ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับเจ้าของสวนทุเรียน ‘ไร่พฤกษโกศล’ หลังหันมาปลูกทุเรียนสายพันธุ์ ‘มูซังคิง’ (Musang King) ผลไม้มาแรงจากจังหวัดยะลา ซึ่งปัจจุบันทำราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมสูงถึง 500 บาท

ชื่อเสียงทุเรียนสายพันธ์ุ ‘มูซังคิง’ ผลไม้ใต้สุดแดนสยาม จังหวัดยะลา กำลังโด่งดังทั่วเอเชีย และกระแสความอร่อยของมันยังคงมาแรงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ที่ต่างหลงใหลในรสชาติแบบขมนำหวานตาม จนมูซังคิงได้รับการยกย่องให้เป็นทุเรียนสายพันธุ์อร่อยสุดของ ‘ราชาผลไม้’

เดิมที ทุเรียนมูซันคิงนิยมปลูกกันในประเทศมาเลเซียเท่านั้น โดยการพัฒนาสายพันธุ์จากสถาบันวิจัยทางการเกษตรของประเทศมาเลเซีย จนกลายเป็นลักษณะเด่นคือ เนื้อเยอะ เมล็ดเล็กลีบบาง ใช้เวลาการเลี้ยงดูก่อนออกผลประมาณ 4-5 ปี และน้ำหนักไม่มากนักเมื่อเทียบเคียงกับทุเรียนสายพันธ์ุอื่นๆ

ทุเรียนมูซานคิง.jpg
  • ทุเรียนมูซังคิง จากไร่พฤกษโกศล ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

ต่อมา ทุเรียนมูซังคิงเกิดความนิยมอย่างมาก ด้วยรสชาติลึกล้ำ อร่อยล้นทุกๆ คำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทำให้ราคาขยับตัวสูงขึ้น เกษตรทางภาคใต้ผู้เล็งเห็นช่องทางทำเงิน จึงเริ่มนำทุเรียนหนามดำคุณภาพดีเข้ามาเพาะพันธุ์ตามมาตรฐาน กระทั่งเกิดเป็นปรากฏการณ์ล้มยางพาราแล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน โดยเฉพาะแถบๆ อำเภอเบตง และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ที่สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย

สุพจน์ พฤกษโกศล เกษตรกรเจ้าของ ‘ไร่พฤกษโกศล’ ที่เชี่ยวชาญการปลูกทุเรียนมูซังคิงมายาวนานมากกว่า 40 ปี การันตีเอกลักษณ์เด่นของมูซังคิงว่า นอกจากรสชาติขมนำหวานตามแล้ว กลิ่นหอมเฉพาะตัว บวกกับเนื้อสัมผัสนุ่มเนียนละเอียด ทำให้อร่อยกว่าทุเรียนหมอนทองแน่นอน

“บ้านผมติดดาวเทียม เลยดูข่าวการเกษตรของเมืองจีน ทางนู้นเขาออกข่าวว่าทุเรียนอร่อยสุด และแพงสุดในโลกคือ มูซังคิง ผมก็ซื้อมากินแล้วมันอร่อยจริงๆ ไม่เคยกินทุเรียนอร่อยแบบนี้” เถ้าแก่เจ้าของสวนทุเรียนยืนยันหนักแน่น 

สุพจน์ พฤกษโกศล.jpg
  • สุพจน์ พฤกษโกศล เจ้าของไร่พฤษโกศล ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

สุพจน์เล่าว่า สัมผัสแรกหลังจากทานมูซังคิงคือ ความขมเล็กน้อย ก่อนความหวานจะตามมา ซึ่งนั่นเป็นรสชาติที่ผู้บริโภคจีนสุดคลั่งไคล้ ต้องแห่มากิน พร้อมหิ้วกลับบ้านด้วย โดยทุเรียนมูซานคิงจะอร่อยสุดๆ ต้องปล่อยให้สุกคาต้น ถ้าตัดมาบ่มรสชาติสู้ไม่ได้ 

มากไปกว่านั้น ด้วยลักษณะพื้นที่ทำการเกษตรของไร่พกฤษโกศล ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเขา ติดกับอ่างเก็บน้ำบางลาง ตำบลแม่หวาด จังหวัดยะลา ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้ทุเรียนมูซันคิงของสุพจน์เด่นเป็นพิเศษ 


ทุเรียนมาเลย์มาแรง สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย 

ในประเทศไทย ทุเรียนมูซังคิงสนนราคาขายปลีกค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยตกอยู่กิโลกรัมละ 500 บาทขึ้นไป ซึ่งแพงมากหากเทียบกับทุเรียนสายพันธ์ุทั่วไป ที่นิยมรับประทานกันตามท้องตลอดอย่างหมอนทอง ตกอยู่กิโลกรัมละประมาณ 100 บาทเท่านั้น 

ทว่าหากย้อนกลับไปดูประเทศต้นกำเนิดจะเห็นว่า ราคาของทุเรียนมูซังคิงถีบตัวสูงขึ้นตามความนิยมของผู้บริโภค โดยในปี 2559 ทุเรียนมูซังคิงราคาเฉลี่ย 275 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนปีถัดมาจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วยราคาเฉลี่ย 675 บาทต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว 


สุพจน์ พฤกษโกศล 2.jpg
  • สุพจน์กับทุเรียนมูซังคิงที่ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยว


ทุเรียนมูซานคิง 2.jpg
  • ทุเรียนมูซันคิง ถ้าปล่อยให้สุกคาต้นจะได้รสชาติอร่อยมาก

ก่อนจะหันมาปลูกทุเรียนเต็มตัว สุพจน์เคยทำสวนยางพารามาก่อน แต่รายได้ไม่ค่อยดีนัก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะฝนตกชุกตลอดปี ทำให้เวลากรีดยางน้อยลงด้วย

“บ้านเราฝนตกเยอะ ปีหนึ่งบางทีกรีดยางได้ไม่ถึงร้อยวัน ทุเรียนดีกว่าเยอะ เพราะไม่ต้องทำอะไรมาก เป็นงานง่าย ตื่นมารดน้ำ ถึงเวลาใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นโรคก็ฉีดยารักษา ตอนนี้พึ่งได้ขาย รายได้ดี ราคาอยู่ที่ 500 บาทต่อกิโลกรัม แต่นานๆ ไปอาจจะลดลงมา”

นักปลูกทุเรียนมืออาชีพเล่าเคล็ดลับต่อว่า สวนของเขาเป็นพื้นที่ที่ต้องเซาะดินออกมา และปลูกทุเรียนตามแนวขั้นบันได เพื่อให้มีทางเดิน และน้ำในดินแห้งเร็ว พอน้ำแห้งเร็วโรคจะน้อย และผลไม้จะรสชาติดีด้วย 


ทุเรียนมูซานคิง 3.jpg
  • ทุเรียรมูซังคิง จากไร่พฤกษโกศล ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

ทุกวันนี้ การขายทุเรียนของไร่พฤกษโกศลเน้นการส่งให้กับล้ง หรือพ่อค้าคนกลาง เพราะสะดวก ไม่ยุ่งยาก แต่ช่วงหลังสุพจน์เพิ่มวิธีการขานรูปแบบใหม่ด้วยคือ ขายปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะสามารถทำราคาได้ดีกว่า และต่อรองราคาง่ายกว่า 

“ปลูกทุเรียนก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน โรคมาทีก็ตายเรียบ แต่อย่างไรก็คุ้ม เพราะมันปลูกใหม่ได้ (ยิ้ม)” สุพจน์ทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี 

On Being
198Article
0Video
0Blog