ไม่พบผลการค้นหา
เที่ยวแม่กลอง เยี่ยมชมโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ทำน้ำม่วงชื่นชานชาลา ทอดขนมวง และค้นหาต้นกำเนิดของน้ำตาลมะพร้าว วัตถุดิบโบราณของคนท้องถิ่น

ได้ยินวลี ‘หน้างอคอหัก’ เมื่อไหร่ ก็พาให้นึกถึงสายน้ำ ความมีชีวิตชีวาของหลากชีวิตริมลำคลองชุมชน ‘แม่กลอง’ จังหวัดสมุทรสงคราม ที่จากอดีตเนิ่นนานมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงความคลาสสิกอยู่เสมอ

Voice On Being ได้โอกาสเยือนเมืองปลาทูหน้างอ (ขอเสริมหน่อยว่า หน้างอคอหัก ที่เป็นนิยามของปลาทูแม่กลองนั้น มาจากปลาทูแม่กลองอุดมสมบูรณ์มาก ขนาดใหญ่กว่ามาตรฐาน ทำให้ต้องหักคอใส่เข่งถึงจะพอดี) ร่วมทำกิจกรรมกับโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสนับสนุนอาชีพ สินค้า และภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ไม่ให้จางหายไป ทั้งยังเป็นรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนอีกด้วย

LOGO1200X800.jpg

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของน้ำตาลมะพร้าว ที่มีหลักแหล่งอยู่ ณ ชุมชนแม่กลอง อัมพวา อีกด้วย

เอาล่ะ หากพร้อมสัมผัสเสน่ห์แม่กลองแล้ว เลื่อนลงอ่านบรรทัดต่อไปพร้อมๆ กันเลย


ร่มรื่นต้นมะพร้าว สดชื่นริมลำคลอง

ขับรถตัดจากตัวเมืองสมุทรสงคราม ลัดเลาะเข้าสู่ชุมชนแม่กลอง พื้นที่ที่ไม่ไกลจากตลาดอัมพวาอันโด่งดังมากนัก เราก็มาหยุดอยู่หน้าทางเข้าโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ในช่วงสายของวันเสาร์ต้นเดือนสิงหาคม ลงจากรถพร้อมสัมผัสกับการต้อนรับด้วยรอยยิ้มจากลุง ป้า น้า อา ที่ขนผลผลิตจากบ้านมาวางขายกันอย่างอบอุ่น

โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ เกิดขึ้นจากการพระราชทานพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่ง ‘ประยงค์ นาคะวะรังค์’ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวา ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา เพื่อให้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์5.jpgอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์14.jpg

ภายในโครงการ มีกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปะ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของคนท้องถิ่น ทั้งด้านกายภาพ และวิถีชีวิตของผู้ที่อาศัยในชุมชน และเป็นพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนจากการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูป และค่าตอบแทนจากการให้บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เดินลัดเลาะไปตามทิวต้นไม้ ท่ามกลางกลิ่นไอสดชื่นหลังฝนหยุดตก เราหยุดที่สถานีที่ 1 ‘น้ำม่วงชื่นชานชาลา’ น้ำสูตรพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ โดยมีส่วนผสมของน้ำตะไคร้ น้ำอัญชัญ น้ำเชื่อม ปรุงเพิ่มด้วยน้ำมะนาว เกลือ และใบสะระแหน่

ทั้งอัญชันแห้ง และตะไคร้ เป็นพืชผลที่คนในพื้นที่ต่างสามารถปลูก นำมาแปรรูป สร้างมูลค่า และสร้างสินค้าใหม่ๆ เพื่อนำมาวางขายได้

อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์1.jpgอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์2.jpg

สถานีที่ 2 ‘ขนมวง’ ขนมขึ้นชื่อของชุมชน เป็นรูปทรงกลมมีรูตรงกลางคล้ายโดนัท แต่เล็กกว่า และใช้กรรมวิธีการทอด

ส่วนผสมง่ายๆ คือแป้งข้าวเหนียว มะพร้าวขูด และกล้วยหอม สัดส่วนกะเท่าๆ กันก่อนขยำให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยค่อยๆ เติมน้ำมะพร้าวทีละนิด ละนิด เพื่อไม่ให้แป้งแฉะเกินไป เมื่อแป้งเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว นำมาปั้นเป็นวงกลม ก่อนน้ำไปทอดให้สีเหลืองกรอบ จากนั้นนำมาคลุกกับน้ำตาลมะพร้าว เสิร์ฟใส่กระทงใบตอง

อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์3.jpgอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์4.jpg

รสชาติมันๆ จากมะพร้าว หนึบจากแป้ง หวานกล้วยและน้ำตาลมะพร้าวเคลือบ กินแล้วอารมณ์ดีจริงๆ


หวานตาล ณ แม่กลอง

มาถึงสถานีสุดท้าย ‘เตาตาล’ ถือเป็นไฮไลท์ของโครงการเลยทีเดียว เพราะน้อยคนนักจะรู้ว่าอัมพวาคือต้นกำเนิดของน้ำตาลมะพร้าว ที่นี่มีวัฒนธรรม ‘ขึ้นตาล’ กันมาแต่โบราณ

การขึ้นตาลไม่ใช่หมายถึงการเก็บลูกตาลแต่อย่างใด ทว่าเป็นการขึ้นไปปาดน้ำหวานจากดอกมะพร้าวจากบนต้นมะพร้าว ซึ่งคนที่นี่นิยมเรียกว่า ‘ตาล’ มาแต่ไหนแต่ไร เพื่อนำมาเข้าเตาตาล ออกมาเป็นน้ำตาลมะพร้าว ทำขนมก็ดี ชงกาแฟก็อร่อย

อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์7.jpg
  • ในการทำน้ำตาลมะพร้าว จะใช้น้ำหวานจากมะพร้าว 40 ลิตร ต้ม 1.30 ชั่วโมง และได้น้ำตาลมะพร้าวออกมา 6 กิโลกรัม
อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์9.jpgอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์12.jpg
  • หน้าตาของน้ำตาลมะพร้าวในบรรจุภัณฆ์จริงที่วางขาย มีรูปแบบที่บดละเอียด เพื่อใช้เป็นน้ำตาลในครัวเรือนด้วยนะ

นอกจากนั้น น้ำหวานจากดอกมะพร้าว ยังมีวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการหมักให้ได้ออกมาเป็นน้ำส้มสายชูจากน้ำหวานจากดอกมะพร้าว ซึ่งกลมกล่อมหากนำไปผสมทำน้ำจิ้ม หรือปรุงอาหารไทย

เป็นภูมิปัญญาที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ดังนั้น จึงดีใจที่วันนี้ได้มาเยือนอัมพวา ที่ซุกซ่อนของเด็ดของดีไว้มากมายจริงๆ

อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์10.jpg
  • ก่อนกลับกรุงเทพฯ เราแวะอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก หนึ่งในวัดที่สวยที่สุดและเก่าแก่ที่สุดใน จ.สมุทรสงคราม
อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์11.jpg
  • แล้วก็แวะวัดบางกุ้ง ค่ายทหารเรือไทยที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไฮไลท์คือโบสถ์ปรกโพธิ์ ที่ถูกปกคลุมด้วยรากไม้ใหญ่ ทั้งโพธิ์ ไทร ไกร และกร่าง ซึ่งช่วยคงรูปอาคารโบสถ์เอาไว้ ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อนิลมณี ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนท้องถิ่น ถือเป็นอีกหนึ่ีงจุดเช็คอินที่ควรแวะหากมาเยือนอัมพวา
On Being
198Article
0Video
0Blog