ไม่พบผลการค้นหา
ที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานลม’ คือหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ทั้งในเรื่องราคา ความสะอาด และการส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน

ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดออกมาแย้งว่า ในระยะเวลาอันสั้น ไฟฟ้าจากพลังงานลม อาจส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนมากกว่าถ่านหิน หรือน้ำมัน จนทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่กำลังจะตามมา เพราะนานาประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานทางเลือกชนิดนี้ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากในปัจจุบัน

ประเทศสกอตแลนด์ปัจจุบันมีฟาร์มกังหันลมทั้งหมด 750 ฟาร์มทั่วประเทศ โดยชนชาววิสกี้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 37,202 เมกะวัตต์ต่อวัน ซึ่งในวันที่แรงลมมีมากเป็นพิเศษ สกอตแลนด์สามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมได้มากถึง 39,545 เมกะวัตต์ คิดเป็นจำนวนสูงถึงร้อยละ 106 ต่อความต้องการทั้งหมดของประเทศ แต่ปริมาณดังกล่าวยังถือว่าน้อย หากนำไปเทียบกับประเทศจีนที่ผลิตได้มากถึงวันละ 188,000 เมกะวัตต์ หรือสหรัฐอเมริกาที่ 89,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ตัวงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดรายงานว่า การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในสหราชอาณาจักร มีผลโดยตรงที่ทำให้ความร้อนในบริเวณฟาร์มกังหันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 0.54 องศาเซลเซียส และเพิ่มขึ้น 0.24 องศาเซลเซียส ทั่วทั้งสหราชอาณาจักร ซึ่งอุณภูมิของโลกในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาราวๆ 1 องศาเซลเซียส นับจากศตวรรษที่ 19

แม้ตัวเลข 1 องศาเซลเซียสจะฟังดูไม่มากนักแต่ ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นหลักที่ยึดปฏิบัติกันในปัจจุบัน ได้ตั้งเป้าหมายกับนานาประเทศที่เข้าร่วม ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน เพื่อไม่ให้อุณภูมิของโลกพุ่งสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาอย่างรุนแรงเมื่ออุณภูมิทะลุขีดจำกัดในอนาคต


luca-bravo-132630-unsplash.jpg

เดวิด คีธ (David Keith) วิศวกร และศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว เผยกับ AFP ว่า “พลังงานที่ได้จากลมเอาชนะถ่านหินได้ในทุกมาตรการสำหรับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้หมายความว่า ผลกระทบของมันจะเป็นสิ่งที่สามารถละเลยได้ ถ้ามองแค่เพียง 10 ปี พลังงานลมจะส่งผลเสียต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากกว่าน้ำมัน หรือถ่านหิน แต่ในระยะ 1,000 ปี พลังงานลมจะสะอาดกว่าน้ำมัน หรือถ่านหินอย่างมหาศาล”

สอดคล้องกับความเห็นของ ลี มิลเลอร์ (Lee Miller) ดุษฎีบัณฑิตผู้ทำงานวิจัยร่วมกับคีธที่เชื่อว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของพลังงานลมมากขนาดนั้น เพราะไม่ใช่ต้นตอหลักของสภาวะโลกร้อน แม้จะมีบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศก็ตาม สิ่งที่ต้องเป็นห่วงคือ การเผาไหม้ของถ่านหินมากกว่า นอกจากนั้น เขายังกล่าวกับ Business Insider ว่า งานวิจัยที่เขาร่วมทำกับคีธมีแนวโน้มที่จะถูกตีความผิดเอาได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม อุณภูมิที่สูงขึ้นไม่ได้มีเพียงผลกระทบในทางลบเพียงอย่างเดียว จีน ทาเคิล (Gene Takle) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตต (Iowa State University) ได้ทำการสำรวจฟาร์มกังหันจำนวน 200 แห่งในรัฐไอโอวา ระหว่างปี 2010 – 2013 และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเร็ว ทิศทางลม อุณภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะพบว่า นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมยังทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยมีส่วนสำคัญในการทำให้ข้าวโพด และถั่วเหลืองเจริญเติบโตได้ดี

ทาเคิลบอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ยังต้องการอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า ปัจจัยจากกังหันลมที่ทำให้จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ และอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อพัฒนาการของพืชจริงๆ หรือไม่ และหวังให้งานวิจัยชิ้นต่อไปของตนเองเป็นการไขข้อสงสัย คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบแน่ชัดข้อนี้

อ้างอิง:

On Being
198Article
0Video
0Blog