ไม่พบผลการค้นหา
เหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าวและเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตรวม 58 รายเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2552 ในจังหวัดมากินดาเนาของฟิลิปปินส์ ผ่านมาครบ 8 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ถูกลงโทษในคดีนี้แม้แต่คนเดียว

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ (IFJ) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เร่งกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ในจังหวัดมากินดาเนา ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่มีสื่อมวลชนเสียชีวิตพร้อมกันมากที่สุดในโลก โดยเหยื่อ 32 รายจากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 58 ราย เป็นผู้สื่อข่าวประเภทต่างๆ ในฟิลิปปินส์ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ทั้งยังพบร่องรอยบ่งชี้ด้วยว่านักข่าวหญิงอย่างน้อย 5 รายถูกบังคับลักพาตัวไปจากจุดเกิดเหตุ และถูกข่มขืนก่อนที่จะถูกฆ่า

ไอเอฟเจระบุว่า กลุ่มผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารหมู่ในปี 2552 กำลังติดตามความเคลื่อนไหวของนายอิสมาเอล มังกูดาดาตู ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดมากินดาเนาในปีดังกล่าว ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของนายอันดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ ผู้ว่าการฯ ที่กำลังอยู่ในตำแหน่ง และเป็นคนจากตระกูลอัมปาตวนที่มีอิทธิพลอย่างมากในเมืองอัมปาตวน จังหวัดมากินดาเนา

พยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธประมาณ 100 คนติดตามขบวนรถผู้สื่อข่าวและขบวนรถของนายมังกูดาดาตู ซึ่งกำลังไปรายงานตัวสมัครเลือกตั้ง แต่รถของผู้สื่อข่าวถูกยิงโจมตี และรถบางคันที่เป็นญาติของนายมังกูดาดาตู ถูกกลุ่มติดอาวุธบังคับเปลี่ยนเส้นทาง รวมถึงรถของเจ้าหน้าที่ีรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่งซึ่งขับเข้ามาในขบวนของผู้สื่อข่าวและนายมังกูดาดาตูในขณะเกิดเหตุพอดี และทั้งหมดถูกยิงสังหารด้วยอาวุธปืนสงคราม

000_Hkg2988436.jpg

ศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวกระจายอยู่ในเขตต่างๆ ของเมืองอัมปาตวน และผู้ก่อเหตุพยายามที่จะขุดหลุมฝังศพเพื่อทำลายหลักฐาน แต่ไม่สำเร็จ เพราะตำรวจได้นำกำลังเข้าไปในที่เกิดเหตุราว 3 ชั่วโมงต่อมา และรถตักซึ่งถูกทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุมีตราประทับของสำนักงานผู้ว่าการจังหวัดมากินดาเนา

ตำรวจฟิลิปปินส์ออกหมายจับกุมผู้ต้องสงสัย 197 ราย แต่สามารถจับกุมตัวได้เพียง 115 ราย โดยจำเลยที่ 1 ถึง 3 คือ นายอันดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ ผู้ว่าการจังหวัดมากินดาเนาในขณะนั้น, นายซาลดี อัมปาตวน และนายอันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ ซึ่งเป็นลูกชายของนายอัมปาตวน ซีเนียร์ ทั้งยังมีคนในตระกูลอัมปาตวนถูกจับกุมอีก 15 คน

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตำรวจได้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ รวม 102 คน โดยระบุว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ ขณะที่นายอัมปาตวน ซีเนียร์ เสียชีวิตเมื่อปี 2558 ขณะถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดี ส่วนพยานอีก 2 รายถูกกลุ่มก่อเหตุไม่ทราบฝ่ายสังหารในปี 2557 ทำให้การสอบสวนสืบสวนคดีล่าช้า จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการตัดสินลงโทษผู้ใด

000_Hkg4285562.jpg

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนฟิลิปปินส์ (NUJP) เคยออกแถลงการณ์ประณามเจ้าหน้าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ไม่คุ้มครองพยานให้รัดกุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต และการอนุญาตให้ผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมได้รับการประกันตัว ทำให้มีผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปได้ ส่งผลต่อการสอบสวนคดี และบ่งชี้ว่าฟิลิปปินส์มีวัฒนธรรมปล่อยคนผิดให้ลอยนวลหลบหนีไปได้อย่างง่ายดาย แต่เครือข่ายสื่อมวลชนในประเทศจะไม่หยุดเรียกร้องความเป็นธรรมจนกว่ารัฐบาลจะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน ที่3 ได้มีคำสั่งโอนย้ายคดีสังหารหมู่ในอัมปาตวนไปยังศาลปกครองในเมืองเกซอนซิตี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยเฉพาะตระกูลอัมปาตวน ใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมภายในพื้นที่ และตลอด 7 ปีที่ผ่านมาได้มีการสอบปากคำพยานไปแล้ว 273 ราย ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย คาดว่าจะสรุปผลสอบสวนและยื่นเรื่องเบิกตัวผู้ต้องสงสัยในตระกูลอัมปาตวนที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้มารับฟังการพิจารณาคดีได้ภายในต้น 2018 และน่าจะตัดสินคดีให้แล้วเสร็จได้ในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสื่อมวลชนเกรงว่าการพิจารณาคดีอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมภายใต้รัฐบาลของนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน ซึ่งมีท่าทีชัดเจนว่าไม่สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนมากนัก

เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ฟิลิปปินส์โทษสื่อ ข่าวยาเสพติดทำนักท่องเที่ยวหด

สื่อฟิลิปปินส์ กระบอกเสียงกลางกระบอกปืน