ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากธุรกิจอาหารจำพวกปิ้งย่างยากินิกุ และชาบูชาบู เบ่งบานหนักในประเทศไทย มันมาพร้อมกับการชูวัตถุดิบหลักคือ ‘เนื้อวัวเกรดพรีเมียม’ ซึ่งต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือสหรัฐฯ นับหลายพันตันต่อปี และหากใครอยากลิ้มลองความชุ่มฉ่ำราวกับละลายในปากก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเท่านั้น!

คำถามที่ตามมาคือ แล้วคุณภาพมาตรฐานของเนื้อวัวไทยอยู่ตรงไหน? เพราะเหตุใดถึงขึ้นชั้นเนื้อพรีเมียมบ้างไม่ได้?

เมื่อวานนี้ (26 มิถุนายน) ที่งานรีแบรนด์ดิ้งภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของเนื้อโคขุนโพนยางคำ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ได้พูดคุยกับ ‘ยงยุทธ อุดมศักดิ์’ สหกรณ์จังหวัดสกลนคร และ ‘อุทิศ เคนะอ่อน’ ประธานสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด เกี่ยวกับความจริงของเนื้อโพนยางคำที่หลายคนเข้าใจผิดมาตลอด 40 ปี และการปรับตัวเป็นโคขุนเกรดพรีเมียม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์

โพนยางคำ 4.jpg

‘โพนยางคำ’ ไม่ใช่ร้านปิ้งย่าง ไม่ใช่สายพันธ์ุวัว แต่เป็นชื่อหมู่บ้าน

หลายคนกำลังเข้าใจผิดกับชื่อ ‘โพนยางคำ’ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลโนนหอม อ.เมือง จ.สกลนคร สถานที่ตั้งของสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด กำเนิดขึ้นเมื่อ 23 มิ.ย. 2523 ด้วยความหวังจะสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.สกลนครเป็นดินปนทราย และสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตจากการทำไร่ทำนาค่อนข้างต่ำ

ปัจจุบัน สมาชิกของสหกรณ์ฯ มีอยู่มากกว่า 6,000 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ


‘โพนยางคำ’ มาจากวัวลูกครึ่งสายพันธุ์ผสม

แต่เดิมเกษตรกร จ.สกลนครนิยมเลี้ยงวัวพันธุ์อเมริกันบราห์มัน (American Brahman) ซึ่งทนต่อสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้ง ทว่าต่อมาเกิดการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทย จึงเกิดการผสมพันธุ์วัวชาร์โรเลส์ (Charolais) วัวลิมูซ่า (Limousin) และวัวซิมเมนทัล (Simmental) โดยได้ผู้้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจากประเทศฝรั่งเศส มาช่วยวางระบบการดำเนินงานผสมเทียม ผลิตอาหารสัตว์ การดูแลรักษา รวมทั้งการตลาดด้วย

เนื่องจากสหกรณ์ฯ ร่วมมือกับรัฐบาลไทย และฝรั่งเศส ทำให้อีกชื่อหนึ่งของโพนยางคำ ซึ่งคุ้นเคยกันอยู่ในท้องตลาดคือ ‘ไทยเฟรนช์’
โพนยางคำ 3.jpg

เบื้องหลังสูตรอาหารของโคขุน ‘โพนยางคำ’

ยิ่งจักรวาลในกระเพาะอาหารของวัวดีเท่าไหร่ ย่อมส่งผลให้รสชาติของเนื้อวัวอร่อยมากยิ่งขึ้น สำหรับการเลี้ยงดูปูเสื่อเนื้อโพนยางคำ เกษตรกรต้องเลือกใช้กากน้ำตาลจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลจากอ้อยมาทำเป็นอาหาร เพื่อทำให้เกิดลายไขมันแทรกอยู่ในเนื้อโคขุน


