ไม่พบผลการค้นหา
อะฮิด ทามิมี ชาวปาเลสไตน์ วัย 17 ปี นักเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองปาเลสไตน์ ถูกเบิกตัวขึ้นศาลทหารอิสราเอล ที่หมู่บ้านเบทูเนียในเขตเวสต์แบงค์ หลังจากเธอและแม่ถูกจับกุมตั้งแต่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ในข้อหาใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร

เว็บไซต์ ไอ24 สื่อของอิสราเอล รายงานว่า อะฮิดและครอบครัวเผชิญหน้ากับทหารอิสราเอล 2 นาย ซึ่งตรึงกำลังที่หมู่บ้านนบีซาเลห์ในเขตเวสต์แบงค์เมื่อสัปดาห์ก่อน ระหว่างที่ชาวปาเลสไตน์ราว 200 คนรวมตัวประท้วงกรณีสหรัฐฯ ประกาศรับรองให้นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และอะฮิดถูกกล่าวหาว่าใช้ถ้อยคำยั่วยุ รวมถึงทุบตีนายทหารทั้งสองนายจนเกิดการยื้อยุดกัน แต่อะฮิดไม่ได้ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุเมื่อ 15 ธันวาคม แต่ถูกจับกุมหลังจากที่วิดีโอบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในกลุ่มผู้สนับสนุนคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายทั่วโลก

สื่ออิสราเอลระบุว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อะฮิดและครอบครัวยั่วยุให้เจ้าหน้าที่อิสราเอลตอบโต้ในระหว่างที่มีการชุมนุมหรือรวมตัวประท้วงในฝั่งปาเลสไตน์ เพราะครั้งแรกที่อะฮิดตกเป็นข่าวไปทั่วโลกคือปี 2012 ขณะยังเป็นเพียงเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี โดยสื่อหลายสำนักได้เผยแพร่ภาพขณะที่อะฮิดตะโกนถามทหารอิสราเอลที่มีอาวุธครบมือว่าน้องชายของเธออยู่ไหน

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิสราเอลตอบโต้การกระทำของอะฮิดและครอบครัวทามิมีด้วยท่าทีรุนแรง โดยนาฟทาลี เบนเน็ตต์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของอิสราเอล ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุกองทัพว่า ผู้ใช้กำลังทำร้ายทหารอิสราเอลซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างอดทน สมควรถูกขังในคุกจนตาย ขณะที่ยิสราเอล คาตซ์ รัฐมนตรีกระทรวงข่าวกรอง ระบุว่าจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้นักเคลื่อนไหวที่ใช้ความรุนแรงได้สำนึกบทเรียนจากการกระทำของพวกเขาเอง

Ahed Tamimi-Family-2015.jpg

(AFP: ครอบครัวทามิมีเผชิญหน้ากับทหารอิสราเอลเมื่อปี 2015)

ขณะที่วอชิงตันโพสต์ สื่อของสหรัฐฯ รายงานเพิ่มเติมว่า นูร์ นาจี ทามิมี วัย 21 ปี ญาติของอะฮิดซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน เป็นผู้หญิงปาเลสไตน์คนที่ 3 ที่ถูกจับกุมไปขึ้นศาลทหารช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนโมฮัมเหม็ด ทามิมี ลูกพี่ลูกน้องของอะฮิด วัย 14 ปี และเป็นหนึ่งในผู้เข้าประท้วงเมื่อสัปดาห์ก่อนด้วย ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเพราะถูกยิงด้วยกระสุนยาง และเพิ่งออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม ขณะที่นายบาสเซ็ม ทามิมี พ่อของอะฮิด ระบุว่าทหารเข้าตรวจค้นบ้านของพวกเขาในหมู่บ้านนบีซาเลห์ ทั้งยังยึดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ไปด้วย

อะฮิดถูกสื่ออิสราเอลตั้งฉายาว่าเป็นวัยรุ่นอารมณ์เกรี้ยวกราด โดยเว็บไซต์เยรูซาเลมโพสต์ รายงานอ้างอิงความคิดเห็นของชาวอิสราเอลจำนวนมากซึ่งมองว่าอะฮิดและครอบครัวจงใจเผชิญหน้ากับทหารอิสราเอลเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ซึ่งจะสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังตอบโต้ของชาวปาเลสไตน์ ส่วนครอบครัวของอะฮิดจะคอยบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ แต่ชาวปาเลสไตน์มองว่า อะฮิดคือผู้กล้าต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม และเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลตั้งแต่อายุยังน้อย

