ในหลายครั้ง มัลพาสปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่ว่า เขาเชื่อหรือไม่ว่าภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงใจต่อความหนักแน่นในจุดยืนของธนาคารโลก ต่อการหยุดการสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิล การออกมาตรการในการจำกัดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการเยียวยาผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อ เดวิด เกลส์ ผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง ถามมัลพาสถึงกรณีที่ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กล่าวว่ามัลพาสเป็นพวกปฏิเสธการมีอยู่ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ในงานสัมมนาที่จัดโดยสำนักข่าว The New York Times มัลพาสกลับตอบว่า “คนบางกลุ่มไม่ได้รับรู้ว่าธนาคารโลกกำลังทำอะไรอยู่บ้าง” เขากล่าวเสริมอีกว่า ทุนสนับสนุนด้านการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศของธนาคารโลกนั้นสูงยิ่งกว่าองค์กรด้านการเงินอื่นๆ เสียอีก
หลังจากที่ไม่ได้รับคำตอบที่ตรงคำถามหลายครั้ง เกลส์จึงสอบถามมัลพาสว่า “ผมขอถามคุณอย่างตรงไปตรงมา ตกลงคุณเชื่อในข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่าการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลโดยฝีมือมนุษย์ เป็นตัวการที่ทำให้สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือไม่”
เมื่อมัลพาสเลี่ยงที่จะตอบคำถามดังกล่าวโดยพูดออกนอกประเด็นอีกครั้ง และในท้ายที่สุด มัลพาสเลือกที่จะตอบว่า “ผมไม่รู้ด้วยซ้ำ ผมไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์”
จากเหตุการณ์ในงานสัมมนาดังกล่าว ทำให้กลุ่มทูตสิ่งแวดล้อมและภาคประชาสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์คำตอบของมัลพาสอย่างรุนแรง รวมถึงขอร้องให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่งตั้งประธานธนาคารโลกคนใหม่มาแทนมัลพาสอีกด้วย
“สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในปี 2565 ความเพิกเฉยเช่นนี้ก่อให้เกิดความอ่อนแอในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประเทศต่างๆ ต้องการความช่วยเหลือ และเงินทุนจากธนาคารโลกอย่างยิ่ง” ลอเรนซ์ ตูเบียนา อดีตทูตสิ่งแวดล้อมชาวฝรั่งเศส ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการร่างข้อตกลงปารีสในปี 2558 ทวีตข้อความลงในทวิตเตอร์
ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานธนาคารโลกมีวาระครั้งละ 5 ปี และที่ผ่านมาถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดขององค์กร โดย เดวิด มัลพาส ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานในปี 2019 ซึ่งตรงกับสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแสดงจุดยืนหลายครั้งว่าเป็นพวกปฏิเสธการมีอยู่ของวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศ
ที่มา: