ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประกอบการเกาะหมากเดินหน้าทำสวนเกษตรอินทรีย์บนผืนทราย เพื่อลดการนำเข้าพืชผักจากฝั่ง และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยบรรดาผลผลิต อาทิ ผักสลัด พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะเพรา มะละกอ ฯลฯ ล้วนส่งไปประกอบอาหารรองรับนักท่องเที่ยว และหากเหลือก็จัดจำหน่ายให้รีสอร์ท หรือร้านอาหารอื่นๆ ในราคายุติธรรม

บนเกาะหมาก จังหวัดตราด ผู้ประกอบการหลายเจ้ากำลังหันมาให้ความสำคัญกับการทำสวนเกษตรอินทรีย์ และเลี้ยงสัตว์แบบปล่อย เพื่อผลิตเป็นอาหารรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ขณะเดียวกันก็มุ่งตอบโจทย์การดำเนินชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของชุมชนเกาะหมาก

บ่ายวันเสาร์ท่ามกลางอากาศร้อนจัด ‘วอยซ์ ออนไลน์’ เผอิญพบกับ ‘โอ๋ – ผดุงศักดิ์ สามัญเมือง’ ชายหนุ่มวัย 40 ผู้ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจาก ‘โครงการกำลังใจ’ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ก่อนพกพาความรู้มาพลิกฟื้นผืนทรายบนเกาะหมากให้กลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน เพื่อให้สมกับการเป็น ‘คนต้นแบบ’

Organic_0003_oh.jpg
  • โอ๋ – ผดุงศักดิ์ สามัญเมือง ผู้ดูแลสวนเกษตรอินทรีย์ของเกาะหมากรีสอร์ท กำลังรอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเวิร์กช็อปทำส้มตำ
Organic_0000_Capture 6.jpg
  • โซนเวิร์กช็อปล้อมรอบด้วยบ่อน้ำจืดขุดเอง นักท่องเที่ยวสามารถแวะเวียนมาเรียนรู้การทำสวนเกษตรอินทรีย์
Organic_0001_Capture 7.jpg
  • มุ้งตาข่ายการเกษตร ภายในเต็มไปด้วยแปลงผักคะน้า ผักบุ้ง และกวางตุ้ง ซึ่งปลูกแบบสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

โอ๋ถูกมอบหมายให้เข้ามาพัฒนาสวนเกษตรอินทรีย์ของเกาะหมากรีสอร์ท ซึ่งแปลงผักปลอดสารพิษอยู่ห่างจากชายหาดขาวนุ่มเนียนละเอียดเพียงเล็กน้อย ทว่านั่นเป็นความท้าทาย และโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา

“ความจริงผมไม่ได้เป็นคนเกาะหมาก ไม่ได้รู้จักเกาะหมากมาก่อน แต่ผมรับคำสั่งจากท่านผู้ว่าฯ เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ซึ่งมอบโอกาสให้มาช่วยดูแลมุ้งทางการเกษตร พร้อมกับพัฒนาการปลูกผักบนพื้นทราย แรกๆ ผมก็ท้อใจเหมือนกันนะ เพราะดินบนเกาะมันไม่มีสารอาหารเลย และพอหันหน้าออกไปก็เป็นทะเลแล้ว ศัตรูพืชมาครบทุกอย่าง” โอ๋เล่าความเป็นมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากปลดล็อกความกังวลใจ เขาฮึบสู้ต่อ แล้วเริ่มต้นจากการกวาดเอาใบไม้ และสาหร่ายทะเลมาทำเป็นปุ๋ยหมัก ต่อด้วยการปลูกผักสามัญประจำบ้าน เช่น กะเพรา คะน้า กวางตุ้ง และผักบุ้ง จนกระทั่งประสบความสำเร็จ โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี พืชผักนานาชนิดเจริญงอกงามได้ดี สวนเกษตรอินทรีย์ห่างไกลจากสารพิษตกค้าง และศัตรูพืช ซึ่งเคล็ดลับอยู่ตรงการปล่อยให้ธรรมชาติดูแลรักษาธรรมชาติด้วยกันเอง

