ไม่พบผลการค้นหา
ทุเรียนสาลิกา ของดีพังงา เป็นสินค้าทางการเกษตรตัวแรกของจังหวัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ ขณะนี้เจ้าของสวนทุเรียนเริ่มทยอยตัดส่งลูกค้าแล้ว

นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า หลังจากที่ทุเรียนสาลิกาเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้เกษตรกรชาวพังงาและจังหวัดใกล้เคียงก็ตื่นตัวหันมาปลูกทุเรียนชนิดนี้กันอย่างแพร่หลาย และบางสวนก็มีผลผลิตออกมาบ้างแล้ว ขอยืนยันว่าทุเรียนสาลิกาของแท้นั้นจะต้องเป็นของอำเภอกะปงเท่านั้น 

โดยทุเรียนสาลิกาของแท้นั้น มีลักษณะผลค่อนข้างกลม คล้ายลูกแอปเปิล สามารถตั้งได้โดยไม่ล้ม ความยาวผลประมาณ 30 เซนติเมตรรวมขั้วผล มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร เปลือกผลบาง หนามสั้น และค่อนข้างถี่ ผลดิบเปลือกจะมีสีเขียวเข้ม เมื่อผลแก่สีจะอ่อนลงเล็กน้อย และมีสีน้ำตาลอ่อนบริเวณร่องพู เมล็ดภายในส่วนใหญ่จะลีบ ขนาดเล็กเกือบทั้งหมด รสชาติหวานมัน และมีความหวานมากกว่าทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ แต่ละพูมีความยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร เนื้อทุเรียนมีสีเหลือง เนื้อหนา ละเอียด ไม่มีเส้นใย เนื้อแน่น ไม่เละ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์แต่ไม่ฉุน น้ำหนักต่อผลโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 กิโลกรัม 

ทุเรียนสาลิกา.jpg


  • ทุเรียนสาลิกา

และที่สำคัญทุเรียนสาลิกาพันธุ์ของแท้ดั้งเดิมที่ปลูกในพื้นที่อำเภอกะปง บริเวณตรงกลางแกนเปลือกทุเรียนจะมีสนิมแดงทุกผล หากใครซื้อทุเรียนสาลิกาไปปอกเนื้อกินที่บ้าน ถ้าเจอรอยสนิมแดง มั่นใจได้เลยว่า ได้กินทุเรียนสาลิกาของแท้จากอำเภอกะปงอย่างแน่นอน และเป็นที่น่ายินดีว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ( G.I. ) สินค้าทุเรียนสาลิกาพังงา ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองชื่อดังอันดับ 1 ในภาคใต้ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โดยสภาเกษตรกรจังหวัดพังงาได้ยื่นจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2547 นับเป็นสินค้าทางการเกษตรตัวแรกของจังหวัดพังงา ที่ได้รับเครื่องหมายนี้

ด้านนายอำนวย วัยวัฒน์ เจ้าของสวนทุเรียนสาลิกา "ลุงอำนวย" อ.กะปง กล่าวว่า ผลผลิตทุเรียนสาลิกาในสวนปีนี้ค่อนข้างดีกว่าปีที่ผ่านมา ทางสวนได้เริ่มตัดทุเรียนทยอยส่งให้ลูกค้า ซึ่งมียอดจองมาแล้วกว่า 1,000 ลูก โดยทางสวนมีการควบคุมดูแลคุณภาพตั้งแต่เริ่มออกดอก โดยเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมีภายในสวน ทำให้ลูกค้าติดใจในคุณภาพถึงขนาดจองข้ามปี ในการตัดทุเรียนนั้นจะตัดลูกที่แก่จัดนั้นจะสังเกตที่ขั้วผลอวบๆ ร่องพูสีน้ำตาล เส้นพูชัดเจน ในส่วนคนที่ซื้อทุเรียนแบบตัดไปทานนั้น จะต้องรอให้มีกลิ่นหอม ขั้วผลเริ่มแยกหรือหลุด หรือเคาะผลดู ถ้าหลวมๆ ก็สามารถผ่าทุเรียนกินได้เลย

ทั้งนี้ เว็บไซต์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาอธิบายว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ส่วนสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มักจะเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษหรือมีลักษณะเฉพาะที่เกิดจากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น สภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ตลอดจนทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ประกอบด้วย 

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในสถานที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์ และผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นเท่านั้น ที่มีสิทธิผลิตสินค้าดังกล่าวโดยใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์นั้นได้ ผู้ผลิตคนอื่นที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิต สินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้