ไม่พบผลการค้นหา
สินค้า 'จีไอ' หรือสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็น 'ตราสินค้า' เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพิ่มโอกาสส่งออก แต่กว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย และระบบราชการยังเป็นอุปสรรค

สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ (Geographical Indication) คือสินค้าที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ที่หาได้จากสถานที่ผลิตในท้องถิ่นนั้นๆ เท่านั้น และเมื่อผู้ประกอบการรายหนึ่งได้รับตราจีไอ จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มาแล้ว ผู้ประกอบการรายอื่นจะไม่สามารถจดทะเบียนการค้าในชื่อเดียวกันได้ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ที่มีได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ปัจจุบัน มีสินค้าไทยที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานจีไอทั้งหมด 111 รายการ จาก 71 จังหวัดทั่วประเทศ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ ต้องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าของท้องถิ่นให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมทั้งการเปิดตลาดการส่งออกใหม่ๆ ในต่างประเทศ



สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สำหรับปี 2562 มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอใหม่ทั้งหมด 12 รายการ ได้แก่ ทุเรียนสาลิกาพังงา กาแฟวังน้ำเขียว ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ มะม่วงยายกล่ำนนทบุรี ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว จำปาดะสตูล สับปะรดทองระยอง เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย และกาแฟเมืองกระบี่

ส่วนระยะต่อไป กระทรวงพาณิชย์ยังต้องการผลักดันให้มีสินค้าท้องถิ่นเข้ามาเป็นสินค้าจีไอมากขึ้น

ตรา 'จีไอ' การันตีโอกาสการค้า เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือการเพิ่มขึ้นของโอกาสทางการค้าหลังจากได้ตราจีไอมาการันตี 'ลาตีปะ อาเยาะแซ' เจ้าของกิจการส้มโอปูโกยะรัง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สินค้าของเธอสามารถส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น หลังจากได้รับตราจีไอ

นอกจากนี้ ยังไม่ต้องดำเนินกิจการด้วยกลยุทธ์การขายสินค้าราคาถูก เนื่องจากสินค้าของเธอไม่มีคู่แข่ง เพราะส้มโอปูโกยะรัง ที่มีเนื้อสีออกอมชมพูจนถึงแดง และรสชาติที่ไม่หวานหรือเปรี้ยวจนเกินไปไม่สามารถหาได้จากที่อื่น 



สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์


"ถึงเอาเมล็ดพันธุ์ไปปลูก ก็ไม่ได้เนื้อสีชมพูเหมือนที่นี่ เพราะมันคนละดินกัน" ลาตีปะ กล่าว

ขณะที่ 'ธีรฉัตร์ ชีวินเฉลิมโชติ' เจ้าของกิจการชาเชียงรายรุ่นที่ 3 กล่าวว่า ชาเชียงรายของตนนั้นเป็นชาที่ทำเองทุกกระบวนการ ทั้งปลูกเอง เก็บเองและนำมาขาย รวมถึงส่งออกเอง โดยเริ่มแรกตนนำสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศโดยชูความเป็น 'ออร์แกนิค' และการเป็นชาที่ปลอดสารพิษ



สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

แต่เวลาไปออกบูธต่างประเทศผู้บริโภคบางส่วนจะยังไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า แต่เมื่อได้รับตราจีไอแล้ว ความเชื่อมั่นของลูกค้าต่างประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบัน 'ชาเชียงราย' มีสัดส่วนการขายสำหรับการส่งออกไปต่างประเทศถึงร้อยละ 70 และขายในไทยเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

ปากบอกผลักดัน แต่กระบวนการกลับบั่นทอน

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับกระบวนการราชการของไทยในทุกยุคทุกสมัย รวมถึงยุค ประเทศไทย 4.0 ด้วย คือความไม่สะดวกและความล่าช้าของกระบวนการทางเอกสาร แม้ว่าสินค้าจีไอจะเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ผลักดัน และเป็นประโยชน์กลับผู้ประกอบการแต่ขั้นตอนในการได้มาซึ่งตราจีไอนั้นก็เลือดตาแทบจะกระเด็น



สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ลาตีปะ เล่าว่า กว่าส้มโอของเธอจะได้รับการยอมรับโดยกระทรวงและได้ตราจีไอมาครอบครอง เธอต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบทั้งเอกสาร ทั้งจากนักวิชาการที่ใช้เวลาร่วมปีถึงจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งความล่าช้าตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสทางการค้าได้ โดยเฉพาะกับส้มโอซึ่งเป็นผลไม้ที่ออกผลตลอดทั้งปี


"โอ้โห เยอะมาก แบบยอมรับว่าเหนื่อย เหนื่อยจริงๆ นะ เอาแบบง่ายๆ คือเหนื่อย" ลาตีปะ กล่าว


สอดคล้องกับ 'เพียงเพ็ญ คงแสง' เจ้าของกิจการ 'ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง' ที่เพิ่งได้รับตราจีไอเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เธอบอกว่า กว่าจะได้รับตรามาต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และมีการประชุมหลายรอบกับทั้งเจ้าหน้าที่ของจังหวัดพัทลุงและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์



สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ด้าน 'อังกาบ วังหอม' เจ้าของกิจการ 'เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง' จากจังหวัดอุดรธานี เล่าว่า เนื่องจากเธอได้รับตราจีไอมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และทุกปีจะมีการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าจากเจ้าหน้าที่ว่ายังอยู่ในระดับที่ดีไหม และเธอจะพบกับความล่าช้าจากเจ้าหน้าที่เสมอ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ติดงานไม่สามารถมาได้ตามนัดและต้องเลื่อนนัดออกไปบ่อยๆ



สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนคือ สินค้าจีไอ เป็นโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เนื่องจากได้รับการยอมรับจากต่างประเทศในรูปแบบที่สินค้าโอทอปธรรมดาไม่ได้รับการยอมรับ แต่ภาครัฐฯ เองกลับทำให้กระบวนการที่ควรจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเป็นเรื่องยากเกินความจำเป็น 


ถ้ารัฐบาลต้องการผลักดันสินค้าท้องถิ่นของไทยจริง สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำไม่ใช่การจัดงานโปรโมทสินค้าเท่านั้น แต่ต้องทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกและมีความรู้ความเข้าใจในการจดทะเบียนและการรักษามาตรฐานคุณภาพสินค้าด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :