เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ที่เขื่อนเรียงหิน อ.เมือง จ.ชัยนาท ได้มีการนัดชุมนุมของกลุ่มราษฎรชัยนาท โดยมีการเปิดตัวผู้ปราศรัยหลากหลายคน อาทิ จตุภัทร บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ธัชพงศ์ แกดำ, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (แอมมี่ The buttom blues) , ม่อน อาชีวะ และ จัสติน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มคนเสื้อเหลืองได้เข้ามาตั้งเวทีบริเวณที่กลุ่มราษฏรได้ประกาศนัดชุมนุม จนเป็นเหตุให้ทางกลุ่มต้องขยับจุดชุมนุมห่างออกมาประมาณ 200 เมตร แต่ยังคงอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
โดยบนเวทีปราศรัยของกลุ่มเสื้อเหลืองนั้นได้มีการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยกลุ่มแกนนำสรุปประเด็นได้ว่า ทางกลุ่มจะไม่ยอมให้ภาพลักษณ์ของชาวชัยนาทเสียหาย จะไม่ยอมให้ภาพลักษณ์ของชาวชัยนาทเป็นคนล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และจะไม่ยอมให้พื้นที่กับคนเนรคุณแผ่นดิน
ม็อบเสื้อเหลืองปักหลักก่อนสลายตัวหลังเคารพธงชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางกลุ่มเสื้อเหลืองที่มาร่วมชุมนุมนั้นมีจำนวนประมาณ 300 คน และมีการใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ ซึ่งมีความดังสูง และขยายไปในวงกว้างทำให้ มีเสียงแทรกเข้ามาบริเวณจุดชุมนุมของกลุ่มราษฎรด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้กระจายตัวอยู่บริเวณ จุดเชื่อมต่อระหว่างเวทีทั้งสองฝั่ง เพื่อคอยดูแลความปลอดภัยไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายปะทะกัน
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เวทีทั้งสองฝ่ายได้ยื่นแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้ว โดยทางกลุ่มเสื้อเหลืองได้ระบุเวลาในการยุติการชุมนุมไว้ช่วง 21.00 น. ขณะที่กลุ่มราษฎรชัยนาทได้ระบุเวลายุติการชุมนุมไว้ช่วง 22.00 น. ซึ่งกลุ่มราษฎรชัยนาทได้ประชาสัมพันธ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 พ.ย. แต่เมื่อเดินทางไปยังสถานีตำรวจในวันที่ 16 พ.ย. กลับพบว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองได้แจ้งการชุมนุมในพื้นที่ ทางกลุ่มได้ประชาสัมพันธ์ไปก่อนหน้าแล้ว
เวลา 18.00 น. หลังจากทางกลุ่มเสื้อเหลืองเคารพเพลงชาติ และร้องเพลงสรรเสริญ จบแล้วก็ทยอยเดินทางกลับหมด แต่ยังคงตั้งเวทีเปิดเพลงเสียงดัง เช่น เพลงหนักแผ่นดิน เพลงรักเมืองไทย และเพลงปลุกใจอื่นๆ
'แอมมี่' วอนอาชีวะอย่าถอนตัวปมข้อเรียกร้องสถาบัน
ต่อมาช่วงค่ำ แอมมี่ ได้ปราศรัยเล่าถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของมวลชนคณะราษฎร 2563 บริเวณแยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มราษฎรได้นัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาโหวตรับหลัการวาระที่ 1 ให้กับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
แอมมี่ กล่าวถึง การฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่เหตุ พร้อมตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยทำไมจึงถอนกำลังออกจากแนวกั้นของผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย จนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการปะทะกันเกิดขึ้น เป็นเหตุที่ทำให้ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรได้รับบาดเจ็บหลายราย
