สำนักงานสถิติแห่งประเทศจีนเผยตัวเลขสภาพเศรษฐกิจประจำเดือน ก.ค.ที่ผ่าน เติบโตดีขึ้นต่อเนื่องในภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เช่นเดียวกับประเด็นการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการบริโภคในประเทศกลับยังหดตัวต่อเนื่อง
มูลค่าการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนที่ผ่านมาสูงขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นการปรับตัวดีขึ้นราว 0.98% จากเดือน มิ.ย. หากนับรวมมูลค่าอุตสาหกรรม 7 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าหดตัวราว 0.4% เมื่อเทียบกับตัวเลข 7 เดือนแรกของปี 2562 ขณะที่ฝั่งการผลิตชิ้นส่วนและการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงเติบโตถึง 13% และ 9.8% เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือน ก.ค.ปี 2562
เมื่อรวมตัวเลขอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดตลอด 6 เดือนแรก มีมูลค่ากำไรราว 2.5 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท ลดลง 12.8% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ตัวเลขการเติบโต 4.8% ยังนับว่าน้อยกว่าการคาดการณ์ของผลสำรวจจากบลูมเบิร์กที่ตั้งไว้ที่ 5.2%
ฝั่งการค้าปลีกของประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือน ก.ค. ที่สัดส่วน 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ตัวเลขดังกล่าวจะดีขึ้นกว่าเดือน มิ.ย. ที่ติดลบ 1.8% และเดือน พ.ค. ที่ติดลบ 2.8% แต่ก็ถือว่าผิดจากความคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่มองว่าตัวเลขค้าปลีกของจีนควรกลับเข้าสู่แดนบวกได้แล้ว
ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวร อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน อาคารบ้านเรือน และสินค้าทุน แม้จะยังทรงตัวในแดนลบที่ 1.6% เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปีก่อน แต่ก็นับว่าหดตัวน้อยลงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขตลอดครึ่งแรกของปีนี้ที่ติดลบถึง 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 หรือตัวเลขติดลบกว่า 6.3% สำหรับตัวเลข 5 เดือนแรก ด้านตัวเลขผู้ว่างงานทรงตัวเท่าเดิมที่ 5.7%
ทั้งนี้ SCMP ชี้ว่า เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมด เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวขึ้นจริงจากเครื่องยนต์เดิมๆ ในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักแม้ยังคงมีความเปราะบางเรื่องอุปสงค์ภายในประเทศอยู่
สอดคล้องกับ ทอมมี หวู่ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ในฮ่องกง ที่ชี้ว่าการฟื้นตัวของจีนโดยส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่การฟื้นตัวของภาคการลงทุนทำให้สถานการณ์ของจีนแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในโลกตอนนี้
ทอมมีอธิบายว่า ขณะที่จีนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัจจัยต่างๆ ประเทศอื่นๆ ยังต้องพึ่งนโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและการอุ้มบริษัทขนาดเล็ก เป็นเหตุผลสำคัญให้จีนฟื้นตัวได้เร็วกว่า
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ล่าสุด ลอร์รา ฮี ผู้สื่อข่าวธุรกิจ สำนักข่าว CNN ชี้ว่า ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ระส่ำระสายของจีนและสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นโรคระบาด สิทธิมนุษยชน กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง หรือแม้แต่การตั้งต้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ทั้ง 2 ประเทศ กลับยังมีความสัมพันธ์ที่ 'พอไปได้' ในทางการค้า ที่แทบเคยเป็นชนวนให้เกิด 'สงครามเย็น'
ลอร์รี คุดโลว ที่ปรึกษารัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า "การค้า (ระหว่างจีนและสหรัฐฯ) เป็นสิ่งหนึ่งทีเรามีปฏิสัมพันธ์กันอยู่" ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะทั้ง 2 ประเทศ ต้องอาศัยกันและกันในการเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้
ล่าสุด CNN ชี้ว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนจะมีกำหนดพูดคุยเรื่องข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมภายในสัปดาห์หน้าที่จะมาถึง