คุณภาพ ‘โพนยางคำ’ ไม่เป็นรองเนื้อนำเข้า

นอกจากนั้น โพนยางคำยังนับเป็นเนื้อคุณภาพสูงของประเทศไทย ด้วยความหอม หวาน นุ่มลิ้น (ไม่ได้พูดเกินจริง) มาจากการเลี้ยงโคขุนตามมาตรฐานของสหกรณ์ฯ ซึ่งต้องเน้นความสำคัญเรื่องอาหารแล้ว เนื้อตามเกณฑ์ต้องสร้างระดับไขมันแทรกอยู่ที่ 3.5 ขึ้นไป ก่อนขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในนาม ‘เนื้อโคขุนโพนยางคำ’

ก่อนออกวางจำหน่ายต้องผ่านขั้นตอนการบ่ม (Ageing) ที่อุณหภูมิห้องเย็น 2-4 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน
โพนยางคำ-เนื้อ-อาหาร-เนื้อวัวดอกไม้-กิน

เซเลบริตี้เชฟการันตี ‘โพนยางคำ’ กินดิบๆ ก็อร่อย

ล่าสุด เชฟต้น- ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร แห่งร้านอาหาร Le Du การันตีด้วยรางวัล Bangkok’s Top Table แสดงฝีมือการปรุง ‘พล่าเนื้อสด’ ใส่สมุนไพร และดอกไม้ตามฤดูกาล พร้อมกับเผยกับวอยซ์ ออนไลน์ ว่าเนื้อโพนยางคำพัฒนาคุณภาพไปไกลมาก ทำให้เนื้อสัมผัสนุ่ม รสชาติดีขึ้น และปราศจากกลิ่น จนสามารถนำมาทำเป็นทาร์ทาร์ได้

“ความจริงมันซิมเปิ้ลมาก แต่ผมต้องการชูรสชาติของเนื้อสดๆ คุณภาพดี พร้อมกับการปรุงแต่งแค่นิดๆ หน่อยๆ ด้วยเลมอน สมุนไพร และดอกไม้”

‘โพนยางคำ’ เกรดพรีเมียม นุ่มสุดๆ อยู่ตรงสันใน

แนะนำเนื้อส่วนพรีเมียมสุดของเนื้อโคขุนโพนยางคำ คือเนื้อส่วนสันใน ซึ่งเป็นส่วนติดกระดูกด้านในท้อง และไม่ค่อยเคลื่อนไหว จึงนุ่มมากเป็นพิเศษ นิยมนำไปทำเป็นสเต๊ก


ระบบการตรวจสอบเนื้อ ‘โพนยางคำ’ ที่แท้ทรู

ก้าวต่อไปของสหกรณ์ฯ คือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ด้วยการเชื่อมโยงประวัติวัวตั้งแต่แรกเกิด การเลี้ยงดู การขุน การดูแลรักษาสุขภาพ คุณภาพซาก คุณภาพเนื้อ และการรับรองแหล่งผลิตของเนื้อโคในบรรจุภัณฑ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจเรื่องแหล่งที่มา และคุณภาพของเนื้อวัว

โพนยางคำ 2.jpg

‘โพนยางคำ’ ตัดแบ่งตามสไตล์ฝรั่งเศส

ปัจจุบันเนื้อโพนยางคำวางจำหน่ายหลายรูปแบบ ทั้งแบบเป็นซาก เป็นวัวทั้งตัวตัดแบ่ง 4 เสี้ยว และตัดแบบเป็นชิ้นตามระบบฝรั่งเศส (French Beef Cutting System) หลักๆ แล้ววางจำหน่ายตามร้านชั้นนำภายใต้ชื่อ ‘The Thai-French Butchery’


‘โพนยางคำ’ กับการรีแบรนด์ครั้งใหญ่

เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และขจัดความสับสนของผู้บริโภค ล่าสุด โลโก้ของสหกรณ์ฯ จากเดิมที่เป็นหน้าวัว 2 ตัว ถูกเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ให้ทันสมัยเป็นภาพวัวตัวเดียวแบบซิลลูเอทบนพื้นวงกลมสีแดง และเขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Pone Yang Kham’ สื่อความอินเตอร์ของสินค้าคุณภาพดี