นับเป็นสมาชิกสถาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่คิวทองมาก แม้จะเป็นช่วงปิดเทอม เนื่องจากปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก ไปเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ 'วอยซ์ ออนไลน์' ก็ได้โอกาสช่วงต้นสัปดาห์อันวุ่นวายที่จะพูดคุยกับเธอ 'ช่อ พรรณิการ์ วานิช'
"รีบมาก นี่พี่นั่งมอเตอร์ไซค์วินมาด้วย" เธอกล่าวเมื่อมาถึง
เริ่มต้นคุยกันแบบสบายๆ ก่อน ทำไมถึงเข้ามาทำงานการเมือง?
"จริงๆ ความฝันของช่อ เรียกว่าอุดมคติของชีวิตเรา และจุดหมายปลายทางว่าชีวิตเราเกิดมาทำอะไร ตั้งแต่สมัยที่เรียน มาทำงานเป็นนักข่าว พิธีกร ผู้ประกาศข่าว จนมาเป็นนักการเมือง เป็นผู้แทนราษฎร ก็ยังเป็นความฝันเดิม คือ เรารู้สึกว่า เราอยากตายไปจากโลกนี้โดยทำให้โลกนี้เป็นอย่างที่เราเชื่อ เราหวัง เราฝัน มากกว่าเดิมสักนิดนึงก็ยังดี ไม่ต้องถึงกับเปลี่ยนไปอย่างที่เราคิด มันคงใหญ่เกินไปสำหรับเรา จริงๆ ฟังดูเหมือนเพ้อๆ นะ แต่ว่าคนเราเกิดมาในชีวิตหนึ่ง มันก็คงอยากตายไปโดยทิ้งอะไรไว้กับโลกนี้บ้าง"
"ช่อไม่ค่อยเชื่อในระบบราชการเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่า เป็นระบบที่มีโครงสร้างอะไรใหญ่โต แล้วถ้าเราหวังจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันก็จะติดระบบที่เป็นโครงสร้างใหญ่ๆ ตอนนั้นตกผลึกว่า การเป็นนักข่าวน่าจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับปัญหาที่มันเกิดขึ้นในโลกในสังคม ทำให้อะไรๆ มันดีขึ้นผ่านการเปล่งเสียงออกมา ทำให้เสียงที่ไม่ได้ยิน ถูกได้ยินขึ้นมาบนสื่อ พอถูกชวนมาเป็นนักการเมือง ก็ไปคิดใคร่ครวญดูแล้วว่า ในสังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย จะเรียกว่าครึ่งใบยังไม่แน่ใจเลย คงจะยากที่จะให้เสียงของสื่อมวลชนมีพลังพอที่จะเปลี่ยนสังคมได้ เลยคิดว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนอะไรในประเทศไทย ต้องมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ ระดับประเทศ มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการเมือง ก็เลยมาเป็นนักการเมือง"
(พรรณิการ์ วานิช กับชุดแบรนด์ดังที่ทำให้มีดราม่าทางการเมือง เนื่องจากถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม)
เป็นอย่างไรบ้างกับบทบาท ส.ส. ในหนึ่งเทอมที่ผ่านมา?
"พอปิดประชุมสภาก็รู้สึกกระดี๊กระด๊ามากนะ เหมือนเด็กปิดเทอม ในที่สุดฉันก็ปิดเทอมแล้ว มีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ซึ่งก็ไม่จริงหรอกนะคะ เป็นการหลอกตัวเอง จริงๆ ยุ่งกว่าเดิมด้วย พอปิดสมัยประชุมแล้ว ก็จะมีการไปต่างจังหวัดมากขึ้น บวกกับมีเลือกตั้งซ่อมนครปฐมพอดี พรรคอนาคตใหม่ก็สู้เต็มที่ เพราะเป็นพื้นที่ที่เราได้รับชัยชนะมาก่อน"
"นึกย้อนกลับไปตอนเปิดเทอมวันแรก จริงๆ ตื่นเต้นกว่าปิดเทอม เพราะว่าไม่ใช่ช่อคนเดียว แต่อนาคตใหม่ทั้งพรรคเลย ไม่มีใครเป็น ส.ส. มาก่อน ไม่รู้ว่าเข้าไปในสภาต้องทำอะไร ระเบียบข้อบังคับก็ต้องทำการบ้านไปก่อนบ้าง แต่ว่าเราก็ใหม่ เหมือนเด็กที่อ่านหนังสือไปล่วงหน้า แต่เราก็ไม่เคยเรียนมันจริงๆ อยู่ดี แล้วก็เจออะไรที่ไม่คาดคิดเยอะ ขนาดเตรียมใจไปแล้วในฐานะเราเป็น ส.ส. ผู้หญิงของพรรคใหม่ อายุน้อย แล้วพูดตรงๆ ก็คือ เราก็ค่อนข้างเป็นเป้าความสนใจอยู่แล้วด้วย จากการคิด การพูด และจุดยืนของพรรค ทำให้พรรคเรา ตัวเรา ได้รับการจับจ้องเยอะ แรงกดดันมันก็เยอะตามไปด้วย"
"แล้วก็เลยคิดแบบนี้ว่า มีคนสนใจ เป็นเป้าสนใจ อาจจะเหนื่อย ต้องระวังตัวมาก ดราม่าเยอะ แต่ก็ดีกว่าไม่มีใครสนใจเลย เพราะว่าเมื่อเราเป็นจุดสนใจหมายความว่า เรามีพลังในการสื่อสารมากขึ้น มันเหนื่อย เป็นอำนาจที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่เยอะมาก จะพูดอะไรก็สามารถเป็นประเด็นได้หมด แต่เรารู้สึกว่า เราพร้อมที่จะรับผิดชอบ และแรงกดดันนั้น ถ้าหมายความว่า เราได้พูดไปแล้ว มีคนฟังมากขึ้น มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น เพราะว่าจุดหมายของเรามันคือการเปลี่ยนแปลง"
คิดอย่างไรที่มีคนบอกว่าเราเป็น โฆษกสายล่อฟ้า ตำบลกระสุนตก?
"ก่อนจะมาทำหน้าที่โฆษก มีผู้ใหญ่หลายๆ ท่านเตือนมา คนที่เคยทำหน้าที่โฆษกพรรคการเมืองใหญ่ พรรคหนึ่ง ก็เคยบอกว่า จะมาทำการเมืองเห็นด้วยนะ แต่ขอได้ไหม...อย่าเป็นโฆษก เพราะว่าผ่านการเป็นโฆษกมาก่อน เตือนด้วยความหวังดีว่า มันเป็นตำแหน่งที่ล่อฟ้ามาก ทำดีเสมอตัว ทำชั่วเข้าตัว คือเป็นตำแหน่งที่โดนด่ามากที่สุดในการทำงานการเมือง ช่อก็บอกว่าเราทำงานด้านสื่อมวลชนมาก่อน ถ้ามีอะไรที่เราจะทำให้พรรคได้ดีที่สุด มันก็น่าจะเป็นการสื่อสารของเราในฐานะเราเคยอยู่ในวิชาชีพนี้มา อย่างน้อยเราเข้าใจการสื่อสารกับประชาชน มันเป็นจุดแข็งของเรา พอตอนนี้เริ่มไม่มั่นใจนะว่าเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนกันแน่" โฆษกพรรคอนาคตใหม่ผู้ผ่านเรื่องดราม่ามากมายกล่าวติดตลก
"ก็มีหลายคนบอกว่า ตกลงคุณสื่อสารผิดพลาดหรือเปล่า มันก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้น การสื่อสารในฐานะสื่อมวลชน กับนักการเมืองแตกต่างกันมาก มีอะไรบางอย่างคล้าย แต่ส่วนที่ต่างมีมากกว่า เพราะฉะนั้น ทำใจไว้แล้ว ได้โดนเตือนมาแล้วว่า จะเป็นสายล่อฟ้า หรือตำบลกระสุนตก เป็นตำแหน่งที่ถูกด่ามากที่สุดในพรรค แต่เราก็เต็มใจ ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้เราได้ใช้จุดแข็งของเรามากกว่าตำแหน่งอื่นๆ เราก็เรียนรู้เร็วกว่าตำแหน่งอื่นๆ"
"ผู้ใหญ่ในการเมืองอีกเนี่ยแหละบอกว่า จริงๆ แล้วตำแหน่งโฆษกเหมาะกับคนที่เข้ามาทำงานการเมืองใหม่ๆ นี่แหละ เพราะจะทำให้เราเจออะไรได้เยอะ เรียนรู้อะไรได้มากกว่า เพราะว่าเราจะเจอเรื่องเยอะ เมื่อเจอเรื่องเยอะมาก หมายความว่า เราจะมีประสบการณ์มากและเร็วกว่าคนอื่นที่เข้ามาทำงานการเมืองในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ผ่านไป 1 ปี กว่าๆ ที่ทำงานการเมืองมาแก่ลงเยอะ (หัวเราะ) แล้วก็ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นเยอะค่ะ"
ผ่านเรื่องดราม่ามาเยอะพอสมควร มีช่วงไหนที่รู้สึกท้อบ้างไหม?