นอกจากนี้แอมมี่ยังกล่าวขอบคุณกลุ่มการ์ดอาชีวะ และการ์ดของมวลชนอาสา ซึ่งเข้ามาเป็นแนวหน้าในการเดินขบวนไปยังแยกเกียกกาย และค่อยช่วยเหลือดูแลผุ้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ และผลกระทบจากการฉีดน้ำผสมสารเคมีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีกระแสข่าวว่า ทางกลุ่มการ์ดอาชีวะจะถอนตัวจากการชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย ที่มีการนัดชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยแอมมี่ได้เรียกร้องกลุ่มการ์ดอาชีวะซึ่งบางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องข้อที่ 3 เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ตลอดการต่อสู้ที่ผ่านมาก็ได้เห็นแล้วว่าทุกคนไม่ว่าจะมาจากก็ถือว่าเป็นพี่น้องกันทั้งหมด การถอนตัวออกไป ถามว่าจะยอมเห็นพี่น้องพวกเราได้รับบาดเจ็บ จึงเรียกร้องให้กลุ่มการ์ดอาชีวะกลับมาช่วยดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม
ธัชพงศ์ แกดำ อดีตแนวร่วมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวถึงการชุมนุมของประชาชนสองกลุ่มคือ ราษฎร และกลุ่มคนเสื้อเหลือง ว่า ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แตกต่างกันมาก โดยกลุ่มราษฎรถูกเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำผสมสารเคมี เพื่อสลายการชุมนุมตั้งแต่เวลาบ่ายสองต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเย็น ขณะที่กลุ่มเสื้อเหลืองได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดี ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน
ธัชพงศ์ยังปราศรัยถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดยย้ำถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมของคณะราษฎรแต่กลับถูกประณาม แต่คนเสื้อเหลืองต่างหากที่ล้มสถาบัน เพราะดึงสถาบันมาโจมตีเราตลอด ทั้งนี้ นิสิต นักศึกษา อาชีวะได้ออกมาช่วยพวกเราแล้ว ตอนนี้อนุรักษนิยมได้ตราหน้านักศึกษาอาชีวะมาตลอด 10-20 ปี โจมตีนักศึกษาอาชีวะว่าเป็นพวกหัวรุนแรงป่าเถื่อน แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่านักศึกษาอาชีวะอยู่เคียงข้างคนทุกข์ยาก
"การต่อสู้ทุกครั้งในกรุงเทพฯ เราจะเห็นนักศึกษาที่เป็นการ์ด หรือนักศึกษาอาชีวะที่มาช่วยกันเก็บขยะ ดูแลความปลอดภัย ขอเสียงปรบมือให้นักศึกษาอาชีวะที่เป็นการ์ดด้วย วันนี้เราถอยไม่ได้ เรามาไกลแล้ว การเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น แล้วคนที่ตราหน้าพวกเรา ต่อไปนี้เราจะเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ต่อจากนี้ไปประเทศนี้จะเป็นของราษฎรแท้จริง" ธัชพงศ์ ระบุ
'ไผ่ ดาวดิน' ย้อน 6 ปี ชู 3 นิ้วต่อหน้า 'ประยุทธ์'
ต่อมา 22.30 น. วันที่ 19 พ.ย. 2563 ที่เขื่อนเรียงหิน อ.เมือง จ.ชัยนาท คณะราษฎรชัยนาทจัดกิจกรรมชุมนุม โดยไผ่ ดาวดิน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ปราศรัยถึงเหตุการณ์ 6 ปีที่แล้วเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2557 ที่ตัวเองและเพื่อนอีก 4 คนร่วมกันใส่เสื้อสกรีนข้อความว่า "ไม่เอารัฐประหาร" โดยออกไปยืนชู 3 นิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ขณะนั้นที่มาลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ว่า ตอนนั้นการเมืองไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหว สิ่งที่เจอในทีวีขณะนั้นเจอแต่การเรียกปรับทัศนคติ แต่การเคลื่อนไหวยุคนั้นเงียบมาก ทำไมสังคมผิดปกติ พวกเราจึงคุยกันว่าควรทำอะไรสักอย่าง ซึ่งที่ผ่านมา 6 ปีเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ และเสียเงินให้กับทหารที่คอร์รัปชันมา 6 ปี เพราะตรวจสอบไม่ได้ เวลาบอกเกลียดนักการเมือง แต่นักการเมืองมีระบบตรวจสอบ แต่ระบบทหารไม่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อนตนจะไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์กลับถูกตัดโบกี้รถไฟ
ไผ่ ระบุว่า การเคลื่อนไหวในช่วงหลังรัฐประหารเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านกับรัฐเผด็จการภายใต้ความกลัวของผู้คน แต่เมื่อคนจำนวนน้อยยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอยู่ วันนี้ได้เห็นชัดเเล้วว่าผู้คนได้ตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ และชูสามนิ้วกันทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการต่อสู้ของคนรุ่นสู่รุ่น
