ท่ามกลางยุคสมัยที่เปี่ยมด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ เกษตรกรหลายรายเริ่มผันตัวมาเป็น ‘สมาร์ทฟาร์มเมอร์’ ทำการผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ปลูก แปรรูป และวางขาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ผู้บริโภคมองเป็นทางเลือกมากขึ้น
‘ซี แอล พี เอ็นจิเนียริ่ง’ (CLP) หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องสีข้าว และเครื่องจักรกลการเกษตรมาตรฐานสากล มองเห็นโอกาสทางธุรกิจท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงทาบทาม ‘ไทวะ เซกิ คอร์เปอเรชัน’ (Taiwa) ผู้ผลิตเครื่องสีข้าวจากแดนอาทิตย์อุทัยที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี ร่วมกันพัฒนาเครื่องสีข้าวรุ่นใหม่ 3 ตัว ตอบสนองเกษตรกรทุกระดับ โดยยึดมาตรฐานเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น
“เราตั้งใจจะเซ็ตมาตรฐานเครื่องสีข้าวในไทยค่ะ” วัชรา ลี้โกมลชัย กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทซีแอลพี บอกกับวอยซ์ ออนไลน์ พร้อมเสริมต่อว่า ที่ผ่านมา เครื่องสีข้าวในไทยที่ใช้ในระดับชุมชนหรือครัวเรือน มักจะนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ทำให้มีปัญหาด้านมาตรฐาน
“มาตรฐานในที่นี้คือ มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานอะไหล่ต่างๆ ส่วนใหญ่เครื่องจักรด้านการเกษตรพอเกิดปัญหา การซ่อมอะไรต่างๆ จึงเกิดความยาก การสร้างมาตรฐานในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่มาตรฐานตัวเครื่อง แต่เป็นมาตรฐานการให้บริการ และการรับประกันต่างๆ ในยุคนี้เรามองว่าลูกค้ามีความต้องการบริการหลังการขายมากกว่าราคา”
2 รุ่นขนาดเล็ก และกลาง คือเครื่องรุ่นเล็ก ‘CR-150 อีโค’ ขนาด 45 กิโลกรัม รุ่นกลาง ‘CR-150 อีโค ดูโอ ฟังก์ชัน’ ขนาด 65 กิโลกรัม ที่นอกจากสีข้าวแล้ว ยังมีอีกฟังก์ชันที่ใช้บดธัญพืชได้อีกด้วย สองรุ่นดังกล่าวเหมาะสมกับทั้งใช้ในชุมชนหรือครัวเรือนของเกษตรกรที่ปลูกข้าวเอง ราคาจับต้องได้ที่ 14,900 บาทและ 19,500 บาท
ส่วนรุ่นใหญ่อย่าง ‘CMF-201’ ผลิตออกมาเพื่อ ‘สมาร์ทฟาร์มเมอร์’ นักธุรกิจทางการเกษตร โดยเฉพาะ เหมาะกับวิสาหกิจชุมชนหรือระดับอุตสาหกรรม โดยเกษตรกรไม่ต้องนำผลผลิตไปผ่านโรงสีข้าวใดๆ จึงสามารถควบคุมต้นทุนได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผลิต เพราะมีระบบการทำงานตั้งแต่ทำความสะอาดข้าวเปลือก กะเทาะข้าวเปลือก ขัดสี คัดแยกขนาดข้าวสาร โดยสามารถเลือกระดับความขาวของข้าวได้ด้วย ในราคาสามแสนกลางๆ
เทคโนโลยีใหม่ จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความเสียหายของข้าวระหว่างการสีลดลง และคุณภาพข้าวที่ได้ออกมา
“จุดเด่นของเราคือ เน้นในเรื่องของข้าวที่ออกมา ข้าวออกมาจะมีเม็ดที่สวย ปรับระดับความขาวของข้าวได้ เกษตรกรที่ใช้เครื่องของเราจะสามารถนำจุดเด่นตรงนี้ไปสร้างความแตกต่างให้กับข้าวของตนเอง ทำให้โอกาสการขายและกันแข่งขันในตลาดง่ายมากขึ้นด้วยค่ะ”
ขณะที่กลางปีหน้า ซี แอล พี มีโปรเจ็กต์ใหม่ เปิดตัวเครื่องสีข้าวในบ้านที่ชื่อว่า ‘ไมโกะ’ เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ขนาดวางบนเคาน์เตอร์ในครัวได้ ถูกออกแบบให้สามารถสีข้าวได้ 2 เสต็ป คือ 1. ข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้อง และ 2. ข้าวกล้องเป็นข้าวขาว
“ด้วยความที่เราดีลงานกับคนญี่ปุ่นบ่อย ทำให้เราได้เดินทางไปญี่ปุ่นและพบว่า เรื่องข้าวสำหรับคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก มีผลกระทบตั้งแต่ภาคเกษตรกรจนถึงผู้บริโภคในเมือง เรามองกลับมาที่ประเทศไทย ทำไมข้าวยังเป็นเรื่องเกษตรกรอยู่ เราตั้งใจอยากจะให้ผู้บริโภคคนไทยที่อยู่ในเมือง ที่กินข้าวทุกวัน มีโอกาสที่จะได้ทานข้าวที่ดี ในจังหวะที่ใช่ที่สุดของเขา”
คำว่า ‘สีข้าวสดใหม่’ ของวัชราคือ เรื่องของ รสชาติ ความหวาน ความหอม ซึ่งเธอการันตีว่า แตกต่างจากข้าวถุงที่ซื้อสำเร็จแน่นอน เพราะข้าวก็คือผัก คือพืชชนิดหนึ่งเหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นของแห้งที่ดูจะเก็บได้นาน แต่ข้าวก็มีเลเยอร์ในเมล็ดของมันเอง พอกะเทาะจากโรงสี ชั้นนอกก็โดนอากาศ
‘ระดับความขาวของข้าว’ คือจุดขายสำคัญที่เธอมั่นใจว่า จะซื้อใจคนเมืองทุกระดับได้ โดยไมโกะสามารถปรับระดับความขาวของข้าวได้ 7 ระดับ
“ส่วนใหญ่เราจะพบว่า การทานข้าวกล้องเป็นเรื่องที่ดี ได้สารอาหารสูง แต่เด็กอาจจะทานลำบาก ผู้ใหญ่ที่มีอายุอาจจะทานลำบากเหมือนกัน เพราะว่ามีเท็กซ์เจอร์ที่ค่อนข้างแข็ง ทีนี้ ถ้าในการที่เราขัดข้าวเป็นสเต็ป เราสามารถทานข้าวที่นิ่มเหมือนข้าวขาว แต่มีสารอาหารสูงกว่าข้าวขาวปกติได้ น่าจะตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพด้วย”
ด้าน มานพ ลี้โกมลชัย ประธานกรรมการของซี แอล พี กล่าวถึงทิศทางของบริษัทในอนาคตว่า ด้วยนโยบายส่งเสริมการเกษตรพึ่งพาตัวเองของรัฐบาล ทำให้แนวโน้มของการขยายเครื่องสีข้าวในประเทศไทยดีขึ้น คาดว่าใน 2-5 ปีนี้ ตลาดจะโตขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งทางบริษัทมองโอกาสตลาดนอกประเทศด้วย คือในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา