ไม่พบผลการค้นหา
หากวันนั้นไม่ใช่ 'ทักษิณ' เศรษฐกิจไทยอาจจะพังเป็นโดมิโน แต่การฟื้นฟูทีพีไอ ทำให้เขาต้องกลายเป็นจำเลยอีกคดีได้อย่างไร

แม้ว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จะประกาศให้การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น 'วาระแห่งชาติ' มาแล้วหลายครั้ง แต่สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับคนใน คสช. กลับไร้ความคืบหน้าและขาดความชัดเจนโปร่งใสมาตลอด 

แตกต่างไปจากคดีที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร และบุคคลรอบข้าง ที่แข็งขันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 'ติดดาบ' เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความที่สำคัญคือ หากเป็นคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว 'ไม่มีหมดอายุความ' และให้สามารถพิจารณาคดี 'ลับหลัง' ได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาลต่างจากในอดีตที่ผ่านมา

และวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ก็ต้องบันทึกไว้ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับฟ้องคดี 'ทักษิณ ชินวัตร' ให้กระทรวงการคลัง ฟื้นฟูทีพีไอ นัดพิจารณานัดแรก 22 มิ.ย.นี้

ท่ามกลางกระแสการเมืองทุกสายธารที่ต้องการมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งในเร็ววัน ทว่า 4 ปี ในเรือแป๊ะ คสช. กลับไม่ได้ทำให้ความนิยมในพรรคเพื่อไทยเสื่อมถอย นั่นจึงคงคล้ายเป็นสาเหตุลึกๆที่อธิบายว่า ทำไมสารพัดคดีความของนายทักษิณ จึงถูกปัดฝุ่นกลับมาในช่วงนี้ ด้วยความเอื้ออำนวยของกฎหมายที่ทั้ง 'แช่แข็ง' และ 'ลับหลัง' เช่นเดียวกับคดีสุดท้าย 'มหากาพย์หนี้ TPI' ที่ค้างคาอยู่ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มานานถึง 8 ปี ก็ส่งตรงสู่ศาลได้ในที่สุด

คดีนี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร และ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีต รมว.คลัง (เสียชีวิตแล้ว)ตั้งแต่ วันที่ 16 ก.ค. 2553 ในโทษฐานที่เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนเพื่อฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI โดยได้ส่งตัวแทนของกระทรวงการคลังเข้าไปเป็นคณะผู้บริหารแผนคนใหม่ เมื่อเดือน ก.ค. 2546 ซึ่ง ป.ป.ช. มองว่าเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจกระทรวงการคลัง ที่ไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จากนั้นจึงได้ส่งต่อให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาส่งฟ้องต่อไป

แต่คดีที่ดูเหมือนจะปิดเกมง่ายๆในเวลานั้นกลับไม่ง่ายดังคาด เมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นแย้งไม่สั่งฟ้อง แม้ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานพิจารณาคดีร่วมกันก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทำให้คดีนี้ยืดเยื้อยาวนาน แต่ในที่สุด ป.ป.ช. ก็ตัดสินใจหอบสำนวนคดี 21 ลัง ไปยื่นฟ้องด้วยตัวเอง ในวันที่ 7 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทำให้ 'มหากาพย์แห่งหนี้ TPI' ที่ได้รับการบริหารจัดการจนพ้นสภาพวิกฤติไปแล้ว กลับมาเป็นประเด็นบนหน้าสื่ออีกครั้ง

และก็เป็น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อปรากฏการณ์นี้ โดยยืนยันว่า การให้กระทรวงการคลังเข้าแก้ไขปัญหา TPI น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องและคงต้องพิจารณาให้ดี เพราะหากย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น โดยไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ วิกฤติขนาดใหญ่ในระบบการเงินการธนาคารก็อาจเกิดขึ้นและคงสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลเป็นวงกว้าง

จนถึงวันนี้ จากเริ่มวิกฤติผ่านมากว่า 20 ปี หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า 'มหากาพย์แห่งหนี้ TPI' คืออะไร ทำไมจึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีส่วนเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปตลอดกาล มีใครบ้างในละครเรื่องนี้ และ นายทักษิณ ชินวัตร เข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร

ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าคดีนี้จะไปลงเอยที่ตรงไหน ลองไปทบทวนอดีตในเรื่องนี้กันได้จากรายงานชิ้นนี้

 เส้นทาง 'มหากาพย์แห่งหนี้ TPI'