"การออกมาของผู้คนในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นเพราะหลายคนมีจุดยืนร่วมกันคือการต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่สิ่งที่รัฐทำต่อประชาชนในวันที่ 17-18 พ.ย. คือการทำลายความต้องการของประชาชน"
เขากล่าวต่อว่า วันที่ 17 พ.ย.มีกลุ่มที่แอบอ้างสถาบัน คนที่อ้างว่ารักสถาบัน รักชาติ มาตีพวกเรา มายิงปืนใส่พวกเรา นั้นหมายความว่าพวกเขาตีความคำว่าชาติไม่เหมือนกับเรา เพราะคำว่าชาติของพวกเราคือ ประชาชน
"6 ปีผ่านมาแล้ว วันนี้ไม่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่รัฐบาลทำยังเหมือนเดิม พล.อ.ประยุทธ์บอกจะใช้กฎหมายทุกฉบับ เพราะเกิดความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆ แต่ความขัดแย้งเกิดจากใคร ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเปิดรัฐสภาแก้ไขปัญหา ปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญหาปากท้อง ปัญหาต่างๆ สิทธิทางการศึกษา สิทธิเพศสภาพ จะถูกพูดถึงในรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลปิดกั้นประชาชนเข้าไปในรัฐสภา" ไผ่ ดาวดิน ระบุ
"มีคนยังผิดหวังแล้วยังสู้ต่อ ต่อสู้มาเราไม่เคยชนะ แต่วันนี้หลายคนถามว่าไม่เห็นหนทางชนะเลยผมว่าไม่ใช่" ไผ่ ดาวดิน ย้ำและว่า สู้ทุกครั้งที่จะยืนไหว ทำได้แค่นี้จริงๆ เพราะเราเรียกร้องแล้วแต่พวกเขาไม่ฟังเสียงของพวกเราเลย"
ท้านายกฯ งัดกฎหมายเอาผิดม็อบ ย้ำสังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
จตุภัทร์ ระบุว่า ถ้ารัฐบาลจริงใจต้องยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไป วัฒนธรรมเป็นชาติยังมีอีกหลายสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันประชาชน ที่ประกอบมาเป็นคน เพราะฉะนั้นสังคมกฎหมายควรออกแบบให้สิทธิและเสรีภาพเรา ไม่ว่าเราจะขยันมีเวลาแค่ไหน เราจะมีโอกาสรวยในสังคมหรือไม่ เราจะลืมตาอ้าปากในสังคมอยุติธรรมหรือไม่ในเมื่อโครงสร้างยังกดขี่พวกเรา ภาษีที่เราเสียไปถูกทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ และเสียไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อีกทั้ง ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าภาษีที่จ่ายไปตรงไหนบ้าง ไม่เหมือนประเทศที่มีรัฐสวัสดิการซึ่งตรวจสอบได้
ไผ่ย้ำว่า การต่อสู้ในครั้งนี้ คือการต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เพื่อทำให้สังคมนี้ไม่มีการกดขี่ทางชั้นชน เพื่อทำให้ประเทศนี้ไม่มีความเหลื่อมล้ำ และเป็นการต่อสู้ให้สังคมนี้มีความเป็นธรรมกับประชาชนทุกคน แต่รัฐก็ได้ข่มขู่ว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาต่อสู้ ซึ่งหมายความว่าเขาอาจะนำมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง แต่สิ่งที่เขาไม่เคยใช้เลยสักครั้งคือมาตรา 113 ข้อหากบฎจากการยึดอำนาจรัฐประหาร อย่างไรก็ตามการข่มขู่ของรัฐในครั้งนี้ จะไม่สามารถปิดกั้นความจริงได้ เพราะคนรุ่นนี้ได้ตื่นแล้ว และไม่ยอมทนอยู่ในสังคมแบบนี้อีกต่อไป
"วันนี้ขู่จะใช้กฎหมายทุกกฎหมายทุกมาตรา จะใช้กฎหมายก็ใช้มาเถอะ แต่สังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว และเมื่อความอยุติธรรมเป็นกฎหมาย การต่อต้านมันจึงเป็นหน้าที่"
ไผ่ จตุภัทร์ ยังเรียกร้องราษฎร จ.ชัยนาทให้ไปร่วมชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไปทวงคืนภาษีกลับมาเป็นของแผ่นดิน และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากรัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว
"เราชนะเมื่อไรไม่รู้ แต่ถ้าพี่น้องยังสู้อยู่ ประชาธิปไตยไม่มีวันแพ้"
จตุภัทร์ ย้ำด้วยว่า ผู้ปกครองมาแล้วไปไหน ไม่ว่ากี่เผด็จการ กี่รัฐบาล กี่รัชกาล ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ พร้อมเรียกร้องให้ไปร่วมชุมนุมเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง