

"ไม่ใช่ให้เลิกเคารพหรือเลิกรัก แต่อยากให้กลับมาเป็นคนปกติ มีสติเหมือนคนปกติทั่วไป" ต้นกล่าวทิ้งท้าย