นี่คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภาพในอดีตอันรุ่งโรจน์ของ TPI ที่ใครต่อใครต่างจดจำกันได้ดี โดยเฉพาะชื่อชั้นของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวเรือใหญ่ของธุรกิจของครอบครัว ที่ก่อตั้ง TPI ขึ้นใน พ.ศ. 2520 และเติบโตอย่างต่อเนื่องไปตลอดสองทศวรรษ โดยมีพันธมิตรทางการเงินที่สำคัญคือ 'ธนาคารกรุงเทพ' สถาบันการเงินขนาดใหญ่ตระกูล 'โสภณพนิช' ที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้วงเงินมหาศาลจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ทำให้ TPI สามารถสยายปีกการลงทุนออกไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการโรงกลั่นน้ำมัน ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า ปูนซีเมนต์ หรือกระทั่งท่าเทียบเรือน้ำลึก เรียกได้ว่าศักดิ์ศรีในเวลานั้นไม่เป็นรอง ปตท. หรือปูนซีเมนต์ไทย เลยทีเดียว

แต่แล้วพลันคล้ายดังวิหคต้องเกาทัณฑ์ ขณะที่กำลังเหินลอยพุ่งทะยานเล่นลมอยู่บนฟากฟ้ากลับต้องร่วงผลอยลงมาแทบถึงพื้น เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจ 'ต้มยำกุ้ง ' เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที่จะมีใครคาดคิด ฟองสบู่เศรษฐกิจที่กำลังพองโตเต็มที่กลับแตกดังโพละในพริบตา การตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวขึ้นจาก 26 บาท เป็น 54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในทันที สภาพเศรษฐกิจไทยในเวลานั้นเกิดภาวะชะงักงันอย่างรุนแรง เพราะอยู่ดีดีเม็ดเงินก็หายวับไปกับตาซ้ำ ร้ายยังกลายเป็นหนี้สินก่อนโต ธุรกิจใหญ่น้อยล้มละลาย กระทั่งบางคนเลือกฆ่าตัวตายกลายเป็นข่าวให้เห็นแทบเป็นรายวัน

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น พิชัย นริพทะพันธุ์ ระบุว่า หนี้กู้เงินสกุลดอลลาร์ของ TPI สูงกว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 133,643.82 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น โดยมีเจ้าหนี้รวมกันทั้งสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่า 150 ราย

ถึงตอนนี้ สถานการณ์ของ TPI มีแต่ก้าวเข้าสู่ภาวะทรงกับทรุด แม้ว่ามีความพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้มาโดยตลอด แต่ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวไม่ยอมกันของทั้งสองฝ่ายทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะข้อเสนอให้แปลงหนี้จากดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างการขอพักชำระหนี้มาเป็นทุน (หุ้น) เพื่อให้เจ้าหนี้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TPI โดยไม่ยอมลดหนี้เงินต้นให้แบบเดียวกับที่กิจการของเอกชนรายอื่นได้รับในช่วงที่เกิดวิกฤติ

ในเรื่องนี้ฝ่ายเจ้าหนี้ให้เหตุผลว่า รายได้และยอดขายของ TPI มีศักยภาพพอจะชำระหนี้ในอนาคตได้ จึงไม่จำต้องลดหนี้ลง ขณะที่สินทรัพย์ยังสามารถนำมาชำแหละและตัดขายเพื่อให้ได้เงินมาชำระคืนหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งด้วยข้อเสนอดังกล่าวไม่อาจทำให้ นายประชัย ยอมรับได้ และมองว่าเป็นข้อเสนอที่มีความพยายามฮุบ TPI ที่ตระกูล 'เลี่ยวไพรัตน์' ปั้นมากับมือ

ศึกครั้งนี้จึงเรียกได้ว่า ถึงต้องพังทุกฝ่ายก็ไม่มีใครยอมใคร !!

มากกว่าแค่ 'หนี้เอกชน' แต่พัวพันปัญหา 'ระดับชาติ'

ภายใต้ท่าทีที่ไม่ลดราวาศอกระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ จึงนำไปสู่สถานการณ์ที่บานปลายและยิ่งมืดดำราวมุดเข้าไปในอุโมงค์ไร้ทางออก โดยเฉพาะเมื่อ บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ (EPL) ผู้บริหารแผนของเจ้าหนี้ ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งให้พ้นจากการเป็นผู้บริหารแผน โดยเห็นว่า มีแนวโน้มชัดเจนที่จะไม่บรรลุผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ทำให้มีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงการคลัง เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยยกเหตุผลในการปกป้องอุตสาหกรรมของชาติจากการถูกยึดครองของต่างชาติหรือล้มละลายหาก TPI ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่าหากถึงตรงนั้นผลกระทบที่ตามมาคงไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ทั้งนี้ เนื่องจากอีกนัยหนึ่ง TPI ไม่ใช่ธุรกิจอุตสาหกรรมหรือการค้าขายทั่วไป แต่เป็นกิจการพลังงานและปิโตรเลียมที่มีความเกี่ยวพันไปในแทบทุกองคาพยพของสังคมไทย หากทุนต่างประเทศเข้ามาถือครองกิจการได้สำเร็จ เหตุผลเรื่องความมั่นคงทางพลังงานก็เป็นเรื่องใหญ่ที่น่ารับฟังประการที่หนึ่ง

เช่นเดียวกับผลกระทบที่จะเป็นโดมิโนอีกประการ หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้าไปคลี่คลายช่วยเหลือเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เสียจำนวนมหาศาลในระบบธนาคารไทยลดลงและผลักดันให้ลูกหนี้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปได้ ก็อาจดึงให้ธนาคารขนาดใหญ่ต้องล้มตามไปด้วย

"สามารถสอบถามจากเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัท TPI ในขณะนั้น คือ ธนาคารกรุงเทพ และ นายชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการ ในขณะนั้นได้ว่า การช่วยแก้ไขหนี้เสียของบริษัท TPI ได้ช่วยให้ระบบธนาคาร และธนาคารกรุงเทพ ผ่านพ้นวิกฤตมาได้" พิชัย ระบุ

ยิ่งเป็นสถาบันขนาดใหญ่ ผลกระทบก็ยิ่งมาก ในเวลานั้นเศรษฐกิจของประเทศกำลังค่อยๆฟื้นตัวจากวิกฤติต้มย้ำกุ้ง หากรัฐบาลวางเฉยเศรษฐกิจก็อาจพังครืนกลายเป็นยิ่งกว่าฝันร้ายหรืออาจเป็นฝันสยองกว่าเก่าที่ทุกคนคงเคยเห็นกันมาแล้วจากวิกฤติครั้งก่อน

ด้วยเหตุผลประการทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ คงเพียงพอต่อการที่รัฐบาลนายทักษิณ ตัดสินใจยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปร่วมคลี่คลายปัญหา แต่โชคไม่ดีที่ ป.ป.ช.มองต่างไปโดยเน้นแค่ปัญหาเชิงเทคนิคทางกฎหมายหรือโฟกัสที่การเข้าไปแทรกแซงธุรกิจเอกชนเพียงเท่านั้น

แต่สำหรับการเป็นรัฐบาล หากจะบอกว่าการปกป้องผลกระทบต่อประชาชนและผลประโยชน์ชาติไม่ใช่หน้าที่ก็คงไม่ใช่...ไม่ใช่หรือ

เดินตามคำสั่งศาล..ปลดชนวนวิกฤติ

ความจริงแล้วคดี TPI เป็นกรณีที่หลายฝ่ายต่างเห็นปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าฝ่ายธุรกิจ กระบวนการยุติธรรมหรือฝ่ายการเมือง ทำให้มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ปลายรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่ปัญหายังไม่คลี่คลาย ทำให้คดีนี้ส่งต่อมาถึงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่ง วันที่ 13 มิ.ย. 2546 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจกันอย่างรุนแรง เชื่อว่าคงเป็นการยากที่จะบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทให้เป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากผู้บริหารแผนคนใหม่ที่มาจากการประชุมของเจ้าหนี้ขาดการยอมรับจากลูกหนี้และพนักงานของลูกหนี้เป็นส่วนใหญ่ ในเมื่อมีความชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลมีดำริที่จะร่วมมือกับศาลยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้อย่างบูรณาการเบ็ดเสร็จ โดยกระทรวงการคลังได้เสนอเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะขอให้กระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้

ต่อมา ในวันที่ 11 ก.ค. 2546 ศาลล้มละลายกลางจึงได้มีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่ง ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมว.คลัง ได้ตอบรับเข้าเป็นผู้บริหารแผน ภายหลังแม้ว่าจะมีแรงกระเพื่อมใต้น้ำเป็นระยะจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าที่มองว่าเสียประโยชน์ แต่ในด้านการฟื้นฟูกิจการก็คือเป็นการจบ 'มหากาพย์หนี้ TPI' ได้อย่างหมดจด

จากT PI สู่ IRPC

"ปัจจุบันรัฐไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด แต่รัฐกลับได้ประโยชน์และกำไรอย่างมหาศาลจากมูลค่าหุ้นของ บมจ. IRPC" พิชัย ระบุ 

หลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ TPI ได้รับความเชื่อมั่นจากเจ้าหนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงนำไปสู่การยอมตัดลดดอกเบี้ยลง 250 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งยินยอมให้ยืดการชำระ 12 ปี อย่างไรก็ตาม TPI ยังจำเป็นต้องเพิ่มทุนเข้าไปใหม่เพื่อล้างหนี้เก่าสะสม จึงเปิดโอกาสให้ ปตท. เข้ามาลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ TPI พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC โดยสถานะของบริษัทดีขึ้นเป็นลำดับ