“อย่าเอาปุ๋ยเคมีมาใส่ อย่าเอาสารเร่งมาใส่ ต้องปล่อยให้ธรรมชาติดูแลกันเอง แต่การทำเกษตรในมุ่งต้องคอยระวังแมลงหลงเข้าไป เพราะถ้าเข้าแล้วมันออกไม่ได้ และปัญหาจะแพร่กระจาย ซึ่งส่วนหนึ่มผมต้องเปิดรับความรู้ใหม่ๆ จากการพูดคุยกับคนท้องถิ่น และหลายคนคอยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ถ้าใครต้องการมาเรียนรู้เรื่องการปลูกผักผมก็ยินดีแบ่งปันมากๆ ผมสอนหมดทุกอย่าง ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ เตรียมดิน ทำปุ๋ยหมัก แวะมาหากันได้ตลอดเวลา” คนต้นแบบเอ่ยคำเชื้อเชิญ

Organic_0006_Capture9.jpg
  • คุณป้าคนงานสวนเกษตรอินทรีย์กำลังเก็บผักคะน้าจากแปลงในมุ้งตาข่าย
Organic_0002_Capture8.jpg
  • ผักคะน้างามๆ ปลอดสารพิษ ดีต่อกาย ดีต่อใจ ดีต่อสิ่งแวดล้อม
Organic_0005_Capture12.jpg
  • เพียงล้างผักเอาเศษดินออกเล็กน้อยก็สามารถนำไปปรุงอาหาร และเสิร์ฟให้กับลูกค้าของรีสอร์ทได้ทันที

ปัจจุบัน มากกว่าการปลูกผักปลอดสารพิษ รอบๆ เกาะหมากรีสอร์ทยังขุดบ่อน้ำจืดเลี้ยงปลาดุก ปลาสวาย ปลานิล ขณะเดียวกันข้างๆ ยังเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่แบบปล่อย เพื่อเป็นอาหารของพนักงาน โดยใช้เศษอาหารเหลือทิ้งจากรีสอร์ทมาเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งช่วยประหยัดรายจ่ายแล้วยังเป็นการนำขยะมาหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

“ผมแนะนำการขุดบ่อกักเก็บน้ำเล็กๆ ตามลำรางน้ำเดิมก็พอ เพราะปลาจะอยู่ตามธรรมชาติ น้ำไม่แห้ง และพยายามทำเป็นขั้นบันได เพราะเวลาน้ำเค็มไหลมาจะได้เข้าไม่ถึง ทางด้านนู้น (ชี้นิ้วไปอีกฝั่งของสวน) ก็มีกล้วย สับปะรด เงาะ ทุเรียน มังคุด ปลูกกลางแจ้งทุกอย่างเลย ถ้าเกิดลมมรสุมออกเรือไม่ได้ก็มีอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนบนเกาะได้” โอ๋ให้คำแนะนำ

สำหรับผลผลิตจากสวนเกษตรอินทรีย์จะถูกส่งตรงไปยังห้องครัวของเกาะหมากรีสอร์ท และซีวานาบีชรีสอร์ท เพื่อใช้ประกอบอาหารปลอดสารพิษรองรับนักท่องเที่ยว และหากเหลือก็จัดจำหน่ายให้กับรีสอร์ท ร้านอาหาร หรือคนท้องถิ่นในราคายุติธรรม

“ที่นี่คาร์บอนต่ำเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหากสั่งผักบุ้งจากฝั่งมา 10 กิโลกรัม พอมาบนเกาะสามารถใช้จริงๆ ได้แค่ 5 กิโลกรัม เนื่องจากส่วนหนึ่งเสียหายกลางทาง แล้วต้องเสียค่ารถยนต์ ค่าเรือ ค่าเชื้อเพลิงอีก ซึ่งถ้าสามารถตัดวงจรดังกล่าวออกไปให้หมด แล้วหันมาปลูกผักกันบนเกาะเลย ก็ช่วยลดต้นทุน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย” โอ๋กล่าว

Organic_0004_Capture4.jpg
  • มะละกอบนเกาะหมากลูกใหญ่ และมีหลากหลายสายพันธ์ุ
Organic_0007_Capture 13.jpg
  • ผักบุ้งกำลังเติบโตเขียวชอุ่มอยู่บนแปลงในมุ้งตาข่าย

นอกจากนั้น ทางสวนเกษตรอินทรีย์ยังออกแบบกิจกรรมสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยววิถีเกษตรอินทรีย์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ เช่น เก็บไข่ เก็บผัก ปลูกข้าว และทำอาหารจากพืชผัก

สุดท้ายเมื่อทีมงาน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ เอ่ยถามเรื่องอนาคตความเป็นอยู่ ชายหนุ่มตอบกลับแบบไม่ลังเลเลยว่า เขาต้องการกระจายความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ออกสู่เกาะต่างๆ หรือจังหวัดต่างๆ อย่างกว้างขวาง