"คือท้ออะมี แต่ถึงจุดที่อยากเลิกทำเลยเลยไหม...ไม่มี แต่จุดที่เรารู้สึกว่าเสียใจมากๆ มีไหม...มี แล้วจริงๆ เกี่ยวข้องกับตอนเราทำงานสื่อด้วย ในสมัยที่เราเป็นสื่อ เราก็โดนวิจารณ์ทั้งบวกและลบเยอะ คือก็ต้องยอมรับคนไม่ชอบก็มี คนชอบก็มี คนที่เป็นแฟนคลับเราเหนียวแน่นมาตั้งแต่เป็นนักข่าว พิธีกรทำรายการ ก็มีจำนวนหนึ่ง แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่การกระทำของเราในฐานะนักการเมืองถูกวิจารณ์มาก แล้วเราพบว่าคนที่วิจารณ์เราหนักๆ แล้วบอกว่า ที่จริงเป็นคนไม่มีอุดมการณ์แบบนี้หรอ เป็นกลุ่มคนที่เคยเป็นแฟนคลับเรามาตั้งแต่สมัยเป็นนักข่าว"
เธอกล่าวต่อว่า นี่เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจและผิดหวัง คนไม่รู้จักเราเข้าใจแบบนี้ เราไม่รู้สึกอะไร เพราะเขาแทบจะไม่รู้จักอะไรเราเลย ไม่ผิดที่จะเข้าใจไปแบบนั้น แต่คนที่ติดตาม ชื่นชอบ ดูผลงานเรามาตั้งแต่สมัยเราเพิ่งเริ่มต้นชีวิตนักข่าว ผ่านไป 5-6 ปี ก็ยังชื่นชอบเราอยู่ แล้วมาเจอเหตุการณ์เดียว เขาไปเข้าใจว่าเราเป็นคนอีกแบบหนึ่ง เป็นคนไม่มีอุดมการณ์ ตอนนั้นยอมรับว่าเสียใจมาก แต่ว่าไม่ได้ทำให้ท้อแท้
"มันก็ต้องโทษที่ตัวเราเอง ถึงเราจะบอกว่าทำไมเขาเข้าใจไปแบบนั้น ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าแล้วทำไมเราถึงทำให้เขาเข้าใจไปได้แบบนั้น สุดท้ายสิ่งที่ทำให้เราควบคุมได้คือตัวเราเอง เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาพิจารณาตัวเองเยอะในตอนนั้นว่า การสื่อสารของเรามันมีปัญหาจริงๆ หรือว่าสิ่งที่เราคิดว่ามันดีแล้ว มันถูกต้องแล้ว บางทีมันอาจจะทำให้คนเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง แต่ได้ผลในทางตรงกันข้าม ก็เป็นบทเรียนของเรา" พรรณิการ์ กล่าว
แล้วกำลังใจในการต่อสู้คืออะไร?