ปัจจุบัน IRPC จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 4/2560 อยู่ที่ประมาณ 3,884 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 129 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,694 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นกำไรรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2560 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 10,725 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 9,721 ล้านบาท ขณะที่งวดปี 2561 คาดจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 13,115 ล้านบาท เติบโตขึ้นอีกร้อยละ 27 จากฐานกำไรสุทธิงวดปี 2560 (ที่มา : ข่าวหุ้น ม.ค. 61)

การที่ ปตท.เข้ามามีบทบาทใน TPI นอกจากหยุดชะตากรรมของ TPI ไม่ให้ต้องกลายสภาพเป็นเศษเหล็กจากการล้มละลายหรือตกเป็นกิจการของต่างชาติแล้ว การฟื้นฟูกิจการยังสามารถดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการจ้างพนักงานกว่า 8,000 คนได้ดังเดิม ทั้งยังทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากธุรกิจอีกมหาศาล

ป.ป.ช. กับผลพวงจากรัฐประหาร

ในขณะที่รัฐบาลในเวลานั้นพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อาจสร้างผลกระทบใหญ่หลวง ทั้งยังเป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับศาลยุติธรรมเพื่อให้คดีเป็นไปโดยสุจริต ในเวลานี้จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่าเหตุใด ป.ป.ช.กลับเน้นอย่างยิ่งที่เทคนิคทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำไปสู่การตัดสินใดๆในท้ายที่สุด สิ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ก็คือ ที่มาที่ไปของ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช.ชุดชี้มูลความผิดใน พ.ศ. 2553 หรือชุดปัจจุบันที่อุตส่าห์หอบสำนวนไปส่งฟ้อง ก็ล้วนแต่แต่งตั้งมากจากคณะรัฐประหาร ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเหล่านี้ก็คือ บรรดาคู่ขัดแย้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทบทั้งสิ้น หากจะมองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่การกลั่นแกล้งกันเพื่อหวังผลการเมืองก็คงพูดยาก คือพูดได้แต่จะให้เชื่อ....คงยาก

"หากเปรียบเทียบกับการขายสินทรัพย์ ปรส. ของ รัฐบาลประชาธิปัตย์จะเห็นว่าประเทศเสียหายมากกว่ามาก และมีเงื่อนงำการเอื้อประโยชน์ให้กับกองทุนต่างประเทศที่ระดมทุนในไทยเข้ามาซื้อหนี้เสียของประเทศในราคาถูกและนำไปขายในราคาแพงได้กำไรมหาศาลขนกลับประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่กลับไม่มีการดำเนินคดี อยากให้ข้อมูลที่เป็นจริงและไม่ได้เป็นการแก้ต่างให้ เพราะพิสูจน์ ได้จากเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้ฟื้นจริง และมูลค่าของบมจ. IRPC ในปัจจุบัน โดยไม่อยากให้ผู้นำประเทศที่ตัดสินใจช่วยประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่กลับต้องมาถูกดำเนินคดี แต่ผู้นำประเทศที่ทำประเทศเสื่อมถอยกลับไม่ได้รับผลจากการกระทำเลย จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องในปัจจุบันและอนาคต " พิชัย เปรียบเทียบ

ทั้งนี้ อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ การที่อัยการสูงสุดซึ่งเปรียบดังเป็นทนายแผ่นดิน เป็นผู้มีหน้าที่กลั่นกรองข้อกฎหมายและพิจารณาโดยตรงว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่กลับมีความเห็นที่แตกต่าง กลับกลายเป็นว่า ทันทีที่มีดาบใหม่อยู่ในมือ เรื่องเก่าเก็บที่หาข้อยุติทางคดีไม่ได้เกือบ 8 ปี ก็ถูกปัดฝุ่นออกมาฟ้องเพื่อหวังผล 'ลับหลัง' หรือ 'แช่แข็ง' ไว้ก่อนในศาล

ความจริงแล้ว ในเรื่องนี้ หาก ป.ป.ช.อยากรู้จริงๆว่า การตัดสินใจของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้รัฐได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์กันแน่ ก็น่าจะไปถามจาก นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่เคยเป็นทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และเคยดูแล IRPC มาโดยตรง ซึ่งขณะนี้ก็กำลังนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ก่อนยื่นฟ้อง ควรลองไปพบเสียหน่อยและก็น่าจะไปถามให้ชัดไปเลยว่า..ในเวลานั้น หาก TPI ที่ฟื้นฟูมาเป็น IRPC ทำให้รัฐเสียประโยชน์ แล้วทำไมจึงรับ IRPC มาบริหาร หรือทำไม่ให้ถูกต้องเสียตั้งแต่เมื่อครั้งยังนั่งเป็นบอร์ดใหญ่บริหารอยู่ใน ปตท. 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' วิพากษ์ 'กระบวนการยุติธรรมไทย' เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่เป็นที่พึ่งของสังคม