ก่อนหน้านี้ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่อะฮิดเผชิญหน้ากับทหารอิสราเอล โดยเมื่อปี 2015 น้องชายของเธอถูกทหารจับตัวเพราะเขาขว้างปาก้อนหินใส่กลุ่มทหารที่ประจำการอยู่ในหมู่บ้าน แต่อะฮิดเข้าไปช่วยและกัดมือทหารเพื่อให้ปล่อยตัวน้องชายของเธอ ซึ่งวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั่วโลก และนายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ถึงกับส่งคำเชิญมาถึงอะฮิดให้ไปรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเขาต้องการแสดงความสนับสนุนการต่อสู้ของเธอ และฤดูร้อนปีนี้ อะฮิดยังได้รับเชิญไปร่วมการประชุมยาวชนที่เซาท์แอฟริกา ซึ่งหลังจากที่เธอถูกจับกุมครั้งล่าสุดก็มีการติดแฮชแท็กเรียกร้องให้ปล่อยตัว #FreeAhedTamimi ในเครือข่ายทวิตเตอร์อีกด้วย

นอกเหนือจากกรณีของอะฮิด ยังมีกรณีของ เฟาซี อัล-จูไนดี วัยรุ่นชายชาวปาเลสไตน์วัย 16 ปีอีกรายหนึ่งซึ่งถูกทหารอิสราเอลจับกุมและตั้งข้อหาเดียวกัน เนื่องจากเขาขว้างก้อนหินใส่ทหารระหว่างที่มีการประท้วงต่อต้านคำประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนท์ของอังกฤษรายงานว่าภาพเฟาซีถูกจับมัดมือไพล่หลังพร้อมผ้าปิดตา และมีทหารหลายนายล้อมรอบ ทำให้มีผู้ตั้งคำถามต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อิสราเอลว่าเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางและกระสุนจริงจนเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย

AP17349539585813.jpg

ส่วนกรณีที่วัยรุ่นปาเลสไตน์วัย 17 ปี ซึ่งข่าวไม่ระบุชื่อ ทำร้ายร่างกายและพยายามแทง อาริก อาเชอร์แมน แรบไบและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอิสราเอลเมื่อปี 2015 ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาทำร้ายร่างกาย และถูกลงโทษให้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมเป็นเวลา 150 ชั่วโมงเมื่อ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ชาวอิสราเอลที่มีแนวคิดสุดโต่งโจมตีว่าบทลงโทษดังกล่าวเบาเกินไป เพราะที่จริงแล้วข้อหาดังกล่าวมีบทลงโทษสูงสุดคือจำคุก 6 เดือน โดยไทม์ออฟอิสราเอลรายงานว่า แรบไบอาเชอร์แมนเป็นผู้ขอร้องผู้พิพากษาไม่ให้ลงโทษจำคุกแก่ผู้ก่อเหตุอย่างรุนแรงจนเกินไป เพราะที่ผ่านมาอาเชอร์แมนเป็นผู้รณรงค์ให้ผู้สนับสนุนปาเลสไตน์และอิสราเอลงดเว้นการใช้ความรุนแรงและต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธีมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากฝ่ายรัฐบาลปาเลสไตน์ ซึ่งถือว่าละเมิดเงื่อนไขการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามผลักดันมาตลอด ทั้งยังส่งผลให้ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ต้องจัดการประชุมเร่งด่วนเพื่อหาทางออกให้แก่กระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง เพื่อให้กระบวนการต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าการตัดสินใจของนายทรัมป์จะถูกมองว่าเป็นการเลือกข้างอิสราเอลอย่างชัดเจน

ที่ผ่านมา นานาชาติไม่เคยรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ เพราะสหประชาชาติต้องการสนับสนุนนโยบาย 2 รัฐในการยุติปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงดินแดนระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยเงื่อนไขหนึ่งของนโยบาย 2 รัฐคือการรับรองอำนาจอธิปไตยให้แก่ทั้งสองฝ่าย ขณะที่เยรูซาเลมฝั่งตะวันตกเป็นของอิสราเอล และเยรูซาเลมฝั่งตะวันออกจะเป็นของปาเลสไตน์

แม้จะมีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ รับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงปาเลสไตน์ด้วย แต่นายทรัมป์ไม่มีท่าทีตอบสนองใดๆ ต่อประเด็นดังกล่าว

เรียบเรียง: ตติกานต์ เดชชพงศ