"กำลังใจก็มาจากหลายที่นะ การที่คนรอบๆ ตัวเรา เพื่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง เข้าใจว่า เราไม่มีเวลาให้เขาเลย เพราะว่า มาทุ่มกับงานตรงนี้หมด อันนั้นก็เป็นกำลังใจส่วนหนึ่งที่เขาเข้าใจเรา เพื่อนนี่แทบจะไม่ได้คุยกัน ก็เข้าใจว่างานการเมืองมันยุ่ง แต่สิ่งที่ทำให้เรายืนหยัดได้ถึงทุกวันนี้ นอกจากกำลังใจจากคนรอบข้าง คือใจของเราเอง เรารู้ว่าเราอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร จุดที่เราทำให้เราตัดสินใจเข้ามาทำงานที่เรารู้ว่ามันเสี่ยง แล้วไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดีกว่างานนักข่าวที่เคยทำ มันอาจจะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในแบบที่เราคิดเราเชื่อมากกว่าก็ได้ ถามตัวเองแล้วยังตอบได้เหมือนเดิม ถ้าคุณรู้ว่ากำลังทำอะไรเพื่ออะไร ถึงแม้มันจะมีอุปสรรค โดนวิพากษ์วิจารณ์ มีกระแสด่าทอ โดนอะไรหนักๆ มากมาย ก็เอาคำวิจารณ์นั้นไปปรับปรุงตัว แล้วพัฒนาไปข้างหน้า มันไม่ได้ทำให้คุณล้มเลิก เพราะคุณรู้ว่าคุณก้าวไปข้างหน้า เพื่ออะไร แล้วมีอะไรรออยู่"
เมื่อเข้ามาทำงานในสภาครั้งแรก สิ่งที่ต้องเจอนอกจากเรื่องดราม่าทางการเมือง คือ 'อคติทางเพศ' ที่เกิดขึ้นในสภาฯ พรรณิการ์ เล่าว่า ตอนที่เธอเริ่มต้นทำงานในฐานะสื่อ ซึ่งเป็นกองบรรณาธิการต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้หญิงจึงไม่เป็นอุปสรรคในการเป็นนักข่าว จึงคิดมาตลอดว่า เรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องที่เก่าสำหรับสังคมไทย สังคมคงไปข้างหน้ามากกว่าที่จะมีเรื่องแบบนี้เกิดแล้ว "แต่แล้วก็มารู้ซึ้งแก่ใจตอนที่มาเริ่มทำงานการเมือง"
"ยังไม่ได้เข้าสภาด้วยซ้ำนะ คือเข้ามาทำงานการเมืองในช่วงหาเสียงก็รู้เลยว่า โอ้โห...สังคมไทยยังอีกเยอะ ยังหนักมากจริงๆ ในเรื่องการมองผู้หญิงในฐานะเป็น 'วัตถุทางเพศ' (Object sexuality) เป็นอะไรที่ด้อยกว่า สิ่งที่อาจจะทำได้คือเป็นแค่ "แม่และเมีย" ทำอาชีพผู้หญิงๆ อาชีพนักการเมืองมันไม่ผู้หญิงๆ เลย พอมีผู้หญิงเข้าไปทำ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะ โดนมองด้อยค่าเยอะ โดนพูดจาแทะโลม หรือว่าพูดจาประมาทคาดหน้าเยอะ เป็นเรื่องที่ท้าทาย"
"ในสภานี่สุดยอดเลยตั้งแต่วันแรก คือเราก็มองไม่ออกหรอก เพราะเราไม่เคยเข้าสภามาก่อน แต่เราก็ไม่คิดว่า จะเจออะไรแบบนี้ ตอนเดินไปโหวตที่บัลลังก์ของประธานสภา (รัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ) แล้วเดินลงมา มี ส.ส. ผู้ชายจากพรรคหนึ่ง ทำท่าเป็นการโทรศัพท์ ตะโกนขึ้นมาว่า เฮ้ย...มึงมาที่สภาดิวะคนสวยๆ เพียบเลย ซึ่งเขาคุยจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้นะ แต่เขาตะโกนโดยที่ตั้งใจแน่ๆ ให้เราได้ยิน"
"คือตรงนั้น ผ่านไป 5 เมตร มีประธานสภานั่งอยู่ มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วพอไปคุยกับคนอื่นๆ ก็เจอกันหลายคน พรรคอนาคตใหม่จะมีผู้หญิงอายุน้อยเยอะ รวมถึง ส.ส. LGBTIQ ก็พบว่า หลายคนก็โดนแซวอะไรอย่างนี้เหมือนกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ยังมี 2-3 ครั้งต่อจากนั้น เราก็ตัดสินใจว่าทำไงดี โกรธมาก ไม่ได้โกรธที่เราโดนนะ มันโกรธว่าในสภาผู้แทนราษฎร มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมทุกคนที่ได้ยินเหมือนเราถึงทำหน้าเฉยๆ เหมือนเป็นเรื่องปกติที่ควรจะเกิดขึ้นกับ ส.ส. หญิงได้ ก็เลยทวีตในทวิตเตอร์ ดีใจมากที่มีคนรีทวิตหลายหมื่น แล้วกลายเป็นประเด็นที่ทำให้นักข่าวมาสนใจ หลังจากที่เราทวิีตไปแล้ว ก็มาแถลงข่าวว่าเราไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมที่เหยียดเพศแบบนี้ มองผู้แทนราษฎรโดยใช้ความแตกต่างทางเพศอย่างไม่เท่าเทียมกัน ตอนนั้นไม่คิดว่าสื่อจะสนใจ แต่สื่อให้ความสนใจมาก เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันเราโดนอะไรแบบนี้แล้วเราไม่เงียบ เราเลือกที่จะพูดออกมา แล้วทำให้สังคมสนใจ ตื่นตัวที่จะถกเถียงในประเด็นนี้"
นี่คือเรื่องราวในสภาผู้แทนราษฎรที่ 'ช่อ พรรณิการ์' พบเจอด้วยตัวเองในสภา ทว่าปัจจุบันการเลือกปฏิบัติทางเพศยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของประเทศก็ออกมาพูดว่าผู้หญิงมีความเป็นแม่และภรรยาอยู่ในดีเอ็นเอ รวมถึงประเด็นร้อนของพริตตี้สาวที่เสียชีวิตระหว่างทำงานเอ็นเตอร์เทน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการถกเถียงในหลายแง่มุม บางความคิดเห็นก็พุ่งมาที่ตัวของ "ผู้หญิง" บ้างบอกว่า เป็นเพราะอาชีพที่เธอเลือกทำ บ้างก็บอกว่าเพราะรูปลักษณ์หน้าตา และการวางตัวของผู้หญิงที่ทำให้เกิดอันตราย เราจึงชวนโฆษกหญิงจากพรรคอนาคตใหม่มาพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้
คิดอย่างไรกับวิวาทะที่ว่า ผู้หญิง มีความเป็นแม่ เป็นภรรยาอยู่ในดีเอ็นเอ ?
"เขาอาจจะขาดจิตสำนึกขั้นพื้นฐานของคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย คนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยจะไม่มองคนว่า เขาเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็น LGBTIQ หรือเป็นคนเพศไหน รวมถึงเป็นคนอ้วนหรือคนผอมด้วยซ้ำ เขาจะมองคนว่าเป็นคน นั่นคือเรื่อง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์ ความเป็นภราดรภาพคือ คุณต้องรักในความเป็นเพื่อนมนุษย์ มองเพื่อนมนุษย์ในฐานะเป็นคนเท่ากับคุณ คนเป็นระดับผู้บริหารประเทศ ต้องแน่นในจิตสำนึกพื้นฐานประชาธิปไตย ยกเว้นคุณไม่เชื่อในจิตสำนึกพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าคุณเชื่อ สิ่งแรกที่ต้องเชื่อคือ ความเสมอภาคของบุคคลว่า คือคนไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชาย"
การที่เขาพูดแบบนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยไหม?
"อ่อ...แน่นอน 3-4 เดือนที่อยู่ในสภาฯ ทำให้ช่อตาสว่างขึ้นมาเยอะมากว่า เรามองโลกและประเทศไทยในแง่ดีเกินไป ที่เราเคยคิดว่าสังคมไทยในยุคศตวรรษที่ 21 มันก้าวข้ามเรื่องพวกนี้มาแล้วแหละ มันยังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยอะไรบางอย่าง แต่อย่างน้อยเรื่องสิทธิสตรีนี่เลิกพูดได้ไหมอ่ะ เราน่าจะผ่านมันมาแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลก ซึ่งไม่จริง"
เธอกล่าวต่อว่า 'วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่' เป็นต้นกำเนิดของอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งระบบอุปถัมภ์ เกี้ยเซียะ (การไกล่เกลี่ย เจรจาต่อรอง) และระบบที่ตัดสินคนจากเป็นคนของใคร
"มันผูกติดอยู่กันหมด โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ เพราะเป็นวัฒนธรรมที่เอื้อให้คนมีอำนาจ ยิ่งมีอำนาจมากขึ้น เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าคนที่อยู่ในสถานะผู้มีอำนาจ มีแนวโน้มที่จะมีความคิดความเชื่อแบบนี้ ส่วนคนที่อยู่ในสถานะที่ไม่มีอำนาจ (ไม่เสมอไปนะ) กลับมีแนวโน้มที่จะไม่อยู่ภายใต้แนวคิดแบบนี้ เพราะเขาคือคนที่ไม่มีอำนาจแล้วเขาอยากที่จะต่อสู้ เพื่อให้เขาได้มีสิทธิ มีเสียง มากกว่าคนที่มีอำนาจในสังคม"
"ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย...และเริ่มที่ใกล้ตัวเราที่สุด ก็คือในสภา ในสภายังเป็นที่ที่ชายเป็นใหญ่สุดๆ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นพื้นที่ที่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยได้รับการเคารพเชิดชู"
เธอมองว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ควรเริ่มต้นที่สภาผู้แทนราษฎร ที่จะช่วยกันผลักดันให้บทบาทของผู้แทนราษฎร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ เธอยกตัวอย่างว่า ส.ส. หญิง สามารถไปอยู่กรรมาธิการที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมได้ ตนเป็น ส.ส. หญิงคนเดียว ที่อยู่ในกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่เหลือเป็น ส.ส. ชาย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้หญิงเลย
"สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้นหรอ ทำไมถึงไม่มีผู้หญิงอยู่ในกรรมาธิการนี้ เริ่มต้นจากเรื่องแบบนี้แหละ ทำให้ไม่มีเส้นแบ่งทางเพศในการมีบทบาท ในทุกๆ ด้าน"
คิดอย่างไรเวลาที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดแล้วมีบางคนบอกว่าเพราะผู้หญิงแต่งตัวแบบนี้ หรือทำอาชีพแบบนี้เอง สมควรแล้วที่โดนแบบนี้?
"ทุกครั้งที่เราได้ยินคำว่า ก็แต่งตัวโป๊เองนี่ โดนข่มขืน แล้วมันก็เป็นผู้หญิงหากินอยู่แล้ว โดนข่มขืนมันจะเสียหายอะไร มันเหมือนอะไรรู้ไหม เหมือนกับคนที่บอกว่าก็มาประท้วงไง ถึงเกิดรัฐประหาร คนบอกว่าอะไรวะ ไม่เห็นจะเหมือนกันเลย "เหมือนค่ะ" เหมือนกันตรงไหนรู้ไหม? เธออธิบายว่า หากการแต่งกายของผู้หญิงเป็นสิทธิ เสรีภาพ การประท้วงก็เป็นสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง และรัฐมีหน้าที่คุ้มครองคนที่ประท้วงไม่ให้เสียชีวิตจากการถูกสลายการชุมนุม หรือไม่ให้รับผลกระทบจากการกระทำใดๆ นี่ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหารแน่นอน การรัฐประหารเป็นข้ออ้าง"
กลับมาที่การแต่งกายของผู้หญิง พรรณิการ์ กล่าวว่า การแต่งกายคือสิทธิเหนือร่างกายของผู้หญิง การแต่งตัวโป๊ก็มีหลายระดับ เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของบุคคล บางคนอาจจะบอกว่าใส่แขนกุดโป๊แล้ว บางคนบอกว่าใส่เกาะอกก็ไม่เห็นจะโป๊เลย สมัยก่อนผู้หญิงไทยเขาก็ใส่ผ้าแถบกัน บางคนบอกเปลือยก็ไม่เห็นโป๊อะไรเลย เป็นสิทธิที่เราจะเปลือย ผู้หญิงสมัยหนึ่งแสนปีที่แล้วก็เปลือย
"แต่ที่แน่ๆ เอาเป็นว่าเราอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายไทย อะไรที่ไม่ถึงขั้นอุจาดถึงกับเดินแก้ผ้าไปกลางถนน ก็คือสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนที่จะทำได้ และรัฐมีหน้าที่คุ้มครองคนไม่ให้ถูกละเมิดจากการใช้สิทธินั้น ก็คือ คุ้มครองการจากถูกข่มขืน นี่คือเรื่องเดียวกัน
"ประเทศนี้เวลารัฐบกพร่องในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง คุณโทษพลเมือง ตลกป่ะ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่ประเทศนี้ คนไทยไม่มีจิตสำนึก คือไม่นึกอยากจะมีสิทธิของการเป็นพลเมืองด้วยซ้ำ"
พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าประชาชนไม่เคยถูกส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้ การศึกษาไทยเองก็ไม่เคยส่งเสริมให้คนรักในสิทธิพลเมือง สิทธิ เสรีภาพของตนเอง แต่กลับสอนให้เป็นคนที่เชื่อง และทำตามสิ่งที่คิดว่าจะปลอดภัยเพื่อเอาตัวรอด ถ้าคนอยู่ด้วยความกลัว และต้องทำตามเพื่อให้มีชีวิตรอด ประเทศไทยจะไม่พัฒนา เพราะขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดความกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ขาดความกล้าที่จะแสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองเชื่อ ถ้าคุณไม่กล้าแม้แต่แต่งตัวโป๊ ไม่กล้าแม้แต่ชุมนุมแสดงสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเรื่องอื่นๆ ประเทศชาตินี้จะเจริญไปได้อย่างไร ในเมื่อความคิดของคน เรือนร่างของคนยังถูกกักขังเลย
นี่คือแนวคิดของการที่รัฐต้องคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน พรรณิการ์ ยังกล่าวอีกว่า เวลาเราเห็นคนพูดว่า คนที่อยู่ในอาชีพกลางคืน พอเกิดปัญหาเขาถูกละเมิด ถูกทำร้าย ถูกข่มขืนจนเสียชีวิต หรือไม่เสียชีวิตก็ตาม แต่เขาถูกละเมิด แล้วบอกว่า "ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย ก็สมควรแล้ว" เพราะคุณมันเป็นคนที่อยู่ในโลกกลางคืน ขอโทษนะคะ เขาจะอยู่ในโลกกลางคืนหรือกลางวันเขาก็เป็นคน เป็นพลเมืองไทยและเสียภาษี และรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเขา ไม่ให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต
"เรื่องนี้นำมาสู่ข้อเสนอที่หลายๆ คน อาจจะพูดกันมาเยอะแล้ว แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะยกธุรกิจเหล่านี้ให้ถูกกฎหมาย ที่ผ่านมาผู้ค้าบริการปัญหามากจากการที่นี่คืออาชีพผิดกฎหมาย โดยไม่มีการรองรับทางกฎหมาย ทำให้การคุ้มครองสวัสดิภาพของเขาเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ เขาเป็นอาชีพที่เสี่ยง ในประเทศที่เจริญแล้วทำให้อาชีพเหล่านี้ถูกกฎหมายขึ้นมา ถามว่าทำให้สังคมเสื่อมทรามศีลธรรมขึ้นไหม? นี่คือประเทศโลกที่หนึ่ง ซึ่งมีศาสนาเช่นกัน"
เธอกล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำให้เรื่องนี้ถูกกฎหมายคือ หนึ่ง รัฐเก็บภาษีได้ นำมาทำเรื่องสวัสดิการเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากมาย สอง อาชีพเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครอง มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ควบคุมทั้งเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ได้รับการบริการก็จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการด้วย
"ไม่ต้องมาหลบๆ ซ่อนๆ กัน ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ไม่มีใครเสียประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยกลับเพิกเฉย ละเลย กับการพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่ธุรกิจประเภทนี้ทำเงินให้กับประเทศไทยเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน คนที่อยู่ในอาชีพนี้ มั่นใจว่ามีมากกว่าแสนคน และพวกเขาคือพลเมืองไทยที่ไม่ได้รับการปกป้องดูแลสวัสดิภาพการทำงานของเขา"
"เรื่องนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย มีโรงค้าประเวณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย หญิงค้าประเวณีเป็นอาชีพถูกต้องตามกฎหมาย ยังสามารถทำได้เลย คนอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ไม่มีศีลธรรม? ไม่ใช่...เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง