ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกานักการเมือง พิจารณาลับหลังและมีคำสั่งออกหมายจับ 'ทักษิณ ชินวัตร' คดีออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต หลังพิเคราะห์ว่าจำเลยไม่เดินทางมาตามนัดและไม่แจ้งเหตุในการขอเลื่อนนัดพิจารณา โดยให้อัยการโจทก์ติดตามดำเนินการจับกุม

โดยการพิจารณาลับหลังในคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะทำงานของอัยการสูงสุด มีมติรื้อคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 คดี คือ ทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนี 

ทั้งนี้ ช่วงเช้า วันนี้ (6 มี.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน คดีแปลงสัมปทานกิจการโทรคมนาคม คดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ได้ออกบัลลังก์นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ภายหลังนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด โจทก์ มอบอำนาจให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560 ขอให้ศาลพิจารณานำคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2551 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 กรณีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ.2527) พ.ศ.2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ได้เคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราว เพราะตัวจำเลยหลบหนีคดี โดยจำเลยถูกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้วขึ้นมาพิจารณาต่อไป ตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

นอกจากนี้ 'มติชน' รายงานว่า สำหรับหมายจับให้มาฟังพิจารณาคดีที่ศาลออกให้วันนี้ (6 มี.ค.) เป็นหมายจับที่ออกใหม่ เพื่อจับกุมจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการก่อนเริ่มพิจารณาคดีที่ตามกฎหมายใหม่ระบุไว้ว่าถ้าออกหมายจับจำเลยภายใน 3 เดือนแล้ว ไม่ได้ตัวมาถึงให้เริ่มการพิจารณาคดีต่อได้

โดยที่หมายจับใบเดิมในคดีนี้ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งยกเลิกและยังไม่ถือว่าหมดอายุความ ทั้งนี้ นอกจากคดีดังกล่าวแล้ว ยังมีคดีที่อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ยื่นฟ้องคดี และยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตาม วิ.อม.ใหม่ อีก 3 สำนวน ประกอบด้วย คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย, คดีทุจริตการปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ และคดีหวยบนดิน

อ่านเพิ